Black Dandyism การแต่งกายสุดหรู สัญลักษณ์ปลดแอกหลังยุคค้าทาส

Black Dandyism
ภาพจาก(Wikimedia Commons)

“Black Dandyism” สไตล์การแต่งกายสุดหรู มีที่มาจากการต่อสู้ของคนผิวดำ หลังโลกตะวันตกเพิ่งหลุดพ้นจากยุค “ค้าทาส”

“Met Gala” คือหนึ่งในงานแฟชั่นการกุศลที่ทรงอิทธิพลของโลก มักจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันจันทร์แรกของเดือนพฤษภาคม ณ “พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน (The Met)” มหานครนิวยอร์ก

งานนี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อระดมทุนเพื่อสนับสนุนสถาบันเครื่องแต่งกาย The Costume Institute ที่อยู่ในการดูแลของ The Met ซึ่งในแต่ละปีจะมีการกำหนดธีมที่แตกต่างกันเรื่อยมา

งานในปี 2025 นี้จัดในธีม “Superfine: Tailoring Black Style” ที่เกี่ยวข้องกับสไตล์อันโดดเด่นของคนผิวดำในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากงานเขียนของ “Monica L. Miller” อย่าง “Slaves to Fashion: Black Dandyism and the Styling of Black Diasporic Identity” 

ธีมที่หยิบยกมาชูโรงในปีนี้ นอกจากจะละลานตาไปด้วยความวิจิตรงดงามของเสื้อผ้า หน้า ผม ที่ศิลปินดารานำมาประชันกันบนพรมแดงแล้ว หากมองลึกลงไปจะเห็นว่าธีมนี้ยังแฝงไปด้วยนัยทางการเมือง และเรื่องราวที่มีความเป็นมาอย่างยาวนานในหน้าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ “การค้าทาส”

อะไรคือ Dandyism? 

ถ้าจะพูดถึงที่มาที่ไปของการแต่งกายสไตล์นี้ เราคงต้องมองย้อนกลับไปราว ๆ คริสต์ศตวรรษที่ 18 หรือในยุค “Regency” ช่วงเวลาแห่งความเจริญรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมในอังกฤษ ที่คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าหากเราเห็นการแต่งกายของคนผิวขาวด้วยสูท เนกไท หรือรองเท้าหนัง ที่มีการตัดเย็บสุดแสนจะประณีต หรูหรา และบรรจงทุกกระเบียดนิ้ว ซึ่งวัฒนธรรมการแต่งกายในลักษณะนี้มาจากการบุกเบิกของ โบ บรัมเมลล์(Beau Brummell)

บรัมเมลล์เป็นชนชั้นกลางในอังกฤษที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลด้านแฟชั่นของสังคมยุโรปช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถือกันว่าเขาเป็นผู้วางรากฐานการแต่งกายของบุรุษที่สะท้อนรสนิยมชั้นสูงในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี 

จากนิสัยเจ้าสำอางรวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการเสริมเติมแต่งใน รูปลักษณ์” ความเนี้ยบของเสื้อผ้าที่ต้องสมบูรณ์แบบไม่น้อยไปกว่าสตรี ทั้งยังรวมถึงกิจวัตร งานอดิเรก ตลอดจนการแสดงออกทางค่านิยมต่าง ๆ แบบคนชั้นสูง ทำให้กระแสวัฒนธรรมเช่นนี้เป็นที่มาของคำว่า “Dandyism”

“Beau Brummell” เป็นชนชั้นกลางชาวอังกฤษผิวขาวที่ให้ความสำคัญกับการแต่งกายและภาพลักษณ์ เป็นตัวแทนของสไตล์ “Dandyism” (ภาพจาก Wikimedsia Common )

จาก “Dandyism” สู่ “Black Dandyism”

