เผยเหตุประกาศห้ามเล่น “ลูกข่าง-ส้อนหา (ซ่อนหา)” ในสมัยรัชกาลที่ 5

ภาพถ่ายการเล่นไพ่สมัยรัชกาลที่ 5 จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เป็นการจัดฉากเพื่อถ่ายรูปโดยตรง ฉากหลังวาดเป็นภาพพระพุทธรูปและพระเจดีย์ (ภาพจากหนังสือสมุดภาพกรุงเทพฯ)

การเล่นของเด็กในสมัยต่างๆ ล้วนมีประโยชน์ (และโทษ) ในตัว การศึกษาวัฒนธรรมการละเล่นและของเล่นย่อมสะท้อนสภาพแวดล้อมทางสังคมในสมัยนั้นได้ ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปในยุคหนึ่ง ประเทศไทยเคยมีประกาศห้ามเล่น “ลูกข่าง” และ “ส้อนหา” (ซ่อนหา) ด้วย

ต้องยอมรับว่า ระบบการศึกษาของไทยในทศวรรษ 2400 ยังอยู่ระหว่างปรับปรุงและพัฒนาควบคู่ไปกับการจัดระเบียบพื้นที่ต่างๆ การละเล่นหรือกิจกรรมของเด็กที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานเส้นทางสัญจรต่างๆ ก็ถูกรวมเข้าไปอยู่ในการจัดระเบียบด้วย

เอนก นาวิกมูล ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เขียนเล่าในหนังสือ “ของเล่นของเรา Our Toys” อธิบายการพบข้อมูลประกาศที่ออกเมื่อ พ.ศ. 2417 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชโองการออกประกาศห้ามเด็กเล่นต่างๆ ซึ่งจะมีส่วนขวางทางจนอาจส่งผลกระทบต่อผู้สัญจร หรือเป็นไปได้ว่าด้วยสาเหตุเรื่องผลกระทบต่อการศึกษาของเด็กเอง

ผู้เขียนหนังสือเล่าว่า ค้นพบประกาศจากหนังสือ “เอกสารเรื่องจัดการศึกษาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เป็นหนังสือในวาระฉลองวันเฉลิมถวัลยราชสมบัติครบ 100 ปี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประกาศว่าด้วยการห้ามเด็กเล่นที่ออกมาในปี พ.ศ. 2417 มี 2 ฉบับ ประกาศฉบับแรกมีเนื้อความ 3 ลำดับที่น่าสนใจ ซึ่งผู้เขียนหนังสือค้นหาข้อมูลความหมายของ “การเล่น” ในประกาศจากพจนานุกรมราชบัณฑิตสถานและหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2416 มาประกอบ

ประกาศฉบับแรก ลำดับแรก กล่าวถึงการเล่นพนันผู้ใหญ่ 12 อย่าง ซึ่งอาจล่อลวงให้เด็กเล่นจนเสียเวลาศึกษา ประกาศระบุโทษ กรณีจับได้ ให้ปรับและเฆี่ยนเจ้ามือ 30 ที ให้ผู้ใหญ่มารับเด็กภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าพ้นจากเวลาที่กำหนดแล้วต้องจ่ายค่าปรับเป็นค่าส่งตัว

ลำดับที่สอง ว่าด้วยการเล่นของเด็กตามหัวข้อ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการเล่นพนัน แต่เชื่อว่าการเล่นเหล่านี้อาจกีดขวางพื้นที่เดินทาง กรณีที่เล่นแล้วกีดขวางก็เป็นไปได้ว่าเข้าข่ายในประกาศนี้ แต่ถ้าเล่นในที่พักอาศัยส่วนตัวถือว่าไม่ละเมิด

ลำดับที่สองนี้ ระบุการเล่นไว้ 13 ประเภท ได้แก่

1. เล่นลูกข่าง
2. ช่วงไชย
3. จ้องเต
4. ทอยเทศ
5. ทอยกอง
6. อยู่โยง
7. ส้อนหา (คำว่า “ซ่อนหา” พบความหมายว่า การเล่นของเด็กชนิดหนึ่ง ฝ่ายหนึ่งซ่อน ฝ่ายหนึ่งหา คนที่หาผู้อื่นจะก้มหน้านับ 1 ถึง 10 ระหว่างนั้นให้ผู้อื่นไปซ่อนตัว เมื่อพบคนแอบคนใด คนนั้นต้องมาเป็นคนหาแทน แต่ถ้าคนแอบมาแตะตัวคนหาได้ก่อนที่จะถูกร้องขาน คนหาต้องหาต่อจนกว่าจะหาคนมาเป็นแทน)
8. กุลาส้อนผ้า
9. เล่นตี่
10. เล่นเหว้า (เล่นว่าว)
11. เล่นตะกร้อ
12. จุดดอกประทัด
13. จุดดอกไม้เพลิง

ลำดับที่สาม เป็นกลุ่มการเล่นที่เด็กเล่นตามลำพัง ลักษณะการเล่นใช้เนื้อที่น้อย ในประกาศไม่ได้ระบุว่าต้องจับปรับ แต่ให้ผู้ใหญ่คอยตักเตือนห้าม

ผู้เขียนหนังสือยกถ้อยคำจากหนังสือรวบรวมประกาศที่แจ้งว่า

“แลการเล่นต่างๆ ซึ่งกล่าวมาแต่ต้นนั้น ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าเปนเครื่องจูงใจให้เด็กเพลิดเพลินเอิบอาบเลยลามไปจนเล่นการพนันใหญ่คือไพ่ต่างๆ 1 ดวด 1 ถั่ว โป 1 จนเด็กยับเยินเปนหนี้เปนทาส แลพาบิดามารดาเป็นหนี้เปนทาส เข้าด้วยก็มีเปนมาก เพราะเด็กฝึกใจมาตั้งแต่เล็กจนคุ้มใหญ่ จะฝึกหัดดัดแปลงเมื่อโตก็ดัดเปนอันยาก

จึงโปรดเกล้าฯ ว่าตั้งแต่นี้สืบไปภายหน้า ให้บิดามารดา ญาติ ฤานายเงินของเด็กห้ามปรามเด็ก อย่าให้ประพฤติการเล่นอย่างที่ว่ามาแล้ว ให้เอาใจใส่ฝึกสอนเด็กให้รู้จักธรรมเนียมที่ดี คือให้เรียนหนังสือ ให้เรียนเลข การศิลปะศาสตร์วิชาช่างต่างๆ แลการวิชาค้าขายทำมาหากินตามนิไสของเด็กที่ชอบฝึกหัดสิ่งใดได้วิชาสำหรับตัวเด็กไว้อย่างหนึ่ง จะได้เปนที่พึ่งของเด็กต่อไปในภายน่า…”



อ้างอิง: 

เอนก นาวิกมูล. ของเล่นของเรา Our Toys. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 ตุลาคม 2561