‘พระยาวิไชเยนทร์’ ผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ แต่ไม่ใช่สำหรับชุมชน ‘เครื่องถมทอง’?

ภาพวาด ฟอลคอน หรือ พระยาวิไชเยนทร์ ฉากหลังคือ บ้านของพระยาวิไชเยนทร์
ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพวาด ฟอลคอน หรือพระยาวิไชเยนทร์ ขุนนางชาวกรีกที่มีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ

‘พระยาวิไชเยนทร์’ ผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ แต่ไม่ใช่สำหรับชุมชน ‘เครื่องถมทอง’ ?

เครื่องถม หมายถึง ภาชนะหรือเครื่องประดับที่มีลวดลาย โดยการลงยาตะกั่วทับหรือถมลอยเป็นลวดลายต่างๆ และเป็นการทำลวดลายที่ขุดลงไปในผิวภาชนะที่ทำจากเงินหรือทองให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ด้วยการถมน้ำยาดำลงไปในร่องให้เต็ม

เครื่องถมเก่าแก่ที่สุดเชื่อกันว่าเป็นของชาวโรมัน มีลักษณะลงยาสีดำที่เรียกว่า Tula Silver
ศาสตร์การทำเครื่องถมในไทยนั้น สันนิษฐานว่าอาจได้รับอิทธิพลมาจากชาวโปรตุเกสที่เข้ามาติดต่อค้าขายในสมัยกรุงศรีอยุธยาช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 หรืออาจได้รับอิทธิพลมาจากอิหร่านโดยตรง (หรือชาวเปอร์เซีย) ?

หลักฐานของไทยที่กล่าวถึงเครื่องถมเป็นครั้งแรก ปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งตราขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ระบุว่า “ขุนนางศักดินา 10000 กินเมืองกินเจียดเงินถมยาดำรองตลุ่ม…”
แรกเริ่มเดิมทีนั้นเครื่องถมทำแต่เพียงถมยาดำ ต่อมาได้พัฒนาด้วยการทำ “ตะทอง” เป็นแห่งๆ จึงทำให้มีลายทองสลับกับลายเงิน กระทั่งเกิดเป็น “ถมทอง” มีราคาน่าครอบครองยิ่งขึ้น

ส่วนการทำถมทองในไทย สันนิษฐานว่ามีผู้คิดค้นมาตั้งแต่ในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม เนื่องจากปรากฏหลักฐานในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการติดต่อเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส พระองค์ได้ส่งพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยในรายการบัญชีเครื่องราชบรรณาการ ปรากฏว่ามีไม้กางเขนถมทอง ซึ่ง พระยาวิไชเยนทร์ กราบบังคมทูลเสนอให้รับสั่งทำเพื่อส่งไปถวายพระสันตะปาปาแห่งโรมอันหนึ่ง

ส่วนในประชุมพงศาวดารภาคที่ 18 เรื่องจดหมายเหตุในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) ระบุว่า “…ราชทูตเชิญพานแว่นฟ้าทองคำ รับราชสาส์นๆ จารึกลงในแผ่นสุพรรณบัตรกว้าง 6 นิ้ว ยาวศอกเศษ ม้วนบรรจุไว้ในผะอบทองคำลงยาราชาวดีอย่างใหญ่ พระสุพรรณบัตรกับผะอบรวมน้ำหนักประมาณทอง 2 ชั่ง มี ถุงตาดเทศดวงทองหุ้มผะอบ แลมีสายรัดผูกปากถุง มีภู่ทองสอง ภู่ติดที่ปลายสายรัดด้วย ผอบนั้นตั้งอยู่ในหีบถมตะทองๆ ตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้าทองคำ อุปทูตเชิญเครื่องมงคลราชบรรณาการมีถุงตาดตาตั๊กกะแตนหุ้มตั้งบนพานทองคำชั้นเดียว ตรีทูตเชิญของถวายของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์อรรคมหาเสนาบดีกรุงสยาม มีถุงเข้มขามพื้นเขียวหุ้ม 1 ถุง ตั้งบนพานถมตะทอง สำหรับถวายโปป…”

