นิธิ เอียวศรีวงศ์ มองการเปล่ง(เนื้อร้อง)แบบคาราบาว ความหมายมัวๆ ไม่สื่ออุดมการณ์?

ยืนยง โอภากุล (ซ้าย) สมาชิกวงคาราบาว ซ้อมร่วมกับสตีเว่น ซีกัล นักแสดงดัง เมื่อสิงหาคม ค.ศ. 2002 ก่อนขึ้นแสดงจริง (ภาพจาก STEPHEN SHAVER / AFP)

“บัวลอย บัวลอย บัวลอย…”

คุณแอ๊ด คาราบาวร้องตะโกนเสียงสูงปรีดกลางสนามหลวง ก่อนจะจบเพลงฮิตเพลงนี้ลงเมื่อหลายปีก่อน ผู้ชมซึ่งชูกําปั้นตามจังหวะอย่างเมามันลดกําปั้นลงพร้อมกับล้วงระเบิดออกขว้างไปยังกลุ่มอื่น

ตูม! เจ็บกันบ้าง แต่ไม่มากนักเพราะเป็นแค่ระเบิดพลาสติก

ระเบิดเหล็กกับระเบิดพลาสติกนั้นต่างกันในความร้ายกาจ แต่ใจของคนที่ขว้างระเบิดสองอย่างนี้อาจไม่ต่างกันเลย เพราะเป็นใจที่เชื่อในการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงเหมือนกัน ใจที่มองความเจ็บปวดของผู้อื่นอย่างสะใจเหมือนกัน และใจที่เห็นตนเองเป็นใหญ่เพียงคนเดียวในโลกนี้เหมือนกัน

คนเหล่านี้หลงใหลบูชาคาราบาวครับ คาราบาว, วงดนตรีที่เต็ม ไปด้วยอุดมการณ์ของสันติ ความเสียสละ และความเป็นธรรมเหมือน บัวลอยซึ่งไม่สมประกอบ แต่บัวลอยไม่เคยเอาแต่ประโยชน์ส่วนตน เขาเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คอยช่วยเหลือรับใช้ผู้อื่นให้ได้รับความสุข แม้ตนเองจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบและลําบาก เขาก็ไม่เคยปริปากบ่น บัวลอยที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ และเราต้องมานั่งชูกําปั้นสรรเสริญเขาอย่างนี้แหละ สรรเสริญเขาหรือสรรเสริญคุณธรรมบางอย่างที่บัวลอยเป็นตัวแทน

คนที่หลงใหลบูชาคาราบาวขนาดที่พร้อมจะคล้องผ้าขาวม้าอันเป็นสัญลักษณ์ของการถ่อมตนและชีวิตที่เรียบง่ายอยู่กลางกรุงจะควักระเบิดออกมาทําร้ายผู้อื่นหลังจากฟังเพลงบัวลอยจบได้อย่างไรกัน? ทําไมเพลงคาราบาวจึงไม่สามารถสื่ออุดมการณ์อะไรได้?

คิดย้อนกลับไปสมัยที่วงคาราวานยังรุ่งเรืองในหมู่คนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าคาราวานนั้นนอกจากอย่างอื่นๆ แล้ว คาราวานยังเป็นสื่อของอุดมการณ์ด้วย คนที่ชอบคาราวานนั้นนอกจากแต่งตัว “เรียบง่าย” และไม่ส่อสถานภาพที่ต่างจากคนส่วนใหญ่แล้ว เขายังรับเอาค่านิยมด้านอื่นๆ ที่สอดแทรกอยู่ในเนื้อเพลงของคาราวานมาเป็นของตัว

ทั้งคาราบาวและคาราวานต่างก็ถูกจัดว่าเป็นวงดนตรี “เพื่อชีวิต” ไม่ว่าวลีนี้จะมีความหมายอะไร วงดนตรีทั้งสองเสนอปัญหาของสังคม แนะทางออก และถ่ายทอดหลักการบางอย่างแก่ผู้ฟังโดยผ่านเนื้อร้อง แต่วงหนึ่งมีคนฟังเนื้อร้อง อีกวงหนึ่งไม่มีใครได้ยินเนื้อร้อง

สถานะของเนื้อร้องในประเพณีเพลงของไทย

ในประเพณีเพลงของวัฒนธรรมไทย เนื้อร้องเคยเป็นส่วนที่สําคัญเท่า หรือสําคัญกว่าทํานอง, จังหวะ, ดนตรี ฯลฯ

