“ลพบุรี” เมืองโบราณฐานที่มั่น เมืองของพระนารายณ์?

(ขวา) ภาพสันนิษฐานของสมเด็จพระเพทราชา (PiteraTjay) พิมพ์ในปี พ.ศ. 2238 หลังการปฏิวัติแล้ว 7 ปี (ภาพจาก Military Revolutions Wars of Europe & Asia Ottoman Turks Mohammed Siam 27 Portraits. 1695) (ซ้าย) สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จออกท้องพระโรงพระราชวังที่ลพบุรี รับพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อพ.ศ.2228 (ภาพจาก Wikimedia Commons) ฉากหลังเป็นภาพวาดพระราชวังสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ละโว้

สมเด็จพระนารายณ์โปรดเมืองลพบุรี เพราะคลายความอึดอัด ความเครียด ไกลจากกลุ่มกบฏ ซึ่งได้แก่บรรดาพระอนุชา พระประยูรญาติ กลุ่มขุนนาง และพระสงฆ์บางส่วน

การประทับที่เมืองหลวง แม้ในวังหน้าทำให้ทรงระแวงภัยไม่เป็นสุข แชร์แวสเล่าว่า สมเด็จพระนารายณ์ประทับอยู่อยุธยา เมืองที่ให้ความรู้สึกอึดอัดไม่เป็นอิสระเช่นเดียวกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ประทับอยู่ที่ปารีส โปรดแวร์ซายส์ เพราะให้ความรู้สึกปลอดโปร่งกว่า สบายกว่า

Advertisement

ลพบุรี เป็นเมืองเก่าโบราณครั้งทวารวดี มีโบราณสถาน 3-4 แห่ง ซึ่งสร้างขึ้นตามคติความเชื่อแบบพราหมณ์ หรือแบบสมมุติเทพที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงซึมซับรับรู้ นับถือมาแต่ทรงพระเยาว์ ครั้งหนึ่งพระราชบิดาเคยพระราชทานนามว่า พระนารายณ์ราชกุมาร ทันทีที่ประสูติซึ่งโปรดมากกว่าพระนาม พระสุรินทรกุมาร นอกจากนั้นนามเดิมของเมืองลพบุรี คือ ลวปุระ หมายถึง เมืองของพระลพ คือลพปุระหรือลพบุรี พระลพเป็นโอรสของพระราม ลพบุรีจึงหมายถึงเมืองของพระรามหรือพระนารายณ์โดยตรง

แผนที่เมืองลพบุรี โดยวิศวกรชาวฝรั่งเศส

นอกจากนั้น ลพบุรี ยังมีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มีที่บรรจุพระธาตุของพระพุทธเจ้า โดยธรรมเนียมประเพณี ถือว่าเป็นวัดที่เป็นขวัญของเมือง (palladium) ขวัญของเมืองคือขวัญของพระองค์ นั่นเอง

ลพบุรี ในมุมมองทางภูมิศาสตร์ เป็นเมืองดอนน้ำท่วมไม่ถึง อุดมด้วยทุ่งหญ้า ป่า ทะเล และทิวเขา เหมาะกับการล่าสัตว์ต่างๆ และการจับช้าง เชื่อกันว่าตำราขี่ช้างของสมเด็จพระนารายณ์ที่ระบุรายละเอียดของการจับช้างชนิดต่างๆ และการขี่ช้างแบบต่างๆ รวมทั้งการควบคุมช้าง เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ ลพบุรีมีสภาพภูมิศาสตร์เหมาะในเชิงยุทธศาสตร์ด้วย คือเรือใหญ่กินน้ำลึกขึ้นไปไม่ถึง ด้วยในปีนั้น 2207 อยุธยามีปัญหากับฮอลันดาเรื่องการค้า และเวลานั้นฮอลันดามีอำนาจทางทะเลมาก ลพบุรีจึงมีสภาพปลอดการรุกรานจากฮอลันดา

โดยสรุปก็คือ เมืองลพบุรีปลอดภัยจากการบุกรุกจากภายนอกและแม้แต่กลุ่มกบฏจากภายใน รวมทั้งให้ความรู้สึกลึกๆ ว่าอบอุ่นเป็นสุขและปลอดภัย


คัดบางส่วนจากบทความ “เมืองลพบุรีในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มุมมองทางจิตวิทยาประวัติศาสตร์ (Psychohistory Viewpoint)”. โดย กิติกร มีทรัพย์. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2561


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 28 มีนาคม พ.ศ.2561