ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ สัมพันธ์กับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่สูงสุดของท้องถิ่นและจักรวาล

คูน้ำคันดินและกำแพงเมืองเชียงใหม่ มองเห็นเทือกเขาดอยสุเทพ ภาพถ่ายของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เมื่อสำรวจครั้งราวต้นทศวรรษที่ ๒๕๑๐

ส่วนพื้นที่บริเวณ “ภูเขา” นับเป็นองค์ประกอบสำคัญของภูมิวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นกว่าลักษณะภูมิประเทศอื่นใด เพราะมักจะสัมพันธ์กับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่สูงสุดของท้องถิ่นและจักรวาลที่มาจากเบื้องบน ในขณะที่น้ำและผืนดินเป็นเรื่องอำนาจข้างล่าง

ภูเขาที่โดดเด่นมีรูปลักษณะพิเศษ มักจะถูกกำหนดให้เป็นที่สถิตของอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ค่อนข้างสากลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งอินเดีย เนปาล ทิเบต และจีน อย่างเช่น ในแคว้นจามปาซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศเวียดนามนั้น มีเขาสูงที่ถือว่าเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์เป็นประธานของภูมิวัฒนธรรมในหลายๆ พื้นที่ เช่น “เขารังแมว” ที่สูงตระหง่าน ค้ำกลุ่มเทวสถานที่หมี่เซิน ของเทพเจ้าศรีษาณภัทเรศวร แห่งแคว้นจามเหนือ

ที่เมืองศรีเทพอันเป็นเมืองสำคัญมาแต่สมัยทวารวดี “เขาถมอรัตน์” คือเขาศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมือง มีการสร้างถ้ำที่อยู่บนยอดเขาเป็นถ้ำวิหารที่มีภาพสลักของพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ให้เป็นที่ผู้คนขึ้นไปประกอบพิธีกรรมตามฤดูกาล ตำแหน่งเขาถมอรัตน์นี้อยู่ทางด้านตะวันตกของเมืองศรีเทพ ซึ่งบรรดาศาสนสถานสมัยทวารวดีที่เมืองศรีเทพอันเป็นพุทธมหายานไม่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก แต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ลงมา ศาสนาฮินดูของขอมได้เข้ามาแทนที่ในการเป็นศาสนสถานสำคัญของเมือง ปราสาทประธานของศาสนานี้ หันหน้าทางทิศตะวันตกสู่เขาถมอรัตน์ นับเป็นเรื่องน่าสังเกตและค้นคว้าหาความหมายเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาของคนเมืองศรีเทพแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ ลงมา

ในเขตจังหวัดชัยนาท ลพบุรี และสระบุรี มีภูเขาหลวงลูกที่เป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมืองในท้องถิ่น เช่น เขาสรรพยา เขาสมอคอน เขาพระพุทธบาท และเขาพระพุทธฉาย ภูเขาเหล่านี้เคยเป็นแหล่งพิธีกรรมของคนโบราณมาแต่สมัยยุคเหล็กสืบมาจนถึงสมัยทวารวดี และลพบุรี จึงมีร่องรอยของโบราณสถานวัตถุเหลือให้เห็น

อีกทั้งมีการตั้งชื่อสถานที่และสร้างตำนานขึ้นมาอธิบายให้เห็นภูมิประเทศที่เป็นภูมิวัฒนธรรมของผู้คนแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาลงมา เช่น ตำนานเกี่ยวกับเขาสมอคอนในเขตเมืองลพบุรีที่เชื่อว่าเป็นสำนักของพระฤาษี ที่มีส่วนในการสร้างเมืองเชียงใหม่ สุโขทัย และศรีสัชนาลัยที่พระมหากษัตริย์สำคัญของแต่ละแคว้น เคยเสด็จมาศึกษาร่วมกันอันได้แก่พระยามังราย เจ้าเมืองเชียงใหม่ พระร่วง เจ้าเมืองสุโขทัย และพระยางำเมือง เจ้าเมืองพะเยา เป็นต้

ครั้นราวสมัยสมเด็จพระนารายณ์อันเป็นเวลาที่มีการฟื้นฟูเมืองละโว้ให้เห็นเมืองแปรพระราชฐานเป็นที่ประทับร้อนที่ทำให้เกิดชุมชนใหม่ๆ ขึ้นมากมายทั้งในเขตจังหวัดชัยนาท ลพบุรี และสระบุรี และมีการสร้างตำนานเรื่องรามเกียรติ์ที่ทำให้เกิดชื่อบ้านนามเมืองและท้องทุ่งภูเขาไปเกี่ยวข้องกับรามเกียรติ์เพื่อให้สอดคล้องกับพระนามของสมเด็จพระนารายณ์ขึ้น เช่น เมืองละโว้หมายถึงเมืองลพบุรี อันหมายถึงพระลพ ผู้เป็นโอรสของพระราม เมืองขีดขิน เขาสรรพยา เขาสมอคอน ทุ่งพรหมมาศ และเรื่องเล่าเกี่ยวกับหนุมานมาตอกศรที่ปักอกท้าวกกขนากผู้เป็นยักษ์ที่พระรามยิงศรสังหารแต่นอนสลบอยู่ เป็นต้น