“ลาย” แคนที่นิยมต้นไปกับ “ลํา” ในอีสานมีอยู่ไม่กี่ “ลาย” แต่ คนฟังตั้งใจจะฟังลําซึ่งมีความแตกต่างออกไป จากหมอลําคนหนึ่งไปหมอลําอีกคนหนึ่ง เหมือนลิเกนั้นก็มีเพลงให้ร้องอยู่ไม่กี่ทํานอง แต่ลิเกก็ต้องร้องไม่ใช่เอาแต่พูด เพราะคนดูอยากฟังการต้นกลอนของผู้แสดง ในการร้องเพลงของราชสํานัก เมื่อคนร้องเริ่มร้อง ดนตรีทั้งหมดหยุดลง เหลือแต่เครื่องประกอบจังหวะ

ว่ากันว่าการเล่นซอลําลองประกอบการร้องมานิยมกันในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นี้เอง และแม้จะมีการสีซอลําลอง ซอก็เล่นไปทางหนึ่ง ผู้ร้องก็ร้องไปอีกทางหนึ่ง คนไทยรู้สึกว่าหากเล่นและร้องทํานองทางเดียวกันแล้ว ไม่รู้จะเล่นไปทําไม เพราะฉะนั้นทางเล่นจึงไม่ได้มาหนุนทางร้องเหมือนเพลงฝรั่ง

โดยสรุปก็คือตัวทางร้องเป็นอิสระ มีความสําคัญเท่าหรือเหนือกว่าทางเล่นของเครื่องดนตรีที่คลออยู่

เพลงไทยที่นิยมในราชสํานักนั้น แม้ว่าไม่มีเนื้อร้องตายตัว กล่าวคือจะแต่งใหม่หรือหาความตอนอื่นในหนังสือกวีนิพนธ์อื่นมาใส่ก็ได้ แต่จะเลือกเอาอย่างหลับหูหลับตาไม่ได้ ต้องเลือกให้เข้ากับลีลา และท่วงทํานองของเพลง นอกจากนี้ก็นิยมใช้เนื้อที่ใช้กันมาแต่โบราณมากกว่าไปเลือกเอาของใหม่มาใส่

แม้แต่ที่โบราณร้องไว้ผิดจากกวีนิพนธ์ฉบับที่พิมพ์แล้ว นักร้องเพลงไทยก็นิยมร้องเนื้อให้ผิดเหมือนที่โบราณร้องกันมา มากกว่าจะไปแก้เนื้อให้ถูกตามกวีนิพนธ์ฉบับที่พิมพ์แล้ว

ทั้งหมดนี้แสดงว่าเนื้อร้องของเพลงมีความสําคัญมาก เพราะคนฟังเพลงนั้นฟังเนื้อด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าคนไทยฟังดนตรีเฉยๆ โดยไม่มีเนื้อไม่เป็น ทั้งประเพณีของชาวบ้านและราชสํานัก ต่างก็มีธรรมเนียมการแสดงดนตรีเฉยๆ โดยไม่มีคนร้องอยู่ทั้งนั้น เช่น การเล่นมังคละหรือกาหลอก็เป็นการแสดงดนตรีเดินขบวนซึ่งไม่ต้องร้อง หากแต่ว่าเมื่อไรที่เป็นการร้องเพลงแล้ว เนื้อมีความสําคัญมาก มากเท่าหรือมากกว่าส่วนอื่นๆ ของเพลง

คําว่า “เพลง” เองก็มีความหมายคลุมเครือ

ในปัจจุบันเวลาเราพูดถึงเพลงเรามักจะนึกถึงทํานองมากกว่าเนื้อ (ไม่อย่างนั้นจะ “ผิวปากตามเพลง” ได้อย่างไร) แต่ก็ไม่รู้สึกขัดข้องที่จะรวมเอาเนื้อไว้ด้วย เพราะฉะนั้น แม้ในปัจจุบันความหมายของคําว่า “เพลง” ก็ยังคลุมเครืออยู่ แต่ในสมัยสักปลายอยุธยา หรือต้นรัตนโกสินทร์เข้าใจว่าคํานี้ยิ่งคลุมเครือกว่านี้เสียอีก เพราะหมายถึงทํานองก็ได้ เช่น พูดถึง “เพลง” พัดชา แต่ในขณะเดียวกันหมายถึงเนื้อก็ได้ อย่างเวลาพูดถึงการเล่น “เพลง” ของชาวบ้าน ขึ้นชื่อว่าเพลงพื้นบ้านแล้วเนื้อเป็นเรื่องใหญ่ เพราะทํานองแทบไม่เปลี่ยนเลย

