ประเพณี “อาบน้ำร่วมกัน” กับแนวคิด Skinship ถ้ารู้สึก “โหวง” ให้อาบน้ำเชื่อมสัมพันธ์

ภาพ Bathhouse Women โดย Torii Kiyonaga, 1752-1815. ไฟล์ต้นฉบับจาก Library of Congress (ภาพนี้ผ่านการตกแต่งเพื่อการเผยแพร่) https://www.loc.gov/pictures/collection/jpd/item/2008660821/

อาบน้ำร่วมกัน เป็นประเพณีเก่าแก่ที่พบในหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่นในแถบเอเชียสมัยก่อน ผู้คนถือว่าการอาบน้ำถือเป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่ช่วยชำระล้างทั้งร่างกายและจิตใจ สำหรับชาวกรีก สถานที่อาบน้ำเป็นพื้นที่สำหรับการแสดง ไม่ว่าจะเป็นร้องเพลง เต้นรำ หรือเป็นที่สำหรับเล่นกีฬา ในขณะเดียวกันโรงอาบน้ำของชาวโรมันก็เป็นเหมือนศูนย์กลางของชุมชน โดยผู้คนจะมารวมกันเพื่อนั่งกินดื่ม ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ หรือมาพูดคุยถกเถียงกันเรื่องการเมือง

ในยุคปัจจุบัน โรงอาบน้ำรวมกลายเป็นของหายาก ประเทศที่ยังพอมีให้พบเห็นได้นั้นก็ยังมีอยู่บ้าง เช่น ในประเทศญี่ปุ่น สวีเดน ตุรกี ส่วนประเทศแถบที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่อย่างลอนดอน นิวยอร์ก หรือซิดนีย์นั้น แทบหาร่องรอยของสถานที่อาบน้ำรวมไม่เจออีกแล้ว ผู้คนต่างคุ้นเคยกับการอาบน้ำในห้องน้ำแบบส่วนตัว การอาบน้ำเป็นเพียงกิจวัตรที่ทำเพื่อชำระล้างร่างกาย ไม่มีความหมายอื่นใดมากกว่านั้น

การลดน้อยถอยลงของวัฒนธรรมการอาบน้ำร่วมกันแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงจากสังคมเล็ก ๆ ที่เฟื่องฟูด้วยความเชื่อ ไปสู่สังคมเมืองใหญ่ที่มีผู้คนมากมายแต่กลับมีความสัมพันธ์ที่ห่างเหิน แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงนี้จะมีข้อดีคือส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในการผลิตสินค้าและบริการในปริมาณมากตามปริมาณผู้คนที่เพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นต้นเหตุของความรู้สึกเดียวดาย ความเฉยชา รวมถึงปัญหาทางจิตเวช ไม่ว่าจะเป็นความวิตก หรือความหวาดกลัวในการเข้าสังคม คำว่า ‘ความแปลกแยกจากสังคม’ (Urban alienation) เป็นคำที่พบว่ามีการใช้อยู่บ่อยครั้งโดยนักสังคมวิทยาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และยังเป็นคำที่มักใช้อธิบายสภาพสังคมในปัจจุบัน

โรงอาบน้ำเป็นเหมือนสถานที่ที่รวมผู้คนต่างบ้านต่างเรือนมาอยู่ในสถานที่ และสถานการณ์เดียวกัน เปิดโอกาสให้ผู้คนได้มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างเปิดเผย ใกล้ชิดกันมากขึ้นจากการ “เปิดอก” คุยกันจริง ๆ! ดังนั้นหากจะพูดว่าการรื้อฟื้นวัฒนธรรมการอาบน้ำร่วมกันก็เหมือนการช่วยแก้ไขปัญหาความโดดเดี่ยวของผู้คนในสังคมใหญ่ในยุคนี้ก็คงไม่ผิดนัก

ปัจจุบันผู้คนมากมายต่างหันไปพึ่งพาการเล่นโยคะ หรือแยกตัวออกไปฝึกปรือสติ สมาธิอย่างโดดเดี่ยวเพื่อระงับความรู้สึก “โหวง” ที่เกิดจากการใช้ชีวิตแออัดในรถไฟ หรือการเอาแต่นั่งจ้องหน้าจอคอม ทั้งที่จริงแล้วการอาบน้ำก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยทำให้เรามีสมาธิกับร่างกายตนเอง อีกทั้งยังเป็นวิธีที่ทำให้เราได้พบเจอผู้อื่น ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคมไปพร้อม ๆ กัน ปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวนี้มีคำเรียกเฉพาะในภาษาญี่ปุ่นว่า ฮาดากะ โนะ ทสึคิอาอิ (裸の付き合い ) ซึ่งแปลว่าการพบปะพูดคุยกันในขณะเปลือย หรือที่สมัยนี้เรียกกว่า Skinship นั่นเอง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“Why we need to bring back the communal bathing”. Aeon. Online. <https://aeon.co/ideas/why-we-need-to-bring-back-the-art-of-communal-bathing>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 สิงหาคม 2561