เจาะลึก วัดบางกระสอบ และข้อมูลร่องรอยความหมายแท้จริงของ “บางกระเจ้า”

สองฝากแม่น้ำเจ้าพระยา มองเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างฝั่งบางกะเจ้า ซึ่งยังเป็นพื้นที่สีเขียว กับฝั่งคลองเตย ที่รายล้อมด้วยตึกสูง (ภาพถ่ายจากโดรนมติชนทืวี)

บางกระเจ้า อยู่บริเวณคอคอดโค้งน้ำเจ้าพระยา เหมือนกระเพาะหมู หรือ oxbow lake อ. พระประแดง จ. สมุทรปราการ บางทีเรียกคุ้งบางกระเจ้า ลักษณะเดียวกับคอคอดคุ้งบางกอก (บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่) ในกรุงเทพฯ

คุ้งบางกระเจ้า

  1. ราว 3,000 ปีมาแล้ว (ก่อน พ.ศ. 1) เป็นทะเลอ่าวไทย
  2. ราว 1,500 ปีมาแล้ว (หลัง พ.ศ. 1000) สมัยแรกเริ่มการค้าโลก เป็นคุ้งน้ำของแม่น้ำ (ยังไม่มีชื่อเจ้าพระยา) มีป่าชายเลนทะเลโคลนตมปากน้ำอ่าวไทย (ทวารวดี) ฝั่งทะเลอยู่เหนือขึ้นไป (แนวถนนพระราม 2)
  3. ราว 700 ปีมาแล้ว (หลัง พ.ศ. 1800) มีดำริจะก่อบ้านสร้างเมืองตรงบางเตย (คลองเตย) ฝั่งซ้ายคุ้งน้ำแต่ไม่ได้สร้าง เพราะน้ำเค็มเข้าถึง (มีบอกในพงศาวดารเหนือ เรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ้ง)
  4. ราว 500 ปีมาแล้ว (หลัง พ.ศ. 2000) สร้างเมืองพระประแดง ที่คลองเตย (บางเตย)
  5. ราว 300 ปีมาแล้ว (หลัง พ.ศ. 2200) เมืองพระประแดง (สมัยพระเจ้าบรมโกศ) ย้ายไปอยู่ อ. เมืองฯ จ. สมุทรปราการ ฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยา (สมัยพระนารายณ์ บริเวณนี้ชื่อ บางเจ้าพระยา)
  6. ราว 200 ปีมาแล้ว (หลัง พ.ศ. 2300) เมืองพระประแดง (สมัย ร.2) ย้ายไปอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณนครเขื่อนขันธ์ ปัจจุบันคือ อ. พระประแดง จ. สมุทรปราการ
แผนที่แสดงตำแหน่งเมืองพระประแดง, บางกระเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ และวัดบางกระสอบ (โดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ 2561)

วัดบางกระสอบ มีหลักฐานเก่าสุดของบางกระเจ้า ได้แก่

Advertisement

พระพุทธรูปประธาน ปางมารวิชัยในวิหาร (พระรัตนโภคะ) เป็นปูนปั้นติดที่ เคลื่อนย้ายไม่ได้ อายุราว พ.ศ. 2000 ร่วมสมัยโคลงกำสรวลสมุทร

วัดบางกระสอบ เป็นชุมทางคมนาคมยุคต้นอยุธยา อยู่ฝั่งตรงข้าม เยื้องคลองสำโรง (เส้นทางหลักไปบางปะกง)

วัดบางกระสอบ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งบางกะเจ้า (ภาพถ่ายจากโดรนมติชนทืวี)

บางกระเจ้า เป็นชื่อตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้? พบเก่าสุดอยู่ในนิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ (แต่งสมัย ร.2?) เมื่อถึงคุ้งน้ำเจ้าพระยาว่า “มาพบบ้านระจ้าวยิ่งเศร้าใจ” มีคำว่า “ระ” แสดงว่ามี ร กล้ำ ปัจจุบันควรเขียน “บางกระเจ้า” แต่กร่อนเป็น “บางกะเจ้า”

บางกระเจ้า หมายถึง ชุมชนอันเป็นแหล่งหนาแน่นของต้นกระเจา หรือ กระเจ้า

บาง หมายถึง บริเวณมีชุมชนอยู่ปากคลองเล็กๆ ไหลลงลำน้ำใหญ่ (คือ แม่น้ำเจ้าพระยา)

กระเจ้า หรือ กระเจา หมายถึง ต้นปอกระเจา เป็นไม้ล้มลุก มีเปลือกเหนียวทนทาน ใช้ทำเชือก หรือทอเป็นกระสอบ (มีชื่อ บางกระสอบ เป็นพยาน)

ชื่อ บางกระสอบ เป็นร่องรอยความหมายแท้จริงของบางกระเจ้า

ชมรายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน “บางกะเจ้า เมืองพระประแดง ปากทางอ่าวสยาม” ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง และ ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ร่วมทอดน่องท่องเที่ยว ณ คุ้งบางกะเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ วันอังคารที่ 25 กันยายน 2561

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ธันวาคม 2561