ปักตะไคร้ไล่ฝน ทำไมต้องเป็นสาวพรหมจรรย์?

นางสาคร มาปากลัด ชาวไทยเชื้อสายมอญบ้านอ้อมโรงหีบ ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร สาธิตการปักตะไคร้

“รับสมัครสาวพรหมจรรย์อายุ ในมาตรการรักษาพรหมจรรย์ภายหลัง ตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป 3 คน ปลูกตะไคร้ ด้านหน้าเวที ขอไวหน่อยนะครับ เมฆตั้งเค้ามาแล้ว…”

เสียงพิธีกรรมบนเวทีปฏิรูปประเทศหลังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยประกาศเมื่อบ่ายวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 ใดๆ ขณะที่ผมเข้าไปร่วมสังเกตการณ์อยู่ข้างเวที สาวรุ่นป้า รุ่นยายแย่งยกมือกันสลอน เรียกเสียงฮาครื้นเครงจากผู้เข้าร่วมชุมนุม เนื้อความที่ประกาศนั้นไม่ได้มีการทํากันขึ้นมาจริง แต่เชื่อว่าเป็นมุขที่ต่างเข้าอกเข้าใจกันดีว่า การปลูกหรือปักตะไคร้เอาเคล็ดป้องกัน ไม่ให้ฝนตกนั้นเป็นที่เชื่อถือกันอยู่ ในเกือบทั่วทุกภูมิภาคของไทย แถมคนที่จะทําหน้าที่นี้ได้ต้องเป็น “สาวพรหมจารี” หรือ “สาวพรหมจรรย์” เท่านั้น

ผู้คนส่วนใหญ่รับรู้ในแบบเดียวกันว่า คนที่จะปลูกตะไคร้เพื่อไม่ให้ฝน ตกนั้นต้องเป็นสาวพรหมจารี ดังนั้น สาวอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ยังคงรักษา พรหมจรรย์ไว้จึงเรียกเสียงหัวเราะด้วย รู้สึกเอ็นดู ถึงวันนี้ที่เราต่างอยู่ในยุคดิจิตอล ผมไม่มีข้อสงสัยหรอกว่าพิธีนี้ จะได้ผลหรือไม่ ผมสนใจวิธีคิดในการพยายามหาที่พึ่งทางใจและการเลือกคุณสมบัติของผู้มาปักตะไคร้มากกว่า และที่สําคัญ สมุทรสาครบ้านผมใช้ “แม่หม้าย” แน่นอนว่าลดอัตราเสี่ยง และทนแรงต้านที่อาจถูกตั้งข้อสงสัยในมาตรการรักษาพรหมจรรย์ภายหลังการปักตะไคร้แล้วฝนเทลงมาได้ในระดับดี

การรับมือกับธรรมชาติขณะมีงานมหรสพหรืองานประเพณีกิจกรรมใดๆ ในพื้นที่โล่งแจ้งของชาวบ้านซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะมีฝนตกลงมาขณะจัดงานอันจะทำให้งานนั้นกร่อยหรือถึงกับล่มด้วยวิธีการต่างๆ นั้นคงมีอยู่ด้วยกันในหลายชาติ แม้จะรู้ดีว่าเป็นการฝืนธรรมชาติแต่ก็คงเป็นความพยายามหาสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจ หรืออาจจะเรียกว่าเป็นการละเล่นแก้เครียดที่น่าจะดีกว่าไม่ทําอะไรเอาเสียเลย

การปลูกหรือปักตะไคร้ป้องกันฝนตกอันเป็นที่รู้จักกันดีแล้วในบางแห่ง เช่น ปทุมธานี ที่ผมเคยพบมาด้วยตนเอง นอกจากการปักตะไคร้แล้วยังมีพิธีกรรมอื่นพ่วงเสริมเข้าไปด้วย คือ ปักตะไคร้พร้อมหงายครกหงายสาก โดยเอาสากตั้งขึ้นชี้ฟ้า

ย่านอําเภอสองพี่น้อง สุพรรณบุรี นิยมเอากางเกงในแม่หม้ายสีแดงผูกเข้ากับปลายไม้ยาวๆ ปักแขวนไว้กลางแจ้งกันฝนตก

