เบื้องลึก “ลัทธิโยคี” ทำความเข้าใจเรื่องเป้าหมายปฏิบัติ “โยคะ”

ชาวอินเดียผู้ร่วมกิจกรรมโยคะในกรุงนิวเดลี วันที่ 21 มิถุนายน 2016 (AFP PHOTO / CHANDAN KHANNA)

ลัทธิโยคีมีองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งคือ “โยคะ” อันเป็นวิถีปฏิบัติในการบำเพ็ญเพียร แต่ในยุคหลัง “ลัทธิโยคี” ถูกมองว่าเริ่มไม่ถูกจัดให้มีความสำคัญ แต่กลับเป็นวิถีอย่าง “โยคะ” ที่แพร่หลายมากกว่า

คำว่าโยคะ แพร่หลายในโลกตะวันตก วิชาโยคะถูกยอมรับในวงกว้างในแง่การรักษาสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ในแง่การฝึกโยคะ ตามศาสตร์ของ “โยคี” หรือการฝึกเพื่อเป้าหมายในเชิงศาสนากลับเป็นกลุ่มที่หาตำราหรือผู้ปฏิบัติในวงกว้างได้ยากยิ่ง

ศาสนาฮินดูมีลักษณะประจำ 6 ประการ แบ่งตามทัศนะของสำนักในศาสนาฮินดู ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “ษัฆทรรศนะ” หรือ ทรรศนะ 6 ประการ สำนักทั้ง 6 มีจุดประสงค์และต้นกำเนิดแตกต่างกัน แต่ถูกรวมในระบบเดียวกันเนื่องจากถือว่าเป็นทางบรรลุการหลุดพ้นได้เหมือนกัน ทรรศนะทั้ง 6 ได้แก่ นยายะ-ไวเศษิกะ สางขยะ-โยคะ และมีมางสา-เวทานตะ

โยคะ อันเป็นชื่อหนึ่งในของทรรศนะทั้ง 6 เป็นชื่อที่แพร่หลายมากที่สุด โยคะสื่อความหมายในหลากหลายทั้งในมิติกว้างเชิงการฝึกตน จนถึงการทรมานร่างกายทางศาสนาทุกอย่างของอินเดีย ผู้ที่ปฏิบัติอย่างจริงจังจะเรียกว่าโยคี หรือในเชิงสำนักปรัชญาสำนักหนึ่งซึ่งเน้นการฝึกจิดเพื่อหลุดพ้นก็ได้

สำหรับลัทธิโยคี เอื้อ อัญชลี คอลัมนิสต์ประจำของนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์อธิบายว่า โยคะที่เป็นหัวใจสำคัญของลัทธิโยคีมีแนวคิดในแง่การหลอมรวมกับพรหมมันเป็นเป้าหมายสูงสุด วิธีปฏิบัติอันนำไปสู่เป้าหมายคือการปฏิบัติโยคะ เพื่อพ้นความเป็นกายและจิต

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่ว่านี้มักเข้าใจยาก หรือไม่อาจเข้าใจได้เลยจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โยคีเริ่มสูญเสียความสำคัญไป เหลือแต่แนวคิดของศาสตร์โยคะ อธิบายให้ง่ายขึ้นคือ หากกล่าวว่าฝึกโยคะเพื่อหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ดูเหมือนเป็นเรื่องที่เข้าใจยากและยากเข้าถึง แต่หากอธิบายว่า ฝึกเพื่อสุขภาพก็น่าสนใจสำหรับคนทั่วไป เหล่านี้ล้วนเป็นภาพจำในความเข้าใจของคนทั่วไป

สำหรับลัทธิโยคีที่ว่านี้ ในหนังสือ “ลัทธิโยคีและมายาศาสตร์” ของหลวงวิจิตรวาทการ อ้างอิงนายเปียเรส ผู้เดินทางมาจากอินเดียซึ่งอธิบาย 5 ชั้นของลัทธิโยคี ได้แก่

1. หถโยคะ บริหารร่างกายด้วยวิธีปฏิบัติทั่วไป สามารถพบเห็นได้ในการฝึกโยคะชั้นต้น
2. ญาณโยคะ ฝึกผสานศิลปะเข้ากับญาณ ใช้ศิลปะฝึกสมาธิ เช่น วาดภาพ เล่นดนตรี
3. กรรมโยคะ ฝึกจิตให้เกิดความกรุณา สละเพื่อเข้าสู่วิถีที่สูงขึ้นมาสู่ความเป็นโยคี
4. ภักติโยคะ ฝึกภาวนาจิตให้แน่วแน่ รับรู้ความเป็นชั่วขณะนั้น
5. ราชโยคะ เป็นขั้นสูงสูดที่ฝึกจนมีประสาทสัมผัสรับรู้ที่ยอดเยี่ยมเหนือกว่าคนทั่วไป

