ข้อสังเกตทางสังคม-วัฒนธรรม ต่อพฤติกรรม “ถ้ำมอง” และเรื่อง “ปมในใจ”

ภาพประกอบเนื้อหา "ถ้ำมอง" ภาพจากจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

เป็นธรรมดาของมนุษย์อย่างหนึ่งที่มีความสุข ความตื่นเต้นกับการแอบดูผู้อื่นแก้ผ้า เปลือยร่าง หรือร่วมเพศ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดีกรีความอยากแอบดูดังกล่าว ว่าอยู่ในระดับใด ถ้าไม่สามารถควบคุมความต้องการแอบดูของตนเองได้ เช่น กระหาย ใคร่จะแอบดูอย่างรุนแรง โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรม การยอมรับของสังมคม หรืออันตรายจากการแอบดูนั้น บางคนไปไกลมาก ต้องการเพียงแอบดูอย่างเดียวเท่านั้นโดยไม่สนใจการร่วมเพศเลย ทั้งหมดนี้ต้องถือว่าผู้นั้นเป็นโรคถ้ำมอง (voyeurism) แล้ว ซึ่งมักจะเป็นกับผู้ชายโดยเริ่มมีอาการซ่อนมาเงียบ ๆ ก่อนอายุ 15 ปีแล้ว

ในบางประเทศหรือบางสังคม มีร้านอาหารหรือภัตตาคาร มีสาวเสิร์ฟอาหารเปลือยอก นุ่งน้อยห่มน้อย การแสดงระบเปลื้องผ้า-ระบำโป๊ การดูภาพนู้ด จากหนังสือ ซีดี หรือสื่อต่าง ๆ ก็จัดอยู่ในลักษณะ “ถ้ำมอง” เหมือนกัน แต่การกระทำดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับได้ ผู้ใช้บริการหรือผู้ชมควบคุมตนเองได้ และการได้ชมก็เพื่อเก็บไว้ในความทรงจำเพื่อเร้าอารมณ์เรื่องเพศในขั้นต่อไป ยังไม่จัดว่าผิดปกติหรือวิปริต หรือเป็นโรคถ้ำมองแต่อย่างใด

Advertisement

ความต้องการถ้ำมองอย่างรุนแรงโดยไม่อาจยับยั้งชั่งใจได้ เสี่ยงต่ออันตราย “เช่น พลัดตก หรือถูกเหยื่อสวนกลับ” หรือเสี่ยงต่อการเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม ถูกประณาม และไม่หวั่นไหว หากใครมาพบเห็นการกระทำของตน เช่น เจาะฝาผนังห้องน้ำ ห้องแต่งตัวหรือห้องนอนของเพื่อนบ้าน แอบขึ้นต้นไม้เพื่อมองผ่านช่องหน้าต่าง แม้กระทั่งให้ภรรยาหรือคู่นอนของตนร่วมเพศกับชายอื่นต่อหน้าต่อตาก็ถือเป็นความผิดปกติ สังคมไม่ยอมรับ เป็นวิปริตทางเพศชนิดถ้ำมองเช่นนี้กัน

การเกิดพฤติกรรมอปกติ จนเข้าข่ายโรคถ้ำมองนั้น น่าจะมีเหตุมาจากการอบรมเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมบางประการ เช่น เข้มงวดกวดขันจนเกินไปจนเกิด “ปมใจ” อะไรบางอย่าง ประกอบกับมีโอกาศและการขาดศีลธรรม ขาดการอบรมที่ดี โรคถ้ำมองก็มักถามหาได้เสมอ

อธิบายเพิ่มเติมว่า “ปมใจ” นั้นก็คือ ความอยากรู้อยากเห็นที่ถูกปิดกั้นรุนแรงครั้งเป็นเด็กเล็ก ๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงวัยแอบดู (peeping period) โดยประมาณ 3-5 ขวบ เด็กชายเรียกว่าปิ๊ปปิ้งทอม เด็กหญิงเรียกว่าปิ๊ปปิ้งแมรี เป็นช่วงที่เด็กอยากรู้ว่าผู้ใหญ่มีอวัยวะเพศเช่นเดียวกับตนหรือไม่ เด็ก ๆ อาจแอบดูจากรูกุญแจ กระตุกกางเกงแพรของพ่อ เปิดกระโปรงพี่เลี้ยง หรือมุดใต้โต๊ะแอบดูของผู้อื่น ซึ่งมิใช่สัปดน แต่เพราะอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติ ผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจอาจคาดโทษหรือติเตียนรุนแรงจนเด็ก ๆ ไม่กล้าทำเช่นนั้นอีก และไม่มีคำอธิบายใด ๆ

ความคับข้องใจย่อมผลักดัน “ปมใจ” ให้เกิดขึ้นอยู่เงียบ ๆ เมื่อเขาโตขึ้นและมีโอกาส ปมใจก็จะผลักดันให้เกิดการแอบดูเพื่อตอบสนองความอยากรู้ อยากเห็นเล็ก ๆ ที่เคยถูกปิดกั้นนานมาแล้วเท่านั้น ผู้ที่หย่อนศีลธรรม ขาดความยับยั้ง ปมใจย่อมใหญ่ แรงผลักดันย่อมมาก ความอยากรู้อยากเห็นจึงผลักดันให้เป็นโรคแอบดูไปได้


หมายเหตุ: พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ระบุว่าคำว่า “ถ้ำมอง” มี 2 ความหมาย ความหมายแรกเป็นคำนามหมายถึง “ตู้หรือหีบที่มีช่องเล็ก ๆ ซึ่งมีแว่นขยายสำหรับดูภาพยนตร์สั้น ๆ หรือรูปต่าง ๆ ให้คนดูได้ทีละคน” ความหมายที่สองเป็นคำกริยาแปลว่า “แอบดูตามรูหรือตามช่อง เพื่อดูผู้หญิงทำกิจส่วนตัว, เรียกผู้ที่มีพฤติกรรมเช่นนั้น ว่า พวกถ้ำมอง”

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ในความหมายที่สอง ราชบัณฑิตยสถาน กำหนดการแอบดู “ผู้หญิงทำกิจกรรมส่วนตัว” จึงจะเข้าข่ายเป็น “ถ้ำมอง”


หมายเหตุ : คัดลอกเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “โรคถ้ำมอง” เขียนโดย ส.สีมา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 สิงหาคม 2561