คําว่า “เพลงยาว” ที่ใช้หมายถึงบทกลอนชนิดหนึ่งก็เป็นพยานว่า เดิมคําว่า “เพลง” คงมีความหมายถึงเนื้อหรือคําที่กํากับด้วยทํานองล้วนๆ

เพราะคนฟังเพลง ฟังเนื้ออย่างตั้งใจ นักร้องจึงต้องพิถีพิถันกับการร้องเนื้ออย่างยิ่ง มีกลเม็ดของการเปล่งคําในเนื้อร้องของเพลงต่างๆ อยู่หลายอย่าง ซึ่งต้องจดจําจากครูให้แม่นยํา มีการกล่อมเสียงในการเปล่งคําให้ได้ความรู้สึก อย่างลาวดวงเดือนนั้นแหกปากร้องไม่ได้เพราะเป็นเพลงลา ขืนแหกปากร้องหมาบ้านน้องจะกัดเอา และไม่แสดงความอาลัยในการจากเพียงพอที่จะทําให้น้องบอกว่าอย่าไปเลยพี่ คืนนี้นอนนี่ก็แล้วกัน อีกทั้งยังมีกลเม็ดในการเปล่งคําในเพลงลาวให้ฟังเป็นลาว หรือมอญให้ฟังเป็นมอญในบางสถานการณ์ด้วย

ลิเกก็มีกลเม็ดการร้องแบบลิเก และเพลงพื้นบ้านหรือหมอลําก็มีกลเม็ดการเปล่งคําแบบของเขา คนที่ร้องโดยขาดกลเม็ดนั้น ไม่ช้าก็ไม่ได้ร้องที่ไหนอีก

การร้องเนื้อสําคัญมาก ในบางแง่อาจจะสําคัญกว่าการร้องทํานองด้วยซ้ำ ธรรมเนียมในการร้องเพลงไทยนั้น หากเสียงขึ้นสูงหรือลงต่ำไม่ถึง อย่าห่วง เปลี่ยนระดับเสียง (Octave) จากที่ร้องอยู่ไปสู่ระดับเสียงที่ต่ำกว่าหรือสูงกว่าก็ได้ แต่อย่าทําบ่อยนักเพราะน่ารําคาญ ทําสักหนสองหนในหนึ่งเพลงไม่มีใครเขาถือ หากเปรียบกับฝรั่ง นักร้องที่เปลี่ยนระดับเสียงกลางเพลงเป็นไม่ต้องผุดต้องเกิดกันทีเดียว ทั้งนี้ เพราะความสามารถของนักร้องเพลงไทยไปหนักที่การเปล่งเสียง จะเป็นเสียงเอื้อนหรือเป็นคําพูดก็ตาม

ธรรมเนียมการให้ความสําคัญแก่เนื้อร้องนั้น สืบทอดมาในเพลงไทยที่ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งหรือที่เรียกว่าเพลงไทยสากลด้วย เมื่อตอนที่เริ่มแต่งเพลงแบบนี้กันนั้น เพลงป๊อปของฝรั่งเองก็ยังให้ความสําคัญแก่เนื้อร้องมาก แต่ในเพลงไทยสากล ความสําคัญของเนื้อร้องมีมากขึ้นไปอีกเพราะสืบประเพณีเพลงของวัฒนธรรมไทยมาด้วย นักร้องเพลงไทยสากลจึงแสดงอารมณ์และความรู้สึกกันด้วยการเปล่งคําในเนื้อร้อง (แน่นอนว่าแสดงอารมณ์และความรู้สึกโดยทางอื่นอยู่ด้วย)

จุดสุดยอดของศิลปะการร้องแบบไทยๆ เช่นนี้ในเพลงลูกกรุง คงอยู่ในรุ่นคุณสุเทพ วงศ์กําแหง, คุณสวลี ผกาพันธุ์, คุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี และคุณดาวใจ ไพจิตร

เนื้อร้องเพลงคู่ของคุณสุเทพและคุณสวลีบางเพลงนั้น อ่านดูก็ไม่รู้สึกเสียวซ่านอย่างไร แต่พอฟังนักร้องทั้งสองออดอ้อนออเซาะกัน ในการร้องเพลงแล้วได้ความรู้สึกและความหมายที่ทั้งซาบซึ้งและเสียวซ่านจนคุณหญิงคุณนายแก่ๆ ที่ผัวทิ้งทนฟังต่อไปไม่ได้ ต้องใช้อํานาจห้ามออกอากาศก็เคยมีมาแล้ว