ทว่าโลกตะวันตกที่กำลังอยู่ในห้วงเวลาของ “ลัทธิล่าอาณานิคม” ซึ่งเป็นยุคที่การค้าทาสจากแอฟริกาดำเนินไปอย่างเข้มข้นในประเทศเจ้าอาณานิคมบนเขตมหาสมุทรแอตแลนติก 

วัฒนธรรมการแต่งกายอันหรูหรา เน้นความสง่างามของเหล่าสุภาพบุรุษชนชั้นนำ หรือ “Dandyism” นี้ จึงได้แผ่ขยาย และส่งอิทธิพลมายังกลุ่มชายผิวดำ ซึ่งมีสถานภาพเป็นทาสอยู่ ณ ขณะนั้นด้วย จากการที่บรรดาเจ้านายชาวผิวขาวผู้มั่งคั่ง นิยมแสดงฐานะของตนผ่านการครอบครองทาสหรือคนรับใช้ผิวดำ

พวกเขามองว่า “การมีทาสผิวดำแต่งตัวดี” เป็นอีกหนึ่งเครื่องแสดงอำนาจ และภาพลักษณ์ทางสังคม หรือพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นการแต่งเติมเพื่อเสริมสร้างบารมีให้กับเจ้านาย

ถึงแม้ว่าการแต่งกายสไตล์นี้จะถูกริเริ่มจากความตั้งใจของเจ้านายชาวผิวขาว และจุดประสงค์หลักไม่ได้มีเพื่อประโยชน์ของคนผิวดำเองตั้งแต่แรก แต่ในช่วงเวลาต่อมา คนผิวดำก็นำมาพัฒนาให้เข้ากับอัตลักษณ์ และวัฒนธรรมแบบฉบับชาวแอฟริกาของตนเอง

แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่าไม่ใช่ทาสทุกคนที่จะได้แต่งตัวดี เพราะมีบางคนที่ถูกบังคับให้ใส่เสื้อผ้าเก่า ๆ ไม่ได้หรูหราอะไร เพื่อเป็นการควบคุมสถานะไว้ให้ชัดเจน

การปฎิบัติที่ต่างกันนี้สะท้อนให้เห็นว่า การควบคุมทาสผ่านเสื้อผ้ามีหลายมิติ และขึ้นอยู่กับบริบทว่าเจ้านายแต่ละคนต้องการอะไรจากทาสคนนั้น

เมื่อเวลาเริ่มข้ามผ่านมายังยุคที่สถานะการเป็น “ทาส” เริ่มจางหายไปจากยุโรป และอเมริกา จากการลุกขึ้นต่อต้านในสังคม ช่วงประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 คนผิวดำจึงเริ่มมีฐานะทางสังคม และการเงินมากขึ้น

ปรากฏการณ์นี้ย่อมตามมาด้วยความเป็นอิสระในทางสังคมของทาสอย่างปฏิเสธไม่ได้ ทำให้พวกเขาใช้การแต่งกายที่หรูหรา และสะท้อนถึงรสนิยมชั้นสูงในแนว “Dandyism” เป็นเครื่องมือเพื่อแสดงให้เห็นถึงการปลดแอก และการท้าทายภาพลักษณ์แบบเดิม สู่การแสดงออกถึงความเท่าเทียมกับคนผิวขาว ดั่งเป็นการประกาศว่า “เราคือคนเท่ากัน”

หนึ่งในบุคคลที่ใช้เสื้อผ้าเป็นอาวุธทางวัฒนธรรมได้ทรงพลังมากที่สุดในช่วงศตวรรษที่ 19 คือ เฟรเดอริก ดักลาส (Frederick Douglass) อดีตทาสผู้ลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยวาทะ งานเขียน และ “ภาพลักษณ์” ในแบบ “Dandyism” ของชายผิวดำ

“Frederick Douglass” (ภาพจาก Wikimedsia Common )