ภาพคณะทูตที่คาดว่ากำลังถวายเครื่องถมพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (ภาพจาก www.commons.wikimedia.org)

คณะทูตไทยครานั้น ประกอบไปด้วย เจ้าพระยาโกษา ธิบดี (ปาน) หรือ ออกพระวิสุทสุนทร เป็นราชทูต ออกหลวงกัลยาณราชไมตรีเป็นอุปทูต ออกขุนศรีวิสารวาจา เป็นตรีทูต และบาทหลวง อาร์ตูส์ เดอ ลียอนน์ บิชอปแห่งโรสาลี่ เป็นล่าม

การส่งเครื่องถมไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชข้างต้นนั้น มีใจความเพิ่มเติมว่า ทรงรับสั่งให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช จัดหาช่างถมฝีมือดีของจังหวัดส่งไปยังกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย

แต่เหตุใดเล่า เมืองนครศรีธรรมราชจึงมีบทบาทสำคัญในการผลิตเครื่องถม ?

อาจเป็นเพราะเมืองนครศรีธรรมราชได้รับอิทธิพลมาจากชาวโปรตุเกส ซึ่งเป็นชนชาติยุโรปชาติแรกที่เข้ามาค้าขายกับไทยในสมัยอยุธยา และได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานีการค้าที่เมืองนครศรีธรรมราช จึงส่งผลให้เมืองนครศรีธรรมราชกลายเป็นศูนย์กลางการทำเครื่องถมไปโดยปริยาย ส่วนชาวต่างชาติที่ถ่ายทอดวิธีการทำเครื่องถม ก็มิใช่ใครอื่นใด หากแต่เป็น พระยาวิไชเยนทร์ (Constantin Phaulcon) นั่นเอง !

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราช จึงได้เลื่องชื่อลือชา มีชื่อเสียงโด่งดังขึ้น ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยานครได้ส่งเครื่องถมไปถวายพระมหากษัตริย์รัชกาลต่างๆ อาทิ พระแท่นพุดตาล ตั้งอยู่หน้าท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และพนักกันยาเรือพระที่นั่งทำด้วยแผ่นเงินขนาดใหญ่ถมทองที่เยี่ยมที่สุดและใหญ่ที่สุดในนครศรีธรรมราช (ปัจจุบันเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช) ตลอดจนยังคงมีแหล่งค้าขายเครื่องถมสำคัญในปัจจุบัน คือ บริเวณริมถนนท่าช้าง หากท่านใดมาเยือนเมืองนครศรีธรรมราชก็อย่าลืมแวะเข้ามาชื่นชม และหากบังเอิญถูกอกถูกใจก็สามารถซื้อติดไม้ติดมือกันไปใช้สอยก็ไม่ว่ากัน

ดังนั้นในฐานะที่ผู้เขียนเป็นชาวเมืองนครโดยกำเนิด จำต้องขอขอบพระคุณ พระยาวิไชเยนทร์ ที่ถ่ายทอดวิชาความรู้เรื่องเครื่องถมสู่เมืองนคร จนทำให้เมืองนครกลายมาเป็นศูนย์กลางของศาสตร์เครื่องถมนับตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน แม้หลายท่านอาจไม่ทราบถึงประเด็นนี้ก็ตาม และยิ่งไปกว่านั้น ล้วนมองเจ้าเป็นผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ แต่ข้าหาคิดเช่นนั้นไม่ ข้ายังคงรักเจ้าด้วยใจเสมอมา Phaulcon !!!

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กรมศิลปากร. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช. ประชุมพงษาวดารภาคที่ 18 เรื่องจดหมายเหตุในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2462.

เสฐียรโกเศศ (แปลและเรียบเรียง). ฟอลคอล การเผชิญภัยของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2561.

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 21 เรื่องที่ 4 เครื่องถม. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2561 <http://kanchanapisek.or.th.>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มีนาคม 2562