พระ-เถร-เณร-ชี ? สำรวจสภาพบุคคล 4 จำพวกในพุทธศาสนา

คณะพระสงฆ์บวชใหม่ในโคลัมโบเมืองหลวงทางเศรษฐกิจของประเทศศรีลังกา ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2016 ( AFP PHOTO / LAKRUWAN WANNIARACHCHI)

เมื่อเดือนกันยายน 2541 ผมไปฟื้นความหลังที่อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขณะที่ผ่านวัดชีโพนมีคนถามว่า “ชีโพน” แปลว่าอะไร ผมก็ตอบเขาไม่ได้ จะเดาตอบว่าครั้งหนึ่งมีชีมาโพนช้างที่นี่ก็ไม่กล้า จึงเพียงเล่าให้เขาฟังว่าวัดนี้แต่เดิมชื่อวัดชีตาเห็นว่ามีคนมาเห็นชีที่นี่ แต่ผู้รู้ภาษาบาลีหวนเห็นว่าไม่เหมาะที่จะเป็นชื่อวัด จึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อ “วัดชีโพน”

ผู้ใหญ่ที่อยู่อำเภอผักไห่เล่าให้ฟังเมื่อ พ.ศ. 2500 ว่าอ้ายอ่วมอกโรยถูกประหารผ่าอกที่หน้าวัดชีโพนในสมัยรัชกาลที่ 5

นึกถึงอาจารย์ท่านหนึ่งอยู่บางขุนเทียนเล่าให้ฟังว่าวัดนางนองนั้นแต่เดิมชื่อวัดนางนอน และวัดนางชีนั้นชื่อว่าวัดนางชี้ ว่ามีนางอะไรนางหนึ่งมานอนและมาชี้ที่นั่นสร้างเป็นวัดขึ้น

เรื่องต่างๆ เหล่านี้ฟังสนุกแล้วดี ความจริงคนไทยใกล้ชิดกับพระเถรเณรชีมาก คำเหล่านี้จึงติดปาก มีอะไรเกิดขึ้นก็ต้องนึกถึง ซึ่งจะเห็นได้จากคำอุทานของคนเฒ่าคนแก่สมัยก่อน เมื่อตกใจก็จะอุทานออกมาว่า “คุณพระช่วย” บ้าง “ตาเถรช่วย” บ้าง ที่พิสดารหน่อยก็เป็น “ตาเถรตกน้ำ” ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นก็ไม่ทราบ สุนทรภู่ก็เคยได้ลายแทงจากตาเถร (รำพันพิลาป)

ที่น่าสังเกตก็คือเมื่อพูดถึงนักบวชดังกล่าวจะลำดับตำแหน่งไว้ชัดเจนว่า “พระเถรเณรชี” จะเห็นว่า “เถร” อยู่ระหว่างพระกับเณร แสดงว่าเถรต่ำกว่าพระและสูงกว่าเณร ตามความที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงสอบถามสมเด็จพระสังฆราชแต่ครั้งยังเป็นสมเด็จพระวันรัต (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม ท่านบอกว่า เถรเป็นพวกครึ่งพระครึ่งเณร อาศัยวัดอยู่ตามศาลามุขหน้าโบสถ์ หลังโบสถ์ พระระเบียงหรือพะเพิงอะไรตามแต่จะหาได้ โดยมากพึ่งพระสงฆ์ ขอผ้าและอาหารที่เหลือไปบริโภค ทำการให้แต่พระสงฆ์ตามสมัครใจ ศีลนั้นไม่ปรากฏว่าถืออย่างไร อาจเป็นศีลสิบ ศีลแปด ศีลห้า หรือไม่ถือศีลเลยก็ได้ การนุ่งห่มนั้นใช้ผ้าเหลืองตามแต่จะหาได้ ลางคนก็นุ่งแต่ผ้าอาบหรือสบงเท่านั้น หรือมีผ้าห่มพาดบ่าอย่างที่เรียกว่าพาดควายก็มี และมีไตรจีวรครองเหมือนพระสงฆ์ก็มี ความประพฤติเอาแน่ไม่ได้ ที่ดีเหมือนพระภิกษุก็มีคนเคารพนับถือ ที่เลวถึงสูบกัญชาก็ไม่มีคนนับถือ แต่ก่อนมีที่วัดสระเกศมากกว่าที่อื่น

