เมรุนกหัสดีลิงค์ และความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมหลังความตายในอีสาน

เมรุนกหัสดีลิงค์ ในพิธีถวายพระเพลิงจริงสรีรสังขาร พระเทพวิทยาคม (ภาพจาก มติชนออนไลน์)

นกหัสดีลิงค์ซึ่งเป็นสัตว์ในคติพุทธศาสนาถูกนำมาประกอบเป็นเมรุเพื่อประกอบเป็นรายละเอียดส่วนหนึ่งของพิธีกรรมว่าด้วยร่างผู้เสียชีวิตและเป็นการแสดงให้เห็นถึงเกียรติยศและความสำคัญของผู้วายชนม์เป็นครั้งสุดท้าย

นกหัสดีลิงค์    

นกหัสดีลิงค์เป็นสัตว์ในจินตนาการที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ตามคติพุทธศาสนา

Advertisement

ตามตำนานนั้นนกหัสดีลิงค์เป็นนกที่มีนิสัยดุร้ายกินมนุษย์และสัตว์เป็นอาหาร สร้างความเดือดร้อนให้ผู้คนเป็นอันมาก จนเจ้าเมืองตักสิลาโปรดให้ป่าวประกาศว่าหากผู้ใดสามารถสังหารนกหัสดีลิงค์ได้ พระองค์จะทรงยกเมืองตักสิลาให้ปกครองกึ่งหนึ่ง แต่ก็ไม่มีผู้ใดมารับอาสา

เจ้านางสีดาซึ่งเป็นพระมเหสีของพระอินทร์ได้จุติลงมาเกิดเป็นพระธิดาของเจ้าเมืองตักสิลาเพื่อปราบนกหัสดีลิงค์ขออาสาไปสังหารนกหัสดีลิงค์ด้วยตัวเองจนสามารถปราบนกหัสดีลิงค์ได้สำเร็จ แต่เอกสารที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา อาทิ พระไตรปิฎก ชาดก คัมภีร์อรรถกถา และตำนานพื้นเมืองอีกสำนวนหนึ่ง ได้อธิบายว่านกหัสดีลิงค์นั้นเป็นนกที่กินศากศพเป็นอาหาร

เมรุนกหัสดีลิงค์

สำหรับพื้นที่อีสาน ในเมืองอุบลราชธานี นกหัสดีลิงค์เป็นเมรุเผาศพของเหล่าเจ้านายเมืองอุบลฯ มาตั้งแต่โบราณ ผู้ที่กระทำเลียนแบบหากไม่ใช่เจ้านายมีคติว่าจะถึงวิบัติ 7 ชั่วโคตร

มีหลักฐานว่าใน พ.ศ.2446 เมืองอุบลฯ มีขบวนแห่เจ้านางสีดาเพื่อทำพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ที่พระเมรุปรากฏให้เห็นอยู่  นกหัสดีลิงค์ถือเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าฟ้าแสนหวีซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นราชสกุลของเจ้านายพื้นเมืองอุบลฯ ทำให้นกหัสดีลิงค์มีสถานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกใช้ในการประกอบพิธีศพของกลุ่มชนชั้นสูงของเมืองอุบลฯ เท่านั้น

ต่อมาเมื่อกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ในการสำเร็จราชการมณฑลลาวกาว การทำศพแบบนกหัสดีลิงค์นี้ถูกเปลี่ยนมาใช้กับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงคุณธรรมเมื่อมรณภาพแล้ว เมรุนกหัสดีลิงค์ตัวล่าสุดนั้นถูกสร้างขึ้นในพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระสิริพัฒนภรณ์ (สมหมาย โชติปุญโญ) เมื่อพ.ศ. 2557

นอกจากพิธีเผาศพใหญ่ที่ใช้เมรุนกหัสดีลิงค์ในการปลงศพแล้ว ยังมีพิธีย่อยที่สำคัญรวมอยู่ด้วย เช่น พิธีกรรมฆ่านกหัสดีลิงค์ที่เชื่อมโยงกับตำนานวีรกรรมของนางสีดาโดยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เจ้านางสีดา มีสถานะเป็นผีมเหศักดิ์หรือวีรสตรีในสังคม เนื่องจากผู้ทำหน้าที่เป็น “นางเทียม” หรือร่างทรงนางสีดานั้นจะต้องเป็นผู้หญิงและต้องสืบเชื้อสายมาจากเจ้านางสีดาเท่านั้น

นกหัสดีลิงค์ที่ถูกใช้ในการทำศพนี้ยังมีผู้อธิบายเชื่อมโยงกับสังคมแบบ “ยูโทเปีย” หรือ “อุตรกุรุทวีป” เนื่องจากนกหัสดีลิงค์มีหน้าที่คอยเก็บศพผู้เสียชีวิตเพื่อไม่ให้เกิดความสกปรกขึ้นในแผ่นดิน เป็นพิธีกรรมหลังความตายอย่างหนึ่งที่ถูกผสมระหว่างประเพณีท้องถิ่นของอุษาคเนย์กับประเพณีที่รับจากอินเดีย



อ้างอิง

อรรถ นันทจักร์. “นกหัสดีลิงค์ตัวสุดท้ายของกลุ่มชนไท-ลาวสายจำปาสัก”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 11 ฉบับที่ 10 (สิงหาคม 2553).

ยุทธนาวรากร แสงอร่าม. “ทบทวนความรู้เรื่อง การปลงศพบนเมรุรูปนกหัสดีลิงค์ ที่จังหวัดอุบลราชธานี”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 37 ฉบับที่ 2 ฉบับที่ 2 (ธันวาคม 2558).

บำเพ็ญ ณ อุบล. “สักกะไดลิงค์ (เมรุเผาศพ)”, ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 13.

สมชาติ มณีโชติ. “คติเรื่องนกหัสดีลิงค์และรูปแบบทางศิลปกรรม”, ใน เอกสารประกอบการสัมนาทางวิชาการเรื่อง ศิลปะอีสานกับกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม, 2556.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (17 มกราคม 2562). โลกหลังความตาย. มติชนรายวัน.