ใครที่ไม่เคยรู้สึกว่าภาษาไทยมาตรฐานไพเราะอย่างไรก็ต้องฟังคุณดาวใจ ไพจิตร (ในสมัยก่อน) ร้องเพลง แล้วจะรักภาษาไทยขึ้นอีกนิดหนึ่งเป็นอย่างน้อย เพราะคําที่เธอเปล่งอย่างชัดเจนเต็มไปด้วยความรู้สึกและพลังนั้น ภาษาเพราะๆ เท่านั้นจะทําได้

เพลงลูกทุ่งยิ่งรับประเพณีเพลงของวัฒนธรรมไทยมากกว่าเพลง ลูกกรุงเสียอีก เพราะฉะนั้น การเปล่งคําในเนื้อร้องจึงยิ่งสําคัญกว่าเพลงลูกกรุง นอกจากการเค้นเสียงจากคอ กล่อมเสียง เล่นลูกคอ ฯลฯ อันเป็นกลเม็ดของการร้องเพลงมาแต่เดิมแล้ว นักร้องลูกทุ่งยังสามารถ ทําให้เนื้อร้องมีความหมายได้หลายนัยอย่างซับซ้อน เพราะในประเพณีเพลงของวัฒนธรรมไทยนั้นเนื้อร้องคือหัวใจของการสื่อความ

เนื้อในเพลงพื้นบ้านคือส่วนที่แสดงปฏิภาณของผู้ร้อง ไม่ว่าจะเป็นปฏิภาณในแง่ความสามารถของการต้นกลอน ของการรู้เท่าทันของความรู้อันกว้างขวาง ของเล่ห์เหลี่ยม ของการรักษาศักดิ์ศรีโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง ฯลฯ

คนปักษ์ใต้เรียกทั้งหมดนี้ว่า “ปัญญา” (อันที่จริงอะไรคือ “ปัญญา” อะไรคือ “ความรู้” อะไรคือ “ศักดิ์ศรี” ฯลฯ ในวัฒนธรรมชาวบ้านไทยนั้นเป็นสิ่งที่น่าศึกษากันอย่างจริงจังกว่านี้เป็นอย่างยิ่ง) ปัญญาของพ่อเพลงแม่เพลงแสดงออกได้โดยผ่านภาษา และจะใช้ภาษาให้แสดงปัญญาได้จึงไม่ใช่เพียงเรื่องของความหมายที่ปรากฏในคําเท่านั้น แต่ต้องเล่นกับทั้งความหมายและเล่นกับทั้งการเปล่งเสียงของคําให้ได้ความหมายที่ซับซ้อนขึ้นไปอีก กลเม็ดการร้องของพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านจึงเป็นหัวใจสําคัญของการแสดง และกลเม็ดนั้นไม่ได้มุ่งแต่เอา “ไพเราะ” หรือ “มันส์” เพียงอย่างเดียว

ความจริงแล้ว ชาวบ้านไทยส่วนใหญ่ในอดีตไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมที่ใช้ตัวหนังสือ จึงไม่แปลกอะไรที่ “ปัญญา” ของเขาแสดงออกได้โดยผ่านภาษาที่เป็นเสียง ไม่ใช่ภาษาที่เป็นความหมายเฉยๆ (เช่นใน ภาษาเขียน)

นักร้องลูกทุ่งรับเอากลเม็ดเหล่านี้มาไว้หมด เพลงลูกทุ่งนั้นเอามาบรรเลงด้วยดนตรีเปล่าๆ จะได้รสชาติไม่ถึงครึ่ง เพราะมีความรู้สึกและความหมายอีกมากซ่อนอยู่ในเสียงร้องของนักร้อง เวลาคุณยอดรัก สลักใจร้องนั้น ถึงไม่เคยเห็นหน้าเลย คนฟังก็พอจะนึกบุคลิกของเขาออก คือทะลึ่งอย่างสุภาพดังที่ปรากฏในเนื้อเพลง และใครที่ทําเสียงให้ทะลึ่งอย่างสุภาพเหมือนคุณยอดรักไม่ได้ ก็จะร้องเพลงของคุณยอดรักไปอีกความรู้สึกหนึ่ง ซึ่งอาจทําให้ไม่ “มันส์” เท่ากับที่คุณยอดรักร้องเอง ยิ่งราชินีลูกทุ่งของปัจจุบันด้วยแล้ว เธอเป็นนายที่แท้จริงของการเล่นกับความหมายด้วยการเปล่งคําทีเดียว

เมื่อคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ร้องว่า “เขามาเอง” นั้น คนฟังทุกคนรู้ว่าเขาไม่ได้มาเอง แม้ว่า หนูอาจไม่ถึงกับเอ่ยปากชวนก็ตาม หรือ “หนูไม่รู้” นั้นฟังแล้วก็รู้ว่าหนูต้องรู้