ในลุ่มน้ำปิงตอนบนอันเป็นที่ตั้งเมืองเชียงใหม่ ก็มี “ดอยปุยและดอยสุเทพ” เป็นประธานของเมือง ในขณะที่บริเวณต้นน้ำปิงที่อำเภอเชียงดาวมี “ดอยหลวงเชียงดาว” เป็นที่สถิตของเจ้าหลวงคำแดง อันเป็นผีใหญ่เหนือบรรดาผีบ้านผีเมืองทั้งหลายในเขตแคว้นล้านนา ซึ่งเปรียบได้กับมหาคีรีนัต ที่เขาโปปาของพม่า

ศิลาจารึกเมืองสุโขทัยแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๙ กล่าวถึง “พระขพุงผี” อันสถิตอยู่ ณ เขาหลวงซึ่งเป็นประธานเหนือเขาทั้งปวงในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำปิง ว่าเจ้าเมืองและเจ้านายผู้ปกครองแว่นแคว้นต้องทำพิธีบัดพลีและตั้งอยู่ในศีลธรรม หากประพฤติผิดก็จะบันดาลให้เสื่อมถอยจนราษฎรขับไล่และถอดถอนเอาได้

ในแคว้นจัมปาสักของลาวที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง มี “ภูเก้า” เป็นประธานเหนือเขาทั้งปวง ยอดดอยมีแกนหินพุ่งเด่นออกมาเหมือนกับแท่งศิวลึงค์ พวกขอมโบราณที่เป็นเจ้าของดินแดนในสมัยแรก เชื่อว่าเป็นสยุมภูศิวะลึงค์ คือเกิดขึ้นเองในธรรมชาติ จึงเรียกว่า “ลิงคบรรพต” เป็นภูศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนมาประกอบพิธีกรรมกราบไหว้บูชา พอถึงสมัยเมืองพระนคร กษัตริย์ขอมก็มาสร้างเทวลัยถวายและประกาศพระนามของอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของภูเขาเป็นเสมือนพระศิวะเทพ ในทำนองเดียวกันกับการสร้างปราสาทพระวิหารบนเทือกเขาพนมดงเร็กนั่นเอง  ปราสาทแห่งนี้คือปราสาทวัดภู มีโครงสร้างเช่นเดียวกันกับปราสาทพระวิหาร คือนอกจากมีเทวลัยอันตั้งอยู่บนตะพักสูงของภูเขาแล้ว ยังมีสิ่งก่อสร้างในตะพักที่ต่ำลงมาเป็นขั้นๆ ไป อันประกอบด้วยโคปุระ ถนน และมณเฑียรอันเป็นที่ประทับของกษัตริย์และข้าราชบริพารในยามเสด็จมานมัสการในยามนักขัตฤกษ์ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือบาราย และสระน้ำให้เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการบริโภคอุปโภคและธารน้ำ สายน้ำที่ไหลลงจากภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ก็ได้รับการดูแลให้เกิดความสะอาด เพราะตามเส้นทางไหลของน้ำนั้น เป็นที่ผู้คนมาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนบ้านและเมืองกัน

ในประเทศบ้านเมืองที่นับถือศาสนาฮินดู-พุทธนั้น เขาศักดิ์สิทธิ์อันเป็นประธานและสัญลักษณ์ของภูมิจักรวาลมักจะเป็นจุดกำหนดให้การสร้างศาสนสถานทั้งของหลวงและของราษฎร์ หันหน้าไปสู่ทิศที่เขานั้นตั้งอยู่ อย่างเช่น ในเกาะบาหลีที่ผู้คนนับถือศาสนาฮินดูให้ความสำคัญกับการหันทิศหัวนอนไปสู่ภูเขาอากุงกุนุง ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่มีปุระอันเป็นศาสนสถานสำคัญตั้งอยู่หน้าเขา หรือที่เกาะชวาภาคกลางให้ความสนใจกับภูเขาไฟเมราปี เป็นต้น

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “สร้างบ้านแปงเมือง” เขียนโดย ศรีศักร วัลลิโภดม (มติชน, 2560)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 เมษายน 2561