เผยแพร่ |
---|
เมื่อกำเนิดถนนสายสำคัญอย่างสุขุมวิท, บางนา-ตราด, พหลโยธิน ฯลฯ ถนนสายรอง สายย่อยก็ตาม วิถีชีวิตที่เคยอยู่ริมน้ำ ก็เปลี่ยนมาอยู่ริมถนน จากที่เคยใช้เรือก็เปลี่ยนมาใช้รถ เราจึงต้องหัดปั่นจักรยาน, ขี่มอเตอร์ไซต์ และขับรถยนต์ เพื่อความสะดวกในการเดินทาง
สำหรับคนอยู่ริมน้ำก็ต้องฝึกสารพัดทักษะเกี่ยวกับเรือ ตั้งแต่พายเรือที่ถือว่าเป็นฐานขั้น แต่ถ้าจะยึดอาชีพค้าขายทางเรือต่อไป ก็จะต้องหัดผูกเชือกโยงเรือ หัดปักหลักสําหรับผูกเรือ ซึ่งแต่ละอย่างต้องเรียนให้รู้วิธีทั้งนั้น
การหัดพายเรือก็เหมือนหัดปั่นจักรยาน เพราะต่างก็เป็นพาหนะที่มีเครื่องยนต์ และต้องอาศัยการทรงตัว (ของเรือ,จักรยาน และคน) ยิ่งถ้าได้หัดพายเรือบด (เรือขนาดเล็กสำหรับนั่งคนเดียว) ก็ยิ่งเห็นว่าการประคองตัวเหมือนการหัดถีบรถจักรยานสองล้อมากขึ้น ถ้าประคองตัวไม่เป็น ทําเอวคดไปคดมา เรือก็ล่ม จักรยานก็ล้ม
และสิ่งสำคัญในการพายเรือก็อยู่ท่ากรใช้ “ไม้พาย”
พายหรือไม้พายนอกจากจะใช้พุ้ยน้ำให้เรือแล่นไปแล้ว ยังช่วยพยุงไม่ให้เรือล่มได้อีกด้วย คนที่หัดพายใหม่ๆ มักจะจุ่มพายลงไปในน้ำมากเกินไป ทําให้เรือหันไปหันมาไม่ตรงทาง ถ้าเห็นว่าเรือโคลงก็ใช้ใบพายแตะน้ำไว้ ก็จะช่วยพยุงไม่ให้เรือโคลงได้
ศัพท์เทคนิคของชาวเรือที่ใช้เกี่ยวกับการใช้พายมีอยู่ 2 คํา คือ “คัด” กับ “วาด”
คัด (บ้างเรียกว่า งัด) เป็นการกดด้ามพายลง เอาพายงัดกับข้างเรือ คนที่พายทางท้ายเรือคือคนถือท้าย เมื่อต้องการให้หัวเรือไปทางซ้าย ก็จะเอาพายงัดกับข้างเรือ ใบพายก็จะดันน้ำทําให้หัวเรือเบนไปทางซ้าย แต่ถ้าจะให้หัวเรือเบนไปทางขวา ก็จะใช้ใบพายปาดน้ำ เรียกว่าวาด หัวเรือก็จะเบนไปทางขวามือ
ส่วนการพายเรือ 2 คน คือนั่งพายทางหัวเรือคนหนึ่ง และทางท้ายเรือคนหนึ่ง คนที่พายทางท้ายเรือจะมีหน้าที่คัดหรือวาดเพื่อให้เรือตรงทาง คนพายหัวมีหน้าที่พายอย่างเดียว จะช่วยคัดหรือวาดบ้างก็ต่อเมื่อคนพายท้ายคัดหรือวาดไม่ไหว เช่นในกรณีที่กระแสน้ำไหลเชี่ยว
คนที่พายเรือชํานาญแล้ว เขาไม่ต้องคอยคัดวาดกันมาก แต่เขาจะคัดวาดไปในตัว หมายความว่าขณะที่ลุ่มพายลงในน้ำเขาจะบิดใบพายเล็กน้อยเมื่อต้องการวาด และกระดิกปลายใบพายเมื่อต้องการคัด เป็นการทําไปโดยเคยชิน และตามจังหวะ คล้ายกับการเข้าเกียร์รถยนต์
ส่วนคนที่พายเรือไม่เป็นมักจะพายไปคัดไป ไม่ค่อยรู้จักวาด ผลก็คือเรือก็วนเป็นวงอยู่กลางน้ำ เหมือนกับสำนวนที่ว่า “พายเรือในอ่าง” ครูเพลงท่านใดไม่ทราบยังเอาเทคนิคพายเรือมาแต่งเป็นเพลงชื่อ “พายงัด” ให้ ศรชัย เมฆวิเชียรร้องว่า “เสียงคลื่นมันซาดมันซัด พายงัดเดี๋ยวเรือก็ล่ม ฝนพรำล่ะฟ้าร่ำระงม ฝนพรำล่ะฟ้าร่ำระงม เดี๋ยวเรือก็ล่มพายงัด พายงัด…”
ข้อมูลจาก
ส.พลายน้อย. เกิดในเรือ, สำนักพิมพ์มติชน 2552
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 14 มีนาคม 2562