ความสามารถอย่างนี้เป็นสิ่งที่รับกันได้ในหมู่คนที่ยังเคยชินอยู่กับประเพณีเพลงของวัฒนธรรมไทย และบางทีอาจจับไม่ได้ในหมู่คนที่อยู่ห่างจากประเพณีเหล่านั้น เช่น คณะกรรมการที่มีหน้าที่เผด็จการ รสนิยมผู้อื่นคณะต่างๆ ในกรุงเทพฯ อาจไม่รู้สึกขํากับการเล่นคํา “ถอยห่างอีกนิด” เพราะการเปล่งคําของคุณพุ่มพวงด้วยกลเม็ดโบราณนั้น ไม่สื่อความหมายให้แก่ชายหญิงสูงอายุเหล่านั้นว่า อะไรบางอย่างกําลังถูกถ่างออกหน่อยๆ จึงเป็นโชคดีที่พวกเราได้ฟัง “ปัญญา” หรือ “ปฏิภาณ” แบบกวีชาวบ้าน ไท ในวิทยุ ไทย ต่อไป

ไม่มีเนื้อ แต่มีเนื้อ

เพื่อนอเมริกันคนหนึ่ง เมื่อถูกถามว่าเขาฟังสิ่งที่เอลวิส เพรสลีย์ ร้องออกหรือไม่ เขาตอบว่าฟังไม่ออกเหมือนกัน แม้แต่ตั้งใจจะจับให้ได้ว่าร้องอะไร ก็ยังจับได้เพียงครึ่งเดียว

แต่เขาก็ถามว่า แล้วจะฟังไปทําไม?
“อ้าว ถ้าฟังไม่ออกแล้วจะร้องทําไม?” ผมถาม

คําตอบของเขานั้นน่าจับใจ แต่เพราะอยู่ในการสนทนากันยืดยาว จึงจะสรุปเป็นภาษาของผมเอง ได้ความดังนี้

เพราะมันเป็นเพลงร้องก็ต้องร้อง เหมือนเพลงที่เขากําหนดให้เล่นท่อนนี้ด้วยแตร ก็ต้องมีเสียงแตร เขากําหนดให้เป็นเสียงคนก็ต้องเป็นเสียงคนเสียงคนจึงเป็นส่วนหนึ่งของเสียงที่ประกอบกันขึ้นจากเครื่องดนตรีและคน กลายเป็นเสียงรวมๆ กันแล้วเราก็เรียกว่า เสียง “ดนตรี”

ฝรั่งเรียกเพลงที่มีคนร้องว่า Vocal music แปลว่าดนตรีที่เป็นเสียงคนร้อง

ผมไม่รู้ว่าฝรั่งอเมริกันฟังเสียงคนเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากดนตรี หรือเหมือนเครื่องดนตรีอีกชิ้นหนึ่งตั้งแต่เมื่อไร แต่เข้าใจว่าคนที่ชื่นชมกับการฟังโอเปร่าโดยไม่รู้ภาษาเยอรมันหรืออิตาเลียนคงมีมานานแล้ว แต่ในบรรดาเพลงชาวบ้านนั้นเพิ่งจะเอลวิสนี่กระมังที่เป็นคนแรกซึ่งร้องเพลงแล้วไม่รู้ว่าร้องอะไร จนทําให้ผมจับได้ว่าฝรั่งคงฟังเพลงไม่เหมือนผม ซึ่งเคยชินกับป๊อปไทยและเห็นเนื้อร้องมีความสําคัญมาก เวลาฟังก็ค่อนข้างจะแยกๆ มันออกมาจากส่วนอื่นเสียด้วย

อย่างไรก็ตาม เนื้อร้องคงมีความสําคัญน้อยลงในเพลงฝรั่ง โดยเฉพาะเพลงประเภทร็อกและลูกหลานของร็อก ทั้งนี้คงมีผลมาถึงการแต่งเพลง การเรียบเรียงเสียงประสาน และเทคนิคการร้องการเล่นด้วย และอาจไม่ได้จํากัดตัวอยู่เฉพาะเพลงร็อกและลูกหลานเท่านั้น คงขยายไปถึงเพลงประเภทอื่นๆ อีกหลายอย่าง แม้ว่าเพลงโฟล์กของจอห์น เดนเวอร์ และโจอัน เบส ไม่คล้อยตาม แต่ก็ยังเป็นที่นิยมต่อมาก็ตาม

