เผยแพร่ |
---|
ในบรรดาสิ่งมหัศจรรย์ของโลก (กลุ่มสิ่งก่อสร้างโดยฝีมือมนุษย์) อันกระจายอยู่หลายทวีป มีสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่อลังการมากมาย โบสถ์เซนต์จอร์จ ในเอธิโอเปียอาจไม่ได้จัดอยู่ในสถานที่ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวติดในรายชื่อแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมถึงอันดับต้นๆ แต่อย่างน้อยกระบวนการก่อสร้างในยุคโบราณก็ยังมีความน่าสนใจไม่แพ้สิ่งก่อสร้างอื่น
โบสถ์แห่งเซนต์จอร์จ หรือเป็นที่รู้จักในนาม Bet Giyorgis ในภาษา Amharic (ภาษาท้องถิ่น) ตั้งอยู่ที่เมืองเก่าแก่ “ลาลิเบล่า” (Lalibela) ในประเทศเอธิโอเปีย เรียกได้ว่าเป็นเพชรน้ำงามของเมืองหรืออาจของประเทศเอธิโอเปียด้วยซ้ำ โบสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นจากวัตถุดิบที่เป็นหินลาวาแดงขนาดใหญ่ มีเรื่องเล่าต่อกันมาในท้องถิ่นว่าโบสถ์นี้เป็นหนึ่งใน 11 สิ่งก่อสร้างที่แกะสกัดจากหิน โดยนักวิชาการเชื่อว่า การก่อสร้างตามพระประสงค์ที่พิเศษนี้อาจใช้แรงงานไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นราย ตามตำนานเล่ากันว่า พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากเทพทำให้ก่อสร้างเสร็จ สิ่งก่อสร้างนี้ได้รับบรรจุเป็นแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก (UNESCO) เมื่อ ค.ศ. 1978
ชื่อของลาลิเบล่า ถูกเชื่อมโยงกับประวัติความเป็นมาจากกษัตริย์ Gebre Mesqel Lalibela ผู้นำในศตวรรษที่ 13 (บางตำราว่าศตวรรษที่ 12) ซึ่งเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาบอกเล่าว่า ยุคของพระองค์สร้างโบสถ์ 11 แห่งหลังจากพระองค์รับบัญชาจากพระเจ้าให้สร้าง “เยรูซาเล็มแห่งใหม่” (New Jerusalem)
ก่อนหน้าที่จะมีถนนในค.ศ. 1955 นักเดินทางต้องเดินทางหลายวันเพื่อเข้าถึงลาลิเบล่า แต่การได้สัมผัสสิ่งก่อสร้างที่อยู่ใต้ผิวดินถึงลงไป 30 เมตร และโบสถ์ที่ทั้งอยู่ภายใต้คูลึก หรือตั้งในถ้ำของเหมืองหิน บางแห่งเชื่อมต่อกันด้วยทางเดินคดเคี้ยวและอุโมงค์ก็อาจเป็นสิ่งตอบแทนที่แลกกันได้แบบคุ้มค่า สมกับที่สถานที่นี้ถูกเรียกว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติและชาวเอธิโอเปียส่วนใหญ่ที่นับถือนิกายออร์โธดอกซ์ (Orthodox) อันเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในประเทศ
โบสถ์แห่งนี้มีฐานเสา 3 ชั้น ตัวอาคารมีลักษณะเป็นรูปกากบาทสไตล์กรีก สูง 15 เมตร ตั้งอยู่ในหลุมลึกต่ำกว่าระดับผิวดินประมาณ 30 เมตร มีคูลึกล้อมรอบตัวอาคาร บนตัวอาคารมีหน้าต่างแกะเป็นทรงกากบาท งานออกแบบแสดงให้เห็นถึงลักษณะอันหรูหรา วิธีที่จะเดินทางเข้าไปถึงพื้นสนามที่ล้อมรอบอาคารแห่งนี้ต้องเดินทางผ่านบันไดและอุโมงค์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่า องค์ประกอบของสิ่งก่อสร้างที่เป็นหินนั้น ทำให้อาคารเสี่ยงถูกกัดกร่อนจากฝนที่มักตกอย่างหนักในฤดูฝนของเอธิโอเปีย ด้วยเหตุนี้ จึงมีการสร้างที่กำบังฝนตามแบบอิตาเลียนขึ้นเมื่อปี 2008
นักอนุรักษ์เชื่อว่า ที่กำบังซึ่งช่วยให้อาคารพ้นจากการตกต้องน้ำฝนนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อตัวอาคาร อย่างไรก็ตาม หลังคาที่กำบังนั้นกลายเป็นสัญลักษณ์ของ “ความเพิกเฉย” ที่พวกเขาต้องอดทนรับสภาพ
คนในท้องที่กังวลว่า หากหลังคาพังลงมาเมื่อถูกลมพายุรุนแรงอาจทำให้อาคารโบราณพังทลายลง นอกจากนี้ บางรายยังให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า หลังคาแบบอิตาเลียนนั้นดูอัปลักษณ์สิ้นดี และเหมือนเป็นกรรมเวรอีกครั้งสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างเอธิโอเปียกับอิตาลี
ขณะที่นักบวชและผู้เข้ามาสวดภาวนาในอาคารเป็นประจำร้องเรียนว่า เสาหลักของโครงสร้างหลังคาที่กำบังทำให้ห้องสวดมนต์ใต้ดินเสียหาย (ห้องสวดมนต์ไม่ได้เปิดเป็นสาธารณะ) โดยหลังคาของห้องเริ่มแตกร้าวเนื่องจากแบกรับน้ำหนักเสา แต่ Hailu Zeleke Woldetsadik ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของหน่วยงานด้านวิจัยและอนุรักษ์แหล่งมรดกวัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ยืนยันว่าไม่ต้องกังวลเรื่องความเสี่ยงต่างๆ พร้อมปฏิเสธเรื่องความเสียหายต่อห้องสวดมนต์ โดยระบุว่า โครงสร้างที่กำบังอาคารนั้นถูกออกแบบมาให้ลู่เอนไปตามภาวะลมแรง และใช้งานได้อย่างแข็งแรงตลอดระยะเวลารับประกันนาน 10 ปี
สำหรับผู้ที่สนใจเดินทางเข้าเยี่ยมชมอาคารโบราณแห่งนี้ แนะนำว่า ให้เดินทางไปช่วงเดือนมกราคมระหว่างที่มีเทศกาล “ทิมกัต” (Timkat) การเฉลิมฉลองวันสำคัญของพระเยซู ช่วงเวลานี้จะสามารถสัมผัสบรรยากาศแบบชาวคริสเตียนที่อบอวลไปด้วยความเชื่อความศรัทธา
อ้างอิง:
Osman, Jheni. The World’s Great Wonders. Lonely Planet Publications PTY LTD, 2014
Stein, Chris. Macron Ethiopia visit raises hopes for ancient stone-carved churches. AFP. Published 11 MAR 2019.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มีนาคม 2562