A.L. Basham ศาสตราจารย์ด้านอารยธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กรุงแคนเบอร์รา อธิบายในหนังสือ “อินเดียมหัศจรรย์” ว่า ในยุคกลางของอินเดีย โยคะพัฒนาไปในทิศทางที่ค่อนข้างน่าฉงนโดยเฉพาะในกลุ่มตันตระบางสำนัก หรือระบบโยคะอื่นที่พัฒนาไปอีก อาทิ มันตระโยคะ (โยคะที่ใช้มนตร์) สอนให้ท่องมนตร์สั้นยาวต่อเนื่อง แยกความผูกพันของจิตจากวัตถุ หรือหฐโยคะ (โยคะแห่งพลัง) เน้นวิธีทางกายภาพ เช่น ฝึกท่าโยคะยากๆ หรือบางครั้งไปถึงขั้นสนับสนุนเพศสัมพันธ์ในการบรรลุโมกษะ (ไม่เวียนว่ายตายเกิด)

โยคีจำนวนมากปฏิบัติโยคะเพื่อให้มีอำนาจเกินขีดจำกัดทางธรรมชาติและความรู้ ไม่ใช่เพื่อโมกษะ Basham อธิบายว่า โยคีเชื่อกันว่า ท่อสำคัญในร่างกายเรียกว่า “สุษุมณะ” ทอดผ่านกระดูกสันหลัง ส่วนต่างๆ ของท่อจะมีจุดที่เรียกว่า “จักระ” แต่ละจุดจักระเป็นศูนย์รวมพลังจิต ที่ปลายบนสุดของสุษุมณะอยู่ภายในกะโหลกศีรษะมีจุดที่เรียกว่า “สหัสราระ” อันเป็นศูนย์ที่มีพลังทางจิตเป็นพิเศษ และมักเรียกกันในเชิงสัญลักษณ์ว่า “ดอกบัว”

ขณะที่จักระที่อยู่ล่างสุดเรียกว่า “กุณฑลินี” อยู่หลังอวัยวะเพศ โดยปกติแล้วจะอยู่ในภาวะสงบ แต่เมื่อปฏิบัติโยคะ กุณฑลินีจะถูกปลุกและขึ้นไปตามสุษุมณะผ่านจักระทั้ง 6 ไปรวมกับสหัสราระ ที่เป็นจักระสุดท้าย การปลุกกุณฑลินีขึ้นและส่งขึ้นไป โยคีจะมีพลังจิตเพิ่มขึ้นและเมื่อกุณฑลินีรวมกับสหัสราระ โยคีจะบรรลุโมกษะ

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านอารยธรรมเอเชียยังเล่าว่า โยคีที่เชี่ยวชาญโยคะบางรายพัฒนาจนมีอำนาจบางอย่างซึ่งการแพทย์ตะวันตกไม่สามารถหาเหตุผลอธิบายอย่างสมบูรณ์ หลายคนอาจมีมุมมองเกี่ยวกับโยคีแตกต่างกัน แต่ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่พบในโยคีที่มีฌานสมาบัติสูง สามารถกลั้นลมหายใจได้นานโดยไม่เกิดอันตราย ควบคุมการเต้นของหัวใจได้ ทนความร้อนและความหนาว มีสุขภาพดีแม้อดอาหารหรือกินอาหารเพียงเล็กน้อย บางกรณีอวัยวะภายในร่างกายบิดเบี้ยวจากปกติ แต่โยคียังมีชีวิตยืนยาวจนแก่เฒ่าโดยยังใช้อวัยวะสำหรับสัมผัสรับรู้อย่างตาและหูได้อย่างดี หากเป็นคนธรรมดาทั่วไป ระบบต่างๆ ในร่างกายจะเสียหายจากอวัยวะภายในที่บิดเบี้ยวแล้ว

เมื่อมีข้อมูลเป็นเช่นนี้คงจินตนาการไม่ยากว่าวิธีปฏิบัติตนแบบโยคีเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น ต้องผ่านอะไรมาบ้าง และยากลำบากเพียงใด ขณะเดียวกันแนวคิดในการปฏิบัติโยคะก็ได้รับความสนใจจากคุณประโยชน์เรื่องสุขภาพ

แต่บางกรณี การฝึกโยคะที่พัฒนาต่อมาในภายหลังอย่างหฐโยคะ ไม่มีกุณฑลินี สุษุมณะ หรือสหัสจาระ จึงถูกนักวิชาการมองว่าไม่ถูกต้อง และจำเป็นต้องศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น



อ้างอิง:

เอื้อ อัญชลี. แกะรอยคัมภีร์ฉบับคนกันเอง ภาค 2 : ประมวลคัมภีร์ธรรมะ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554

Basham, A.L.. อินเดียมหัศจรรย์. กาญจนี ละอองศรี บรรณาธิการแปล. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2559


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 30 มกราคม พ.ศ.2562