คนฟังเพลงก็เคยชินมากขึ้นที่จะไม่ฟังเนื้อให้ชัด เพราะไม่ได้แยกเนื้อออกมาฟัง

เพลงไทยสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะในทศวรรษที่ผ่านมารับอิทธิพลเพลงฝรั่งมากขึ้น จนอาจถือได้ว่าเป็นระลอกที่สองของอิทธิพลฝรั่งในเพลงไทยกระมัง เพลงเหล่านี้สร้างผู้ฟังขึ้นใหม่โดยไม่ได้รับสืบทอด มาจากผู้ฟังเพลงของสุนทราภรณ์ สุเทพ สวลี ฯลฯ เพราะฉะนั้นผู้ฟังเหล่านี้จึงเข้าถึงเทคนิคการฟังเพลงอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากการฟังเพลงของคนไทยรุ่นก่อน

ผมเคยถามวัยรุ่นบางคนว่า เวลาเขาฟังเพลงใหม่นั้นเขาฟังเนื้อหรือไม่ เขาตอบว่าฟังด้วย แต่ไม่สนใจเท่าไรนัก จะฟังจังหวะทํานอง การเล่นดนตรี ฯลฯ ก่อน หากเห็นว่าถูกใจก็จะฟังใหม่และเก็บรายละเอียดของเพลงมากขึ้น ในบรรดาที่เรียกว่ารายละเอียดของเพลงนี้รวมถึงเนื้อร้องด้วย

คําตอบของเขานอกจากบอกให้รู้ถึงเทคนิคการฟังเพลงที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังเป็นคําตอบที่เหมาะกับยุคสมัยที่เพลงสามารถอัดกระป๋อง เก็บไว้เปิดฟังใหม่ได้ในราคาถูกอีกด้วย ทําให้เห็นว่าการฟังเพลงโดย เห็นเนื้อร้องมีความสําคัญเป็นรองลงมานี้จะเกิดขึ้นด้วยอิทธิพลของฝรั่งอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าไม่มีญี่ปุ่นซึ่งเปิดศักราชของเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ราคาถูกขึ้นในโลก และทําให้มนุษย์จํานวนมากในโลกครอบครองศิลปะไว้ที่ปลายนิ้วของตัวเอง สภาวะเช่นนี้เปิดทางให้แก่หนทางที่จะเสพศิลปกรรมในอีกวิถีทางหนึ่ง ซึ่งบรรพบุรุษของเราไม่เคยมีโอกาสทําได้ และดูจะไม่มีเหตุผลที่จะบังคับให้คนในโลกยุคนี้เสพศิลปกรรมในลักษณาการอย่างเดียวกับที่บรรพบุรุษซึ่งไม่ได้ครอบครองศิลปกรรมที่ปลายนิ้วของตัวได้เคยทํามา

ความสําคัญที่ลดลงของเนื้อร้องในเพลงไทยเห็นได้ดีจากแฟชั่น สัก 5 ปีก่อน เมื่อเพลงจํานวนมากที่แต่งและได้รับความนิยมในช่วงนั้นมีเนื้อร้องที่ไม่มีสัมผัส เนื้อร้องไร้สัมผัสเป็นสิ่งที่คนรุ่นพรานบูรพ์ มาจนถึงสุเทพ, สวลี นึกไปไม่ถึง

ในปัจจุบันเพลงสมัยใหม่กลับมาหาสัมผัสอีก เพราะอะไรผมก็อธิบายไม่ได้ แต่ทั้งนี้คงไม่ใช่การหันกลับไปให้ความสําคัญแก่เนื้อร้องอย่างเพลงรุ่นเก่า เพราะหากไม่ตั้งใจฟังให้ดีแล้วก็จับไม่ค่อยได้เหมือนกันว่า นักร้องสมัยนี้จํานวนมากร้องว่าอะไร…?

รู้ๆ จากการเกริ่นนําของนักร้องเองว่า “ส้มหล่น” แปลว่า ฟลุก ดูเหมือนจะต้องฟลุกเกี่ยวกับผู้หญิงเสียด้วย ทําไมผู้หญิงจึงต้องเป็นส้ม หรือเขาจะหมายถึงกลีบส้ม แต่ในเวลาร้องคําว่า “ส้มหล่น” ก็ไม่เห็นมีเสียงอะไรที่จะทําให้นึกไปได้ว่าต้องการแฝงความหมายถึงกลีบส้ม และกลีบส้มแฝงความหมายถึงอะไรอื่นอีก ถ้าจะให้หมายได้หลายซับหลายซ้อนอย่างนี้ ต้องรอคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ซึ่งก็ยังร้องเพลงที่เนื้อร้องมีความสําคัญอยู่นั่นเอง