แถบภาคเหนือในบางถิ่น นิยม นําเอาผ้าถุงผู้หญิงขึ้นพาดหรือตากไว้ บนหลังคาบ้านหรือเพิงพัก นัยว่าเพื่อ ให้เกิดอาเพศฝนฟ้าจะได้ไม่ตก แต่ก็ ไม่มีหลักปฏิบัติชัดเจนว่าจะต้องเป็น ผ้าถุงแม่หม้ายด้วยหรือไม่อย่างไร

ในขณะที่ประเทศจีน เจ้าของอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดชาติหนึ่งของ เอเชีย และมีคติความเชื่อที่ผูกติดกับสิ่งเหนือธรรมชาติขนานใหญ่ไม่แพ้ชาติ ใดในโลก แม้จะยังมีความคิดเรื่องการป้องกันฝนตกเช่นเดียวกัน แต่กลับเลือกใช้วิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ ผมได้อ่านบทความของคุณพิษณุ นิลกลัด เรื่อง “วิธีห้ามฝนสมัย ทําพิธีเปิดและวันทําพิธีปิดการแข่งขัน ใหม่ไม่ต้องปักตะไคร้” คอลัมน์คลุกวงใน นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ เมื่อปี 2551 เล่าเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

คณะกรรมการจัดการแข่งขันมีการเตรียมการวางแผนรับมือหากเกิดฝนตกขึ้นระหว่างจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 8-24 สิงหาคม 2551 โดยนักอุตุนิยมวิทยาของจีนวิเคราะห์จากสถิติฝนตกในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และพยากรณ์ว่า โอกาสที่ฝนจะตกในวันทำพิธีเปิดและวันทำพิธีปิดการแข่งขันมีความน่าจะเป็นสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นเรื่องน่าหนักใจสำหรับเจ้าภาพเป็นอย่างยิ่ง แต่ทั้งนี้เจ้าภาพก็ไม่ได้วิตกกังวลมากนัก เพราะมั่นใจในวิธีห้ามฝนแบบใหม่ที่จะนำมาใช้เป็นครั้งแรกในการแข่งขันโอลิมปิคครั้งนั้น

แน่นอนว่าการห้ามฝนของจีนไม่ได้ใช้วิธีทางไสยศาสตร์ที่จะเชิญสาวพรหมจรรย์มาทําพิธีปักตะไคร้เอายอดลงดินเอาปลายชี้ฟ้า หรือเอาซินแสมาทําพิธีห้ามฝน แต่จีนยุคใหม่ใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ในการห้ามฝนที่เรียกว่า Cloud Seeding ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับการทําฝนเทียมที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดี

วิธีการก็คือ ในช่วงระยะเวลาก่อนถึงวันทําพิธีเปิดและพิธีปิด การแข่งขันโอลิมปิค 2-3 วัน ทางเจ้า หน้าที่ของกรุงปักกิ่งจะยิงจรวดบรรจุสารเคมีขึ้นฟ้าเหนือกรุงปักกิ่ง ให้ไประเบิดท่ามกลางก้อนเมฆเป็นการเร่งให้ฝนตก นั่นก็เท่ากับว่า เป็นการรีดเมฆให้กลั่นตัวเป็นเม็ดฝนให้หมดจากน่านฟ้ากรุงปักกิ่ง เพื่อที่จะได้ไม่ตกในวันพิธีเปิดและปิดกีฬา

วิธีการนี้นอกจากจะทําให้งานใหญ่ระดับชาติดําเนินไปได้อย่างราบรื่นแล้ว ฝนยังช่วยชะล้างมลพิษในอากาศของกรุง ปักกิ่งที่มีระดับมลพิษในอากาศสูง กว่าระดับมลพิษที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) รับรอง ถึง ๒-๓ เท่า นับเป็นการยิงจรวด นัดเดียวได้ประโยชน์ถึง 2 สถาน

พิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2551 นั้นตรงกับปฏิทินตะวันตก วันที่ 8 เดือน 8 ค.ศ. 2008 ซึ่งถือเป็นตัวเลขมงคลอย่างยิ่งของคนจีน ถือเป็นคติความเชื่อโบราณ แต่ขณะเดียวกันก็เลือกใช้วิธีห้ามฝนตกด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ นับว่าเป็นการผสมผสานกันทางเทคโนโลยีชนิดที่เรียกว่าตะวันตกพบตะวันออกอย่างแท้จริง

ทีนี้มาว่ากันด้วยวิธีการปักตะไคร้เป็นความเชื่อที่มีมาช้านานของไทย ไม่พบหลักฐานว่ามีมาแต่เมื่อครั้งใด อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากวิธีการป้องกันฝนตกวิธีอื่นๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว เราลองมาดูวิธีการแบบที่เรียกว่า “วิธีการแบบบ้านๆ” ดูบ้าง ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีพิธีกรรมอะไรซับซ้อน โดยจะกระทำพิธีตรงลานดินกลางแจ้ง

สําหรับสังคมเมืองในปัจจุบันที่หาลานดินที่โล่งกลางแจ้งได้ยากก็เคยเห็นมีคนนําเอากระถางหรือภาชนะใส่ดิน แล้วนําไปวางกลางแจ้ง แล้วปักตะไคร้ลงในภาชนะนั้นแทน ซึ่งวิธีการก็แค่เพียงปักตะไคร้ลงดิน โดยเอาด้านปลายลงดินให้ด้านโคนชี้ฟ้า พิจารณาดูแล้วก็ถือว่าเป็นเจตนาที่จะทำการให้มันฝืนธรรมชาติโดยตัวของมันเอง พระพิรุณเห็นเข้าคงจะนึกขันไม่ทันจะโปรยปรายละอองฝนลงมายังพื้นโลก

ลองสอบถามคนเคยมีประสบการณ์หลายคนก็ตอบตรงกันว่า ระหว่างทำพิธีปักตะไคร้ก็กลั้นใจตั้งจิตอธิษฐานบนบานศาลกล่าวแต่สิ่งดีๆ ตามแต่จะนึกเอาเพื่อให้เทวดาเมตตา ไม่ได้มีคำสวดหรือคาถาบทไหนเป็นการเฉพาะ

แต่สิ่งที่ดูจะเป็นหลักการสำคัญในการปักตะไคร้น่าจะอยู่ที่คนปัก ส่วนใหญ่เชื่อกันว่า ถ้าจะให้ได้ผลดีต้องให้สาวพรหมจรรย์เป็นผู้ปัก ส่วนทางมอญพระประแดง สมุทรปราการ มีคติต่างออกไปเพื่อเสริมเติมความเข้มขลังว่า คนปักจะต้องเป็นลูกคนเล็กของครอบครัวด้วย

ประเด็นสําคัญคือ การเลือก คุณสมบัติของคนปักตะไคร้ จากการ ที่ผมได้พูดคุยกับผู้คนในหลายถิ่นก็พบว่าต้องเป็นสาวพรหมจรรย์เหมือนกัน จะเว้นก็แต่ที่บ้านของผมที่สมุทรสาคร ส่วนใหญ่จะใช้แม่หม้ายเป็นคนปัก และเมื่อผมนําเรื่องดังกล่าวนี้ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนบ้านอื่นก็มักพูด เป็นเสียงเดียวกันว่าแปลก ผมจึงได้ไปสอบถามคนปักตะไคร้แถวบ้านที่มีผลงานดีเยี่ยมที่สุดคนหนึ่ง ได้รับความไว้วางใจให้ปักมาแล้วหลายงาน ติดต่อกัน เนื่องจากภายหลังการปัก ตะไคร้ลมหอบเอาเมฆปลิวหายได้ผล ชะงัดทุกครั้ง

