ผู้เขียน | บดินทร์ธร เสนพรัตน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ตุงสามหาง เหตุใดต้องมีสามหาง ? ถอดรหัสสัญลักษณ์ที่มากกว่าความตายในงานศพของชาวล้านนา
“ตุงสามหาง” หนึ่งใน “ธงแขวน” ตามคติความเชื่อล้านนา ที่มักพบเห็นได้ในงานขาวดำ ทว่าน้อยคนที่จะรู้ว่านี่ไม่ใช่เพียงผืนผ้าที่ใช้ประดับตกแต่ง เพราะแท้จริงแล้วเต็มไปด้วยความเชื่อเรื่องโลกหลังความตาย !
“ตุง” ในภาคเหนือ มีความหมายแบบภาษาไทยกลาง คือ “ธง” ซึ่งธงแขวนเหล่านี้อยู่คู่กับสังคมล้านนามาตั้งแต่โบราณ และยังคงพบเห็นได้มาจนถึงทุกวันนี้
คนในภาคเหนือนิยมใช้ตุงแทนการให้ความหมายในหลากหลายโอกาส ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมทางศาสนา ประเพณี เทศกาลรื่นเริง รวมไปถึง งานศพ
หากมองตามวัตถุประสงค์ของชาวล้านนาที่นำตุงมาใช้จะแบ่งได้เป็น 2 โอกาสสำคัญ นั่นคืองานมงคล และงานอวมงคล
ตุงที่นิยมใช้ในพิธีที่เป็นมงคล เช่น ตุงไชย ตุงพระบฏ ตุง 12 ราศี ตุงดอกบ้อง (ตุงไส้หมู) ตุงทราย ฯลฯ ซึ่งตุงแต่ละชนิดที่ใช้ในงานมงคลจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป แต่หน้าที่หลักของตุงชนิดนี้มีเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลเจริญงอกงาม
ส่วนตุงที่ใช้ในพิธีกรรมงานอวมงคล ก็จะมี ตุงเหล็กตุงตอง ตุงแดง ตุงขอนนางผาน ฯลฯ และที่พบเห็นได้ทั่วไปอย่างแพร่หลายหน้าขบวนงานศพในภาคเหนือก็คือ “ตุงสามหาง” ซึ่งถ้าเจาะไปที่ลักษณะของตุงชนิดนี้แล้วจะเห็นว่าคล้ายกับรูปร่างของคน ทำให้บางพื้นที่ให้ชื่ออีกอย่างว่า “ตุงฮูปคน” หรือ “ตุงผีต๋าย”
องค์ประกอบของตุงสามหางมีทั้งหมด 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนตัว และส่วนหาง ที่มีชายแยกออกไป 3 ชาย ซึ่งแต่ละส่วนเปรียบดั่งสรีระร่างกายให้เป็นตัวแทนของผู้ตาย

(ภาพจากสะหลีการกระดาษ)
ในอดีตวัสดุที่ใช้ทำตุงสามหางจะใช้กระดาษสาเป็นหลัก แต่ปัจจุบันผ้าจะได้รับความนิยมมากกว่า ซึ่งหากเป็นงานศพของชาวบ้านทั่วไปจะใช้ผ้าสีขาว และเมื่อเป็นงานของพระสงฆ์จะใช้ผ้าสีเหลืองหรือส้ม
แต่ละท้องถิ่นจะมี “สล่า” หรือช่าง ทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบลงมือทำในแต่ละส่วน ไปจนถึงการสร้างลวดลายและรายละเอียดอันวิจิตรบรรจงด้วยศิลปะแบบล้านนาลงบนผืนตุง
ความที่เป็นงานอวมงคล ทำให้มีข้อห้ามตามความเชื่อที่สล่าต้องปฏิบัติตามแบบเคร่งครัด อย่างการที่ผู้ทำตุงสามหางทุกคนจะต้องมีการบูชาขันครู เพื่อปกป้องตนเองให้พ้นจากสิ่งที่เป็นอัปมงคลจากการทำงานร่วมกับความตาย หรือที่คนเมืองเรียกว่า “ตกขึด”
หรืออีกความเชื่อมีอยู่ว่า เมื่อสล่าทำตุงเสร็จแล้วจะต้องไม่แบ่งหางของตุงออกเลยทันที ถ้าหากหางของตุงยังไม่แยกเป็น 3 ชาย จะยังไม่นับว่าเป็นตุงสามหาง และสามารถเก็บเอาไว้ในบ้านของสล่าได้
เมื่อผู้สร้างยังต้องตั้งขันครูบูชาและมีข้อปฏิบัติที่ต้องทำเพื่อไม่ให้ตกขึด ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ตุงผืนนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยคติความเชื่อที่ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน

แล้ว ตุงสามหาง เหตุใดต้องมีสามหาง ?
มีคำอธิบายถึงที่มาของตุงสามหาง เหตุใดต้องมีสามหางเอาไว้อย่างหลากหลาย แตกต่างกันไปตามความเชื่อในแต่ละพื้นถิ่นทางเหนือ
นัยแรก ตุงสามหางที่นำมาใช้นำหน้าขบวนศพนี้ เปรียบเสมือนกับ “ธงสามชาย” ที่ใช้นำหน้าขบวนของพระอินทร์ เชื่อว่าจะนำพาดวงวิญญาณไปสู่สุคติ

นัยต่อมาคือ ชาวล้านนาเชื่อว่าตุงชนิดนี้มีไว้ให้ผู้ตายเอาไว้ใช้สักการะ “พระเกศแก้วจุฬามณี” เจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนิกชน เมื่อถึงวันเผาศพญาติจะนำตุงสามหางม้วนใส่ลงไปในโลง และบอกกับผู้ตายว่าให้นำตุงนี้ไปไหว้พระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ด้วย
อีกนัยเป็นการสอดแทรกคติความเชื่อเรื่องเส้นทางหลังความตาย ให้วิญญาณของผู้ตายนำตุงที่มีสามหางนี้ชี้นำไปข้างหน้า 3 ทาง ว่าจะเลือกไปทางไหน มีทั้ง ทางสูง ไปสู่สุคติภพหรือนิพพาน ทางกลาง คือการกลับมาเวียนว่ายตายเกิดใหม่บนโลกมนุษย์เพื่อสร้างบารมีต่อไป ทางต่ำ ว่าด้วยหนทางการไปเกิดเป็นเดรัจฉานยังนรกภูมิ
ส่วนนัยสุดท้าย หางทั้งสามของตุงเปรียบเป็นหลัก “ไตรลักษณ์” คำสอนในพระพุทธศาสนา ที่ประกอบไปด้วย อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา
ทั้งหมดทั้งมวลนี้สะท้อนให้เห็นว่า ตุงสามหางไม่ได้เป็นเพียงผืนผ้าในสายตาคนล้านนา แต่เป็นธงแขวนที่เชื่อมโยงกับชีวิตของคนในพื้นถิ่นอย่างแนบแน่นในเชิงวัฒนธรรมความเชื่อ
อ่านเพิ่มเติม :
- รู้จัก “ข้าวซอย” ข้างสำรับชาวไทเขินแห่งเชียงตุง ต่างจากข้าวซอยในไทยอย่างไร?
- เจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ ตำนานรักราชสำนัก “เชียงตุง-เชียงใหม่” รุ่นสุดท้าย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
คุณสะหลีการกระดาษ. สัมภาษณ์โดย บดินทร์ธร เสนพรัตน์. 2 พฤษภาคม 2568
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ (กรมศิลปากร). ตุงสามหาง. 2566. สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2568. https://www.finearts.go.th/chiangmaimuseum/view/46702-ตุงสามหาง.
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ (กรมศิลปากร). องค์ความรู้: วัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวล้านนาไทย เรื่องตุงล้านนา. 2564. สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2568. https://www.finearts.go.th/promotion/view/26813-องค์ความรู้—วัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวล้านนาไทย-เรื่อง-ตุงล้านนา.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤษภาคม 2568