เพลงของคาราบาวและคาราวานคงต่างกันตรงนี้

คาราวานยังร้องเพลงบนพื้นฐานของกลเม็ดแบบเก่า แม้ไม่ได้กล่อมเสียงให้ฟังนุ่มนวลไปทุกกรณี แต่เนื้อเพลงมีความสําคัญ ในเพลงของคาราวาน ความจับใจและซาบซึ้งของผู้ฟังขึ้นอยู่กับเนื้อเพลงอยู่ไม่น้อย อย่างเพลงเดือนเพ็ญ แค่อ่านเนื้อโดยไม่ได้ยินทํานอง ก็ขนลุกเสียแล้ว เนื้อเพลงของคาราวานจึงยังเป็นสื่อของอุดมการณ์ได้ จํานวนไม่น้อยของคนที่ไปฟังคาราวานจึงไปด้วยความเชื่อในหลักการบางอย่างที่แทรกอยู่เต็มเปี่ยมในเพลงของคาราวาน

แต่คาราบาวไม่ใช่อย่างนั้น แม้ว่าแรงบันดาลใจของเพลงจํานวนมากของคาราบาวมาจากเพลงพื้นบ้าน แต่ลีลาของการบรรเลงและการร้องไม่ได้ให้ความสําคัญแก่เนื้อร้องตามประเพณีเพลงของวัฒนธรรมไทย มีความหมายมัวๆ ที่ส่งออกไปจากชื่อเพลงและสร้อยเพลงเท่านั้น ก็เพียงพอที่คนฟังจะรู้สึกสะใจแล้ว เช่น ประชาธิปไตยไทยนั้นก็รู้ๆ กันอยู่ทุกคนว่ามี “รูเบ้อเริ่มเลย” แต่รูนั้นมาจากอะไร ให้ผลอย่างไรต่อใคร และจะแก้กันอย่างไรไม่สําคัญนัก คนฟังไม่อาจ “รู้สึก” ถึงรูนั้นได้จากการฟังเพลง คนฟังได้แต่สะใจและสะใจกับรูอันนั้นกับตัวเอง กับบ้านเมืองหรือกับ…ไม่รู้ว่ากับอะไร เอาเป็นแน่แต่ว่าสะใจก็แล้วกัน

แต่เนื้อร้องก็มีความสําคัญในเพลงของคาราบาว เนื้อร้องทําให้คาราบาวมีเอกลักษณ์ของตัวเองและเป็นเอกลักษณ์ที่คนรับได้ แต่ก็ไม่เคยมีใครวิเคราะห์กันจริงๆ ว่าเอกลักษณ์ที่ตัวเองรับได้นั้นคืออะไร เพลงของคาราบาวไม่ชวนให้ไปวิเคราะห์อย่างนั้นอยู่แล้ว คาราบาวสื่อความรู้สึก ไม่ใช่สื่อความหมาย

เนื้อร้องยังให้เอกลักษณ์แก่คาราบาวด้วยเสียงในระดับที่สูงมาก ของคุณแอ๊ด เสียงนี้เป็นส่วนหนึ่งของดนตรีที่คึกคัก ชัดเจนด้วยจังหวะ และฝีมือการเล่นดนตรี เนื้อเป็นส่วนหนึ่งของเพลงอย่างแยกออกไม่ได้ มีเนื้อแบบไม่มีใครเห็นแต่ไม่ใส่ลงไปไม่ได้ เหมือนกินเกาเหลาเนื้อสด จะมีเนื้อหรือไม่ก็ไม่ทันได้สังเกต แต่ขอให้เป็นเนื้อสดก็แล้วกัน

ภาษาที่เป็นคําในโลกยุคใหม่

ครั้งหนึ่งภาษาที่เป็นคําครอบงําการสื่อสารและวิธีคิดของมนุษย์เสียเกือบหมด

อาจเป็นไปได้ว่าโลกยุคนั้นกําลังหมดลงไป หรืออย่างน้อยก็ต้องหดตัวให้แก่การสื่อสารและวิธีคิดที่ไม่อาศัยภาษาที่เป็นคํามากขึ้น สนในแง่หนึ่งเรากําลังคิดอะไรที่ซับซ้อน และเป็นนามธรรมเสียจนอธิบายด้วยภาษาที่เป็นคําไม่ได้แล้ว ดังเช่นจะอธิบายควอนตัมด้วยภาษาที่เป็นคําล้วนๆ ได้อย่างไร โดยไม่เอาคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความคิดโดยตรงออกมาใช้

ในอีกแง่หนึ่ง ชีวิตประจําวันของเราเผชิญกับความหมายที่ไม่เป็นคํามากขึ้น เราใช้ตาไปเห็นอะไรที่เดิมไม่เคยเห็นมากขึ้น หน้ายิ้มๆ ของคุณสมเกียรติ อ่อนวิมล นั้นมีความหมายซ้อนอยู่ในข่าวที่คุณสมเกียรติอ่าน และเป็นความหมายที่ไม่ได้ผ่านคําพูดเสียด้วย หน้าของคนที่เราพูดโทรศัพท์ด้วย กําลังจะปรากฎให้เราเห็นในอนาคตอันใกล้นี้ และเราจะสนทนากันมากกว่าที่ปรากฎออกมาในคําพูด กล้องถ่ายรูปทําให้เกิดภาพที่มีความหมายมากมาย โดยไม่ต้องผ่านคําพูดเลย

หนังสือพิมพ์นําเอาความหมายที่ไม่ได้พูดผ่านภาพให้เราไม่รู้จะเท่าไรต่อวัน การ์ตูนไม่ได้มีความหมายเฉพาะแต่ตัวหนังสือล้อมกรอบที่เขียนแทนคําพูดเท่านั้น ยังมีความหมายอื่นในภาพการ์ตูนซึ่งอยู่นอกกรอบนั้นอีกมาก และการ์ตูนกําลังกลายเป็นวรรณกรรมประจําชีวิตของคนรุ่นใหม่ในหลายสังคม

เพลงก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงอันมโหฬารนี้

การที่เนื้อร้องมีความสําคัญน้อยลงในเพลงบางประเภท ไม่ได้แปลว่าเพลงเหล่านั้นสื่อความได้น้อยลง แต่สื่อความได้ในขีดจํากัดอันใหม่ (การสื่อความแบบใดๆ ก็มีขีดจํากัดทั้งนั้น รวมทั้งการสื่อความ ที่ใช้ภาษาที่เป็นคําด้วย) มีพลังยิ่งกว่าเพลงที่ให้ความสําคัญแก่เนื้อร้องในบางแง่ แต่ก็มีพลังด้อยกว่าเพลงที่ให้ความสําคัญแก่เนื้อร้องในอีกบางแง่

ถ้าเพลงเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงดังที่กล่าวนี้ ปัญหาที่ตามมาก็คือ เมื่อนักวิจารณ์นําเอาเนื้อเพลงมาเป็นเงื่อนไขสําคัญสําหรับตีความ เพลงเหล่านี้ นักวิจารณ์กําลังทําอะไรผิดฝาผิดตัวอยู่หรือไม่

เมื่อ กบว. ห้ามออกอากาศเพลงบางเพลง เพราะเนื้อร้องนั้น กบว.กําลังจับความหมายของเพลงผิดจุดหรือไม่

เมื่อมีคนจํานวนมากขึ้นในวัยรุ่นเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมที่ภาษาที่เป็นคํากําลังหดตัวลง เขาจะอยู่อย่างไรในโลกที่คนมีอํานาจ (นับตั้งแต่ พ่อแม่ ครู นายจ้าง ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี) ยังอยู่ในวัฒนธรรมที่ภาษาที่เป็นคํายังครอบงําอยู่

นี่ใช่เหตุผลหรือไม่ ที่เขาเหล่านั้นถูกมองว่าใช้ภาษาไทยผิดๆ เขียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ไร้รสนิยม และชอบฟังการสํารากที่เรียกว่าเพลง

นี่ไม่ใช่ปัญหาของช่องว่างระหว่างวัย แต่เป็นช่องว่างระหว่างวัฒนธรรม การเชื่อมช่องว่างนั้นจะทําได้ไม่ใช่ด้วยการใช้อํานาจหรือการเหยียดหยาม แต่ทําได้ด้วยความพยายามจะเข้าใจวัฒนธรรมที่ต่างกัน

บทความนี้เป็นความพยายามในทิศทางนั้น แม้ว่าอาจจะ ผิดพลาดตื้นเขิน หรือล้มเหลว แต่ความพยายามในทิศทางนั้น เป็นภาระของเราทุกคนร่วมกัน


หมายเหตุ : เนื้อหามาจากหนังสือ “โขน, คาราบาว, น้ำเน่าและหนังไทย” รวมเล่มบทความของอ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ พิมพ์ครั้งที่ 2 โดยสำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2557

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤษภาคม 2562