เหตุที่พวกตาเถรถือศีลไม่มีกำหนดเหมือนพวกยายชีนุ่งห่มก็ไม่มีระเบียบเพียงแต่ตาเถรใช้ผ้าเหลือง ยายชีใช้ผ้าขาว อาศัยวัดเหมือนกัน ตาเถรเป็นชาย ยายเป็นหญิง จึงมีนิทานตาเถรกับยายชีเล่ากันเป็นที่ครื้นเครง และด้วยเหตุที่ตาเถรมีรูปเป็นภิกษุแต่ไม่มีศีลเท่าภิกษุและแก่เกินเณรทางกฎหมายจึงวางไว้ระหว่างภิกษุกับเณร ใช้คำติดกันว่าพระภิษุสงฆ์เถรเณร บางทีจะเกิดเพราะบวชเป็นเณรแล้วไม่บวชเป็นพระเมื่ออายุครบแต่ไม่สึก หรือบวชเป็นพระแล้วประพฤติตัวเหลวไหลจึงเลื่อนลงเป็นเถร อย่างเสภาเรื่องเถรสังของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ที่แต่งไว้ว่า “กล่าวถึงเถรสังบางกระจะ บวชเป็นพระแล้วเลื่อนลงเป็นเถน”

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยตรัสเรียกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “พี่ทิด” บ้าง “พี่เถร” บ้าง รัชกาลที่ 4 เห็นจะทรงรำคาญ เพราะคำว่า “เถร” หมายได้ทั้งดีและไม่ดี จึงทรงกำหนดใหม่ให้เรียกพวกตาเถรทั้งหลายนั้นว่า “เถน” (ในภาษาบาลี เถน แปลว่า ขโมย) เพื่อให้เขียนต่างกัน

(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, (ขวา) พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

มีสำนวนไทยที่ชอบพูดกันอีกสำนวนหนึ่งคือ “ชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์” บรรดาแม่ชีทั้งหลายตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดฝ่ายชั่วจึงมาอยู่กับชี ฝ่ายดีทำไมไปอยู่กับสงฆ์ ความจริงชีในที่นี้เป็นคำรวมหมายถึงพระสงฆ์เอง คือพระจะดีชั่วอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของท่าน (เรื่องมันเลยยุ่งอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้) ในสมัยรัชกาลที่ 3 สามเณรเล่นเตะตะกร้อมีคนไปกราบทูลก็ทรงตัดบทว่า เจ้ากูจะเล่นบ้างก็ช่างเจ้ากูเถิด หรือครั้งหนึ่งพระเถรไปเที่ยววัดพระเชตุพนฯ ไปเดินเบียดเสียดกับผู้คน มีคนไปกราบทูลก็รับสั่งว่าคนมากก็ต้องเบียดกันบ้าง พระเณรที่ชอบปลีกวิเวกก็ได้ใจถือว่าการเดินเบียดสีกาโดยไม่เจตนาไม่เป็นไร (ความจริงเจตนาแต่กำหนดใจว่าไม่เป็นไร)

มีคำที่เรียกพราหมณ์และนักบวชอีกคำหนึ่งว่า “ธชี” หรือ “ทชี” ก็เรียก ท่านที่เคยอ่านหนังสือมหาเวสสันดรชาดก จะพบว่าเรียกชูชกว่า ธชี คำทั้งสองนี้ตามความเห็นของพระธรรมนิเทศทวยหาญ (อยู่ อุดมศิลป์) ว่าควรใช้ต่างกันดังนี้

1. ผู้ที่ออกบวชนั้น ถ้าออกบวชจากราชตระกูล ควรเขียนเป็น “ธชี” คำว่า “ธ” ย่อมาจากคำว่า “ท้าวเธอ”

2. ผู้ที่ออกบวชนั้น ไม่ได้ออกบวชจากราชตระกูลทั้งไม่เกี่ยวข้องกับราชตระกูลด้วย ควรเขียนเป็น “ทชี” คำว่า “ท” ย่อมาจากคำว่า “ท่าน”

นอกจากนี้ยังมี “ชีปะขาว” (ชีผ้าขาว) เป็นผู้ชายนุ่งห่มขาว ชอบมาช่วยหล่อพระพุทธรูปที่คนอื่นหล่อไม่สำเร็จหล่อให้แล้วก็หายไปไม่ประสงค์จะให้คนรู้จัก ชีปะขาวนี้บางทีก็ไม่ใช่มนุษย์เป็นเทวดาปลอมแปลงมาก็มี ฉะนั้น ชีปะขาวจึงเหนือชั้นกว่าตาเถรหรือเถน


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 21 มีนาคม พ.ศ.2562