พระราชหัตถเลขาร.4 หลังทรงทราบราชทูตไปอังกฤษขอซื้อหญิงแรกพบเป็นภรรยา

รัชกาลที่ 4 วิ่งเต้นติดสินบน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

คณะทูตสยามที่เดินทางไปอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2400 เพื่อเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แห่งสหราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก นอกจากผลลัพธ์ในด้านการเจริญสัมพันธไมตรีแล้ว ควันหลงที่ตามมาอีกเรื่องคือกระแสข่าว “ราชทูต” ต้องการ “ซื้อ” หญิงสาวอังกฤษที่เพิ่งพบมาเป็นภรรยา

พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งคณะราชทูตไทยไปอังกฤษ ถือเป็นคณะทูตจากสยามที่เดินทางไปสหราชอาณาจักรและได้เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเป็นคณะแรก แต่หลังจากนั้นแล้วกลับมามีกระแสข่าวที่น่าตกใจตามมา

Advertisement

เรื่องที่ว่าคือคำเล่าลือเกี่ยวกับตัวราชทูตไทย ซึ่งสุพจน์ แจ้งเร็ว เขียนไว้ในบทความ “รัชกาลที่ 5 ‘ทรงเที่ยวกลางคืน'” ว่า พระยามนตรีสุริยวงศ์ ราชทูต ปรารถนาจะ “ซื้อ” หญิงสาวชาวอังกฤษรายหนึ่งที่เพิ่งประสบพบพักตร์ที่ท่าเรือมาเป็นภรรยาคนที่ 59 ของตัวเองด้วยเงิน 3,000 ปอนด์

หนังสือพิมพ์ Time ของอังกฤษฉบับประจำวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400) ลงเรื่องนี้เป็นข่าวด้วย นั่นหมายความว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่ถูกปกปิดแต่อย่างใด และไม่ว่าเจตนาที่แท้จริงของราชทูตเบื้องหลังเหตุการณ์เป็นอย่างไร เรื่องนี้เป็นที่ทราบกว้างขวางพอสมควร เห็นได้จากเรื่องทราบถึงองค์พระมหากษัตริย์ ดังความในพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีถึงพระยามนตรีสุริยวงศ์ และเจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี ลงวันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 7 ปีมะเมีย (พ.ศ. 2401) มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“…อนึ่งถ้าอังกฤษจะนินทาว่าตื่นก็ควรแล้ว ด้วยเราเปนชาวป่าได้เข้าไปเมืองสวรรค์ เสียใจอยู่แต่ว่าถึงเปนเมืองสวรรค์แล้ว ผู้ที่ไปเปนแต่ได้ชมนางเทพอัปสรกัญญา แต่จะซื้อมาเหมือนผู้หญิงจีนไม่ได้ ต้องกลับมาแผลงรัง ถึงกระนั้นถ้าซื้อได้แต่เครื่องแต่งนางสวรรค์มาแต่งนางมนุษย์ของเราที่นี้เล่นบ้างก็จะดีอยู่ พอดูเล่นประหลาดๆ”

ผู้เขียนบทความอธิบายเพิ่มถึงคำว่า “แผลงรัง” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้คำนี้ 2 แห่ง อีกแห่งหนึ่งที่ใช้ทรงพระราชปรารภถึงพระองค์เองว่า “แต่ข้าพเจ้าไปไหนมันก็ว่าชรา ไม่มีใครให้ลูกสาวเลย ต้องกลับมาแผลงรัง”

สุพจน์ แจ้งเร็ว เขียนอธิบายตีความหมายแบบตรงไปตรงมาของคำ “แผลงรัง” นี้ว่า “กลับมานอนกับภรรยาที่บ้านนั่นเอง

นางเทพอัปสรกัญญา ชาวยุโรป ถ่ายประมาณปี ค.ศ. 1855 (พ.ศ. 2398) ใกล้เคียงช่วงคณะทูตไทยไปอังกฤษ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, 2550)

 


อ้างอิง:

สุพจน์ แจ้งเร็ว. “รัชกาลที่ 5 ‘ทรงเที่ยวกลางคืน’ ” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 29 ฉบับที่ 1, พฤศจิกายน 2550.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 7 กันยายน พ.ศ. 2562