ประเพณีแห่ไม้ก้ำศรี ประเพณีคนเมืองเนื่องในวันสงกรานต์ปี๋ใหม่

ประเพณีแห่ไม้ก้ำศรี

ประเพณีแห่ไม้ก้ำศรี ประเพณีคนเมืองเนื่องในวันสงกรานต์ปี๋ใหม่

การแห่ไม้ก้ำศรี หรือในบางท้องถิ่นจะออกเสียงต่างหันไปเช่น ไม้ก๊ำศรี ไม้ก๊ำสะหรี ไม้ค้ำสะหรี ฯลฯ เป็นประเพณีของคนเมืองล้านนาที่มักนิยมจัดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือปี๋ใหม่เมือง โดยการนำ “ไม้ค้ำ” ซึ่งเป็นไม้ทั้งต้นขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง ที่ปลายด้านบนสุดมักทำเป็นง่ามสองแฉก แห่ไปถวายวัดอันเป็นงานกุศลใหญ่ประจำเทศกาล

ประเพณีมักนิยมทำกันในวันที่ 16 เมษายน ของทุกปี อันเป็น “