เผยแพร่ |
---|
ทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน นักเสี่ยงโชคต่างพากันรอลุ้นรางวัลใหญ่จาก “หวย” หรือที่เรียกกันทางการว่า “สลากกินแบ่งรัฐบาล” ที่รู้จักกันในปัจจุบัน เป็นการเสี่ยงโชคชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมเล่นกันมาโดยตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่รู้หรือไม่ว่า ในอดีต “หวย” เคยออกถึงวันละ 2 ครั้ง
การพนันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว มีลักษณะเป็นกิจการผูกขาด เมื่อประชากรชาวจีนเพิ่มมากขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวจีนที่ตั้งหลักแหล่งเริ่มนำการละเล่นต่างๆ มาเปิดเล่นกันในบ่อนพนัน ลูกค้าส่วนใหญ่ในบ่อนก็เป็นคนจีน ขณะที่ช่วงเวลานั้นพลเมืองสามารถเล่นพนันได้อย่างเสรีในช่วงตรุษจีนและตรุษสงกรานต์ประมาณ 3 วัน แต่เวลาอื่น เล่นได้เฉพาะบ่อนที่ขึ้นทะเบียนกับ “ผู้ผูกขาด” เท่านั้น ในช่วงนั้นภาษีที่เก็บได้จากการพนันก็เริ่มเพิ่มขึ้นในช่วง พ.ศ. 2446-47
สำหรับการเล่น “หวย” หรือ “ฮวา-หุ้ย” (สำเนียงแต้จิ๋วออกเสียงว่า ฮวย-หวย หมายถึง บ่อนการพนัน) เป็นการพนันของจีนที่เริ่มนำมาเล่นกันในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกโดยจีนหง หรือ เจ๊สัวหง เมื่อปี พ.ศ. 2378 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นสิ่งที่ถือว่าเป็นการผูกขาดประเภทหนึ่ง ที่เรียกกันว่า “การผูกขาดหวย”
ช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ข้าวยากหมากแพง จี. วิลเลียม สกินเนอร์ ผู้เขียนหนังสือ “สังคมจีนในไทย” อธิบายว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิตกว่าราษฎรจะเก็บสะสมเหรียญไว้ ชาวจีนผู้ผูกขาดสุรา (เจ๊สัวหง ซึ่งภายหลังได้เป็นนายอากรสุรามีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีไชยบาน) จึงถวายคำแนะนำว่า การเล่นหวยเป็นวิธีช่วยให้เงินหมุนเวียนได้ หากต้องการเรียกหมุนเงินขึ้นมาก็ต้องออกหวยเหมือนอย่างในเมืองจีน
วิลเลียม สกินเนอร์ อธิบายว่า การเล่นหวยของจีนจึงเปลี่ยนไปบ้างเพื่อให้มีอักษรต่างๆ 34 ตัว แต่ละตัวแสดงภาพแตกต่างกันซึ่งเป็นตัวจีนและอักษรไทย ผู้เล่นจะแทงเท่าใดก็ได้ ผู้ชนะจะได้รับเงิน 30 เท่าของจำนวนที่แทง
สำหรับอาณาเขตกรุงเทพฯและบริเวณใกล้เคียงที่แบ่งออกเป็น 38 เขต แต่ละเขตจะมีผู้จัดการ 1 คนมีตัวแทนวิ่งเต้น และคนขายกระจายกันอยู่ตามถนน และสถานที่ต่างๆ ในเขตของตน ไม่เพียงแต่ต้องจ้างคนจำนวนมากแล้ว ผู้ผูกขาดยังต้องจ้างคนออกหวยอีกประมาณ 200 คน เนื่องจากในสมัยนั้นมีการออกหวยวันละ 2 ครั้ง ในช่วงสายและเย็น ซึ่งกล่าวกันว่าเวลาที่ออกหวย ธุรกิจต่างๆ หยุดชะงักหมด จนกว่าจะมีประกาศตัวหวยที่ออกดังลั่นไปตามถนน
ในช่วงสองทศวรรษสุดท้ายที่มีการเล่นหวย การแทงหวยประจำวันเฉลี่ยแล้วตกประมาณ 40,000 บาท ซึ่งการออกหวยนี้ทำกำไรให้แก่ผู้ผูกขาดและรัฐบาลอย่างมหาศาล
รายได้จำนวนมากที่ได้จากกิจการหวย ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ต่างทรงตระหนักถึงผลเชิงลบของการพนันแบบการค้าเช่นนี้โดยเฉพาะในต่างจังหวัด แต่การผูกขาดการพนันก็ยังไม่อาจเลิกไปได้จนกว่าจะหาแหล่งรายได้อื่นมาทดแทน กระทั่งปี พ.ศ. 2443 บ่อนการพนันเริ่มลดลง และล้มเลิกการผูกขาดการพนันในต่างจังหวัดในปี พ.ศ. 2449 ซึ่งส่งผลต่อมาทำให้การผูกขาดหวยและการพนันในกรุงเทพฯ ล้มเลิกไปเมื่อ พ.ศ. 2459
อย่างไรก็ตาม การล้มเลิกผูกขาดหวยไม่ได้ทำให้คนไทยห่างหายไปจากการเสี่ยงโชค ใน พ.ศ. 2417 มีชาวต่างประเทศกับขุนนางไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรมทหารมหาดเล็กออกลอตเตอรี่ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นการออกลอตเตอรี่ตามแบบยุโรป มีข้อมูลว่าเป็นไปโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือพ่อค้าต่างชาติที่นำสินค้ามาร่วมแสดงในการจัดพิพิธภัณฑ์ที่ตึกคองคอเดีย ในพระบรมมหาราชวัง
ครั้งนั้นผู้ถูกรางวัลจะได้รับเป็นสิ่งของที่มีมูลค่าเท่ากับเงินรางวัลแทน ถ้ารับเป็นเงินสดจะถูกลด 10 เปอร์เซ็นต์ ผู้อำนวยการออกลอตเตอรี่ครั้งแรกคือ นายเฮนรี่ อาลาบาศเตอร์ ครูชาวอังกฤษ ผู้เป็นต้นตระกูล “เศวตศิลา”
ทั้งนี้ หวยเบอร์หรือลอตเตอรี่สมัยก่อนจะออกเป็นครั้งคราวตามความจำเป็นที่ต้องการเงินไปใช้ในราชการเป็นกรณีพิเศษเท่านั้น ต่อมาเห็นว่ารายได้จากลอตเตอรี่ช่วยในด้านงบประมาณแผ่นดินได้ก็เลยออกเป็นประจำเรียกว่า “สลากกินแบ่งรัฐบาล”
อ้างอิง :
จี. วิลเลียม สกินเนอร์. แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ. สังคมจีนในประเทศไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2548.
นันทลักษณ์ คีรีมา. 50 สิ่งแรกในเมืองไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556
“‘วันนี้รวย’ คำติดปากวันหวยออก ว่าแต่ “หวย” มาจากไหน ทำไมต้องมีหวย”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. <https://www.silpa-mag.com/history/article_21235>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2562