คนที่ผมไปคุยด้วยคือ น้าสาคร มาปากลัด บ้านอยู่ย่านตําบลบ้านเกาะ น้าสาครเล่าว่า การปลูกตะไคร้ไล่ฝน เอาแน่ไม่ได้ เพราะเรื่องฟ้าเรื่องฝนไม่มีใครห้ามได้ หากมันจะตกมันก็ตก อย่างเช่นคราวก่อนน้าไปร่วมงานเพื่อนต่างหมู่บ้าน เมื่อเกิดฝนตั้งเค้าขึ้นแม่ครัวภายในงานก็จัดแจงปลูกตะไคร้ ปลูกเสร็จไม่นานฝนก็เทลงมาไม่ลืมหูลืมตา

นอกจากนี้ น้าสาครยังระบุอีกว่า ในการเลือกคนปักตะไคร้ต้องเลือกเอาแม่หม้ายที่มีสามีคนเดียว รักเดียวใจเดียว โดยเลือกเอาจากบรรดาคนที่มาช่วยในงานนั่นเอง เพราะใครเป็นใครก็รู้จักมักคุ้นกันดีอยู่แล้ว หากมีแม่หม้ายหลายคนก็ต้องปรึกษาหารือกันว่าใครจะเหมาะสมที่สุด

นางสาคร มาปากลัด ชาวไทยเชื้อสายมอญบ้านอ้อมโรงหีบ ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร สาธิตการปักตะไคร้

“วันงานศพยาย [มารดาของนางสาคร – ผู้เขียน] ฝนครึ้มมา ก็คุยกันในครัวว่าจะหาใครปลูกตะไคร้ งานนั้นมีฉันคนหนึ่ง ยายยา นังแตน คุยกันไปคุยกันมา ตกลงเอาฉัน เพราะยายยา ชักจะมีหนุ่มมาเมียงมอง ไอ้แตนยังสาวสาวยอยู่ก็ยังมีหนุ่มจีบเยอะ…อย่างเมื่อตอนงานแต่งไอ้หมวยนั่นไง ใครปลูกก็ไม่รู้ ฝนเทโครม น้ำท่วมหม้อไหกะละมังลอยต้องตามเก็นกัน…”

สมัยเป็นเด็ก ผมติดแม่แจ เวลาแม่ไปงานบวชงานแต่งแถวบ้านก็ตามไปด้วย ขณะที่แม่เข้าไปช่วยงานในครัวขูดมะพร้าว ตำน้ำพริก หั่นผักหั่นเนื้อ ผมก็นั่งเล่นอยู่ข้างแม่ ทำให้ได้ยินทุกเรื่องที่แม่ครัวเขาคุยกัน บอกได้คำเดียวว่า ช่วงเวลาที่ผู้หญิงเขารวมตัวกันแบบนั้น เขาเป็นผู้ใหญ่ในครัว พวกผู้ชายก็รวมกลุ่มกับผู้ชายไกลออกไป จัดการหุงข้าว ต้มน้ำชา ปิ้งขนมหม้อแกง เป็นงานที่ต้องอยู่ใกล้กองไฟขนาดใหญ่แสบร้อนผิว ผู้หญิงเขาไม่ทำ

นอกนั้นก็งานขนของแบกหาม รับแขก เสิร์ฟอาหาร จัดแจงพิธีสงฆ์ และพิธีกรรมต่างๆ หากผู้ชายหลุดเข้าไปในครัวอันเป็นถิ่นของพวกผู้หญิง ก็จำต้องนอบน้อมรู้อยู่เจียม เรื่องที่พวกผู้หญิงคุยกันในครัวจะเป็นใต้สะดือหรือเหนือสะดือ หากต่อปากต่อคำกันแล้ว ผู้หญิงไม่มีทางลงให้ผู้ชายในนาทีนั้นเด็ดขาด

เรื่องในครัวนั้นผู้หญิงเขาเหมาหมดว่างั้นเถอะ รวมทั้งการดูแลบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางผีสางและฝนฟ้าสิ่งเหนือความคาดหมายหากงานใหม่ฝนตั้งเค้าเมฆครึ้มขึ้นมา คนที่จะต้องลุกขึ้นมาจัดการคือกลุ่มแม่ครัวพวกนี้เอง