การแต่งตัวแบบนี้เลยกลายเป็นวิธีที่คนผิวดำใช้บอกว่า “ฉันมีตัวตน ฉันมีสไตล์ของฉันเอง” เป็นการลุกขึ้นมานิยามตัวเอง ท่ามกลางโลกที่คนอื่นพยายามบอกว่าความเป็นคนผิวดำคืออะไร

มาจนถึงยุค “Harlem Renaissance” ในช่วงทศวรรษ 1920 ยุคสมัยแห่งความเจริญรุ่งเรือง และการภาคภูมิใจในความเป็นคนผิวดำ ได้เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญที่หล่อหลอมความเป็น “Black Dandyism” ให้เข้มแข็ง เพราะช่วงเวลานี้ไม่ใช่แค่การแต่งตัวให้ดูดีเท่านั้น แต่เป็นการ “นิยามตัวตนใหม่” ผ่านศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม ฯลฯ

ตัวละครที่แสดงความเป็น “Black Dandyism”
จากเรื่อง “Mrs. Houstouns Yachting” ในปี ค.ศ. 1844 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ไม่ว่าจะเป็นในดนตรีแจ๊ส หรือบทกวี ล้วนสะท้อนภาพชายผิวดำแต่งตัวหรู เท่ และสง่างาม เสื้อผ้าได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของศักดิ์ศรี ท้าทายอคติ รวมถึงการให้นิยามและความภาคภูมิใจในความเป็นคนผิวดำของตนเอง

 

สะท้อนให้เห็นว่าคนผิวดำใช้วัฒนธรรม “Dandyism” ก่อร่างสร้างอัตลักษณ์และตัวตนใหม่ท่ามกลางระบบที่กดขี่ และถูกเหยียดหยามเพื่อเปลี่ยนแปลง จาก “เครื่องมือแห่งการรับใช้” ให้กลายเป็น “อาวุธแห่งการประกาศเสรีภาพ” และวางรากฐานการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมได้อย่างทรงพลัง จนกลายเป็น “Black Dandyism” ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

และในงาน “Met Gala 2025” นี้เหล่าดารา ศิลปิน และดีไซเนอร์ต่างร่วมกันนำกระแสวัฒนธรรม “Black Dandyism” กลับมาเฉิดฉายอีกครั้งบนพรมแดง โดยถ่ายทอดความหรูหรา ผ่านมุมมองใหม่ที่ร่วมสมัย แต่ยังคงแฝงนัยความเป็นมาทางการเมือง ประวัติศาสตร์ และรากเหง้าของความสง่างามของวัฒนธรรมการแต่งกายสไตล์นี้ไว้อย่างแนบแน่น และคงไว้ซึ่งสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ทางวัฒนธรรมของคนผิวดำไว้อย่างเด่นชัด

เหล่าดาราและศิลปิน ในการแต่งกายสไตล์ “Black Dandyism” ในงาน “Met Gala 2025” (ภาพจาก Instagram Louisvuitton)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศูนย์วิทยบริการศาลยุติธรรมเฉลิมพระเกียรติ. “วันระลึกการค้าทาสและการเลิกทาสสากล.” เข้าถึงเมื่อ 6 พฤษภาคม 2568. https://library.coj.go.th/th/importanttoday/importanttoday-910.html

Adams, James Eli. “The Dandy.” Oxford Bibliographies in Victorian Literature. เข้าถึงเมื่อ  7 พฤษภาคม 2568. https://www.oxfordbibliographies.com/display/document/obo-9780199799558/obo-9780199799558-0201.xml

Agins Teri. “For the Black Dandy, Fine Clothes Asserted Dignity.” History.com. เข้าถึงเมื่อ 7 พฤษภาคม 2025. https://www.history.com/articles/black-dandy-fashion-met-gala-theme

The Metropolitan Museum of Art. “Superfine: Tailoring Black Style.” The Metropolitan Museum of Art. เข้าถึงเมื่อ  6 พฤษภาคม 2568. https://www.metmuseum.org/exhibitions/superfine-tailoring-black-style


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤษภาคม 2568