รู้จักผู้ผูกมิตร “ชาวเซนติเนล” ชนพื้นเมืองหมู่เกาะอันดามันที่ไม่ติดต่อภายนอกนับหมื่นปี

(ซ้าย) ชนพื้นเมืองในเกาะเซนติเนลเล็งธนูมาที่เฮลิคอปเตอร์ของทางการอินเดีย ที่บินสำรวจผลจากสึนามิ เมื่อปี 2004 (ภาพจาก AFP PHOTO / INDIAN COAST GUARD / SURVIVAL INTERNATIONAL) (ขวา) นาย Triloknathc Pandit นักมานุษยวิทยาที่พยายามติดต่อกับชาวเซนติเนล (ภาพจาก YouTube/NDTV)

ช่วงที่ชาวเซนติเนล ในเกาะเซนติเนลเหนือ (North Sentinel) ในหมู่เกาะอันดามัน แถบอ่าวเบงกอลของอินเดีย ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก พวกเขาเป็นที่รู้จักในฐานะชนเผ่าที่ไม่ต้อนรับคนแปลกหน้าภายนอก และมักขับไล่ด้วยความรุนแรง แต่มีนักมานุษยวิทยารายหนึ่งที่ศึกษาและพยายามผูกมิตรกับชนพื้นเมืองนี้นานกว่า 10 ปีจนประสบความสำเร็จ

T N Pandit นักมานุษยวิทยาชาวแคชเมียร์ ที่ปัจจุบันอยู่ในวัย 84 ปี และดำรงตำแหน่งหัวหน้าระดับภูมิภาคในกระทรวงที่รับผิดชอบดูแลกลุ่มคนพื้นเมืองของอินเดีย เป็นชายไม่กี่คนที่ได้รับการต้อนรับจากชนพื้นเมืองเซนติเนล เมื่อปี ค.ศ. 1991 หลังจากนักมานุษยวิทยารายนี้เริ่มเดินทางไปที่เกาะเซนติเนลเหนือของชนพื้นเมืองกลุ่มนี้ครั้งแรกเมื่อปี 1967 เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคณะเดินทางกว่า 20 รายที่เดินทางไปหวังติดต่อชนพื้นเมืองบนเกาะเซนติเนลเหนือ

ในบรรดาชนพื้นเมืองที่ไม่ติดต่อกับโลกภายนอกจนถึงปัจจุบัน ชาวติเนลเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่อาศัยบนเกาะขนาด 20 ตารางไมล์ (ประมาณ 32,000 ไร่) อย่างสงบสุข (และเชื่อว่าพวกเขาพอใจแบบนั้น) และบางรายงานเชื่อว่าพวกเขารักษาวิถีชีวิตแบบนี้มายาวนานกว่า 30,000 ปี บางแหล่งเชื่อว่าอาจมากกว่า 50,000 ปีด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม Vishvajit Pandya นักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับชนพื้นเมืองในอันดามันแสดงความคิดเห็นว่า พวกเขาน่าจะมาจากการย้ายถิ่นฐานแบบตั้งใจ หรือไม่ก็ถูกผลักดันมาจากเกาะลิตเติลอันดามัน ( Little Andaman)

ข้อมูลทางประชากรบนเกาะยังไม่แน่ชัด แต่แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่คาดคะเนว่าจำนวนชนพื้นเมืองที่อาศัยบนเกาะน่าจะมีอยู่ระหว่าง 50-150 ราย ข้อมูลจากการสำรวจ (จากระยะปลอดภัย) เมื่อปี 2011 พบชนพื้นเมืองที่อยู่ในวิสัยทัศน์ 15 ราย คาดว่าจำนวนประชากรน่าจะเริ่มลดลง

Pandit เป็นนักมานุษยวิทยาที่เข้ามาในเมืองพอร์ท แบลร์ (Port Blair) ศูนย์กลางของหมู่เกาะอันดามัน เมื่อปี 1966 ยุคนั้นวิชามานุษยวิทยายังเป็นเรื่องใหม่สำหรับอินเดีย เขาได้รับข้อเสนอให้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเดลี เขาถึงกับต้องเปิดพจนานุกรมหาความหมายของ “มานุษยวิทยา”