งานบวชงานหนึ่ง ผมจำได้ติดหูอยู่รางๆ พวกแม่ครัวหารือกันเรื่องจะให้ใครเป็นคนปักตะไคร้ไล่ฝน ถกเถียงกันลั่นครัวเหมือนจะส่งสาวงามหมู่บ้านขึ้นประกวดเทพี ถ้อยคำคล้ายจะเคร่งเครียดแต่ก็ขบขันกับความสัปดีสีปดน

“เอาอีช้อนนั่นไง” คนหนึ่งแย้มว่า

งานที่แล้วมันปักฝนตกห่าใหญ่ มึงจำไม่ได้เรอะ ฝีมือไม่ถึง” เสียงใครสักคนแทรกขึ้นมากลางวง

“อีเพิ่มก็ได้อยู่หรอกกูว่า ผัวตายห่าไปหลายปี ไม่ค่อยได้ปัก คงเหงาพิลึก”

อีกคนขัด “ปีกลายมันปักงานปิดทองหลวงพ่อโต ฝนเทโครมเดียวหม้อกระจาย กระทะกระโถนลอยน้ำคว้ากันไม่ทัน…”

“เออ ใช่ ไม่รู้ไปแอบมีผัวซุกไว้ที่ไหนหรือเปล่า”

แม้จะเป็นที่รู้กันดีว่าฝนฟ้าเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีใครสามารถคุมได้อย่างใจตัว เป็นความจริงที่เราต้องยอมรับและปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติมากกว่าการคิดเอาชนะธรรมชาติ ที่ไม่มีความเที่ยงแท้ เพราะวันใดวันหนึ่งธรรมชาติก็อาจเอาคืนกับมนุษย์ตัวเล็กๆ ผู้บังอาจท้าทายอย่างที่ธรรมชาติกำลังส่งสัญญาณให้เห็นในปัจจุบันในหลายแห่งของโลก พูดถึงตรงนี้ก็นึกถึงคำพูดของน้าสาครที่ว่า “เพราะมันเป็นธรรมชาติ แต่จะไม่ให้ทำอะไรเลยก็ไม่ได้ ก็ลองดู เป็นที่พึ่งทางใจอะไรกันไป”

การปักตะไคร้ไล่ฝนในปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่ามีปัจจัยสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ควบคู่กันไปคือ คนปักต้องเป็นสาวพรหมจรรย์ แม้ไม่อาจระบุที่มาได้ว่าเหตุใดต้องเป็นเช่นนี้ แต่ก็มีเค้าลางวิธีคิดเรื่องสาวพรหมจรรย์อยู่ในหลายแห่ง เช่น การใช้สาวพรหมจรรย์กวนข้าวทิพย์บูชาพระพุทธเจ้า หรือแม้แต่ความเชื่อเรื่องการฝังร่างสาวพรหมจรรย์ลงในหลุมเสาในการสร้างเมืองสมัยโบราณ อันอาจเป็นชุดความเชื่อเรื่องของความบริสุทธิ์ทางด้านจิตใจมากกว่าที่จะเป็นเรื่องทางเพศหรือการตีตราทางเพศอย่างที่มีบางท่านตีความด้วยบริบทปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้สาวพรหมจรรย์ในการปักตะไคร้ในปัจจุบันได้กลายเป็นวาทกรรมที่ใช้ในการล้อเลียนเชิงตลกขบขันกรณีที่ปักตะไคร้แล้วฝนยังตก และแทนที่จะให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องของสภาวะทางธรรมชาติ แต่กลับเลือกที่จะพุ่งเป้าไปตั้งคำถามกับคนปักตะไคร้ในทำนองข้องใจว่าเป็นสาวพรหมจรรย์ หรือ “บริสุทธิ์” จริงหรือไม่ แม้จะแลดูเหมือนเป็นเรื่องล้อกันเล่น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องเล่นที่ผู้หญิงหลายคนคงไม่สนุกด้วย

โดยเฉพาะในสังคมเก่าที่ผู้ชายยังให้ความสำคัญกับความบริสุทธิ์ทางเพศมากกว่าความบริสุทธิ์ทางศีลธรรมของผู้หญิง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2561