วิถี “ลอยเรือเล่นรัก” โสเภณีแถบท่าเรือที่ชาวญี่ปุ่น-ฝรั่งในไทยนิยมยุคสงครามโลก

ภาพถ่าย ท่าเรือกรุงเทพ หรือ ท่าเรือคลองเตย เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ภาพจาก Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ในยุคสงครามที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ามายึดพื้นที่หลายแห่งในไทยสำหรับการสงคราม วิถีชีวิตคนในพื้นที่เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับกำลังพลจากต่างแดนจนเกิดเรื่องราวมากมายขึ้น และแน่นอนว่าที่รู้กันดีคือเรื่องหญิงปลอบขวัญ ไปจนถึงเรื่องการค้าบริการของโสเภณีแถบท่าเรือคลองเตย ซึ่งวิธีปฏิบัติในกระบวนการก็ไม่ธรรมดาทีเดียว

ช่วงที่กลุ่มชาวญี่ปุ่นอยู่ที่ท่าเรือคลองเตย หรือท่าเรือปากคลองพระโขนงนั้น มีพ่อค้าแม่ค้าไปขายของกับพวกญี่ปุ่นอยู่บ้าง สันต์ สุวรรณประทีบ เล่าที่มาที่ไปว่า กลุ่มแรงงานที่ร่วมสร้างท่าเรือนั้นเป็นคนในพื้นที่คลองพระโขนง และต่างรู้ลู่ทางกันอย่างดี ทั้งที่ญี่ปุ่นเดินยามกันสม่ำเสมอ ก็ยังมีของหายกันได้

Advertisement

ที่ว่าของหายจากโกดังนั้น สันต์ เล่าว่า โกดังยุคนั้นมีโพรง และฝาเปิดขึ้นไปในโกดัง แถมยังมีท่อใหญ่ขนาดครึ่งตัวคนลอดออกทางคลองด้านหลังโกดัง ช่วงน้ำขึ้นจะไม่เห็นท่อนี้ แต่เมื่อน้ำลง สามารถนำเรือไปจอดเทียบลำเลียงของออกมาอย่างง่ายดาย

บรรยากาศที่พบเห็นในแถบท่าเรือได้บ่อยครั้งคือ พ่อค้าแม่ค้าขายของกับพวกญี่ปุ่น สันต์ เล่าว่า พ่อค้าแม่ค้าสามารถพูดญี่ปุ่นพอสื่อสารกันรู้เรื่องได้ไม่ยากนัก เมื่อฝรั่งเข้ามาต่อก็ไม่มีปัญหาด้านการสื่อสารเช่นกัน

สินค้าที่ขายกันช่วงแรกเป็นพวกอาหาร แต่ระยะหลังเริ่มมีพ่อค้าหัวใสขนหญิงขายบริการไปจากกรุงเทพฯ ด้วย

สำหรับการขายบริการนั้น แม้ลักษณะพื้นที่ท่าเรืออันมีแต่ลานกว้าง ไม่ค่อยมีซอกหลืบเท่าไหร่ สันต์ เล่าว่า ช่วงแรกก็ฉลองทั้งที่แจ้งกลางลานโดยอาศัยความมืดกำบังตัว ทำกันได้ไม่กี่วัน ไม่เกินสัปดาห์ก็ถูกห้าม ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างไม่มีใครขึ้นเขื่อนขึ้นท่าได้อีก และไม่สามารถจอดเรือได้เพราะถูกกวดขัน

ทางแก้คือ “ลอยเรือเล่นรัก” เมื่อยามเกิดเผลอก็แวะรับออกมาลอยกลางน้ำ เสร็จกิจแล้วก็เข้าไปส่งขึ้นฝั่ง เรือที่ใช้ก็เป็นเรือจ้างแบบแจว ดัดแปลงเอาหลังคาออกเพื่อจะได้ส่งสัญญาณหรือเห็นสินค้าได้ง่าย กระบวนการที่บรรยายไว้คือ

“แจวเรือเกร่ไปเกร่มา ฉายไฟแว็บ ๆ เดี๋ยวก็มีไฟฉายกราดมาจากบนฝั่ง กวาดหาตัวผู้หญิง พอพบก็นิ่งอยู่ครู่แล้วถาม ‘เฮามัช-เฮามัช’ ทางนี้ก็ยกซองบุหรี่ขึ้นให้ดู ปากก็พูด ‘ซิกกาแร็ต ซิกกาแร็ต’ พร้อมกับกางมืออีกข้างเป็นห้านิ้ว หมายถึงบุหรี่ห้าซอง ถ้าตกลงฝรั่งก็จะตอบ ‘โอ.เค. ซิกกาแร็ต’ คำโอ.เค. ซิกกาแร็ตก็เกิดขึ้นด้วยเหตุฉะนี้”

หากสงสัยว่าทำไมไม่แลกเปลี่ยนเป็นเงิน สันต์ อธิบายว่า สมัยนั้นบุหรี่ฝรั่งขายดี ขายง่ายได้ราคา เนื่องจากอดอยากมาหลายปี ยิ่งเป็นซองใหญ่ยิ่งดี สมัยนั้นขายอย่างต่ำซองละ 10 บาท (เพลเยอร์-นาวีคัต) เทียบกับบุหรี่ไทยตราฆ้องที่ซองละ 6 สลึง 2 บาท ถือว่ามีราคาทีเดียว

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม : นางบำเรอทหารญี่ปุ่น “บนแผ่นดินไทย” สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2


อ้างอิง:

สันต์ สุวรรณประทีป. “ลำเลิกอดีต, ใน”. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 3 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2525)


เยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มกราคม 2562