T N Pandit ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ว่า ในครั้งแรก ชนพื้นเมืองจะหลบซ่อนในป่า ความพยายามเดินทางครั้งต่อมา ชนพื้นเมืองยิงธนูใส่พวกเขา แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จในช่วงแรก แต่นักมานุษยวิทยามักนำของขวัญที่ติดตัวไปด้วยอย่างหม้อ กระทะ มะพร้าว เครื่องมือต่างๆ ที่ทำจากเหล็ก อาทิ ค้อน และมีดยาว วางไว้ให้เพื่อหวังสานสัมพันธ์กับชุมชนที่ไม่ติดต่อกับโลกภายนอกมายาวนาน

นอกเหนือจากของขวัญแล้ว T N Pandit เล่าว่า คณะเดินทางยังมีกลุ่มชนพื้นเมือง Onge อีก 3 รายติดตามไปด้วยเพื่อช่วยตีความภาษาและพฤติกรรมของชาวเซนติเนล

Pandit เล่าเหตุการณ์ในครั้งแรกระหว่างการให้สัมภาษณ์กับ New York Times ว่า “พวกเขา (ชาวเซนติเนล) สังเกตการณ์อย่างระมัดระวัง และเชื่อได้เลยว่าพวกเขาดูไม่พอใจเลย เพราะพวกเขาหยิบธนูและลูกศร”

“การเผชิญหน้าครั้งนี้มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก เพราะในแง่หนึ่งเราในฐานะคนจากโลกภายนอกที่เต็มไปด้วยความศิวิไลซ์พบกับชนเผ่าดั้งเดิมที่ยังรักษาสภาพไว้ได้อย่างสมบูรณ์ และใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย”

การติดต่อครั้งที่ประสบความสำเร็จคือเมื่อปี 1991 ซึ่ง Pandit เล่าว่า แม้แต่พวกเขาเองก็ไม่รู้เหตุผลว่าทำไมชาวเซนติเนลถึงอนุญาตให้เข้าไปหาพวกเขาได้ในพื้นที่ที่กำหนดไว้ (นอกชายหาด) ซึ่งกลุ่มนักมานุษยวิทยาเล่าว่า ต้องยืนในจุดน้ำลึกเกือบถึงคอก่อนที่จะส่งมอบมะพร้าวและของกำนัลอย่างอื่น แต่พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่ง (คลิกชมภาพที่นี่)

Pandit ยังเล่าว่า ทีมงานพยายามสื่อสารกับชนพื้นเมืองด้วยการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่ชาวเซนติเนล ยุ่งอยู่กับของกำนัล และสนทนากันเองในกลุ่ม ภาษาที่กลุ่มนักมานุษยวิทยาได้ยิน เป็นภาษาที่ลักษณะใกล้เคียงกับภาษาของชนพื้นเมืองในแถบนั้น

อย่างน้อยพวกเขาประสบความสำเร็จในการติดต่อโดยที่ชนพื้นเมืองยอมรับของกำนัลด้วยตัวเอง แต่ Pandit ยังเจอเรื่องระทึกเล็กน้อยเมื่อช่วงที่เขาส่งมอบมะพร้าว เขาไม่รู้ตัวว่าแยกห่างออกจากทีมงานที่มาด้วยกัน และเริ่มประชิดใกล้ชายฝั่งมากขึ้น ชายหนุ่มเซนติเนลรายหนึ่งปั้นหน้าเยาะเย้ยใส่ หยิบมีดขึ้นมา และทำท่าเหมือนสื่อสารว่าจะตัดศีรษะของ Pandit นั่นทำให้นักมานุษยวิทยารายนี้รีบเรียกเรือมารับและล่าถอยอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ช่วงหลัง การเดินทางไปมอบของขวัญและการเดินทางเข้าชายฝั่งเกาะเซนติเนลเหนือถูกทางการอินเดียสั่งห้ามเพื่อคุ้มครองชาวเซนติเนล จากความเสี่ยงจากโรคติดต่อจากภายนอกที่อาจส่งผลให้ชนพื้นเมืองที่ไม่ได้ติดต่อโลกภายนอกยาวนานและไม่มีภูมิคุ้มกันอาจต้องสูญพันธุ์ ขณะที่ Pandit ยืนยันว่า ทีมงานตรวจสอบสภาพร่างกายและคัดเลือกผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงเดินทางไปเกาะเสมอ

Pandit ยังมองว่า มุมมองที่คนทั่วไปมองว่าชนพื้นเมืองกลุ่มนี้เป็นพวกใช้ความรุนแรงและป่าเถื่อนเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมสำหรับชนพื้นเมือง จากประสบการณ์ว่า ชนพื้นเมืองกลุ่มนี้รักสงบและสันติ ไม่เคยคิดจะจู่โจมคนทั่วไป ไม่เดินทางไปพื้นที่ใกล้เคียง และไม่สร้างเรื่องเดือดร้อนให้ใคร และกรณีที่ชายหนุ่มอเมริกันซึ่งติดสินบนให้กลุ่มชาวประมงนำเขาขึ้นเกาะแบบผิดกฎหมายจนถูกชนพื้นเมืองยิงธนูใส่จนเสียชีวิตก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากมาก

นักมานุษยวิทยามากประสบการณ์มองว่า เขาสนับสนุนภารกิจส่งมอบของกำนัลให้ชนเผ่า แต่ไม่เห็นด้วยกับการรบกวนพื้นที่ของชาวเซนติเนล และควรเคารพความต้องการของกลุ่มชนพื้นเมืองที่จะอยู่อย่างสงบโดยลำพังปราศจากการติดต่อโลกภายนอก

นอกเหนือจากชาวเซนติเนล Pandit ยังทำให้กลุ่ม จาราวาส์ (Jarawa) ชนพื้นเมืองอีกกลุ่มในพื้นที่หมู่เกาะอันดามันวางธนูและลูกศรลงได้ แต่ต้องใช้เวลานานนับ 10 ปี กว่าชนพื้นเมืองกลุ่มนี้จะผ่อนคลายกับคนอินเดียที่เข้ามา

Pandit ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ มองว่า สถิติประชากรของชาวเซนติเนล ที่เคยสำรวจเมื่อปี 2011 และคาดว่ามีชาวเซนติเนลประมาณ 15-500 คน เป็นเรื่องไม่ตรงข้อเท็จจริง ในมุมมองของนักมานุษยวิทยาที่เคยลงพื้นที่พยายามสร้างสัมพันธ์ เขามองว่า น่าจะมีชนพื้นเมืองที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 80 ราย แต่ในอนาคตจะมีประชากรเท่าไหร่นั้น ไม่อาจตอบได้อย่างชัดเจน

อ่านเพิ่มเติมเปิดสังคม “ชาวเซนติเนล” ที่ยิงธนูใส่หนุ่มมะกัน ชนพื้นเมืองไม่ติดต่อโลกภายนอกนับหมื่นปี



อ้างอิง:

Barry, Ellen. “A Season of Regret for an Aging Tribal Expert in India”. The New York Times. 5 May 2017. <https://www.nytimes.com/2017/05/05/world/asia/anthropologist-india-andaman-island-tribes.html>

BHARDWAJ, DEEKSHA. “Sentinelese are peace loving, leave them alone, says anthropologist who has met them”. The Print. 25 Nov 2018. <https://theprint.in/culture/sentinelese-are-peace-loving-leave-them-alone-says-anthropologist-who-has-met-them/154548/>

Natarajan, Swaminathan. “The man who spent decades befriending isolated Sentinelese tribe”. BBC. 27 Nov 2018. <https://www.bbc.com/news/world-asia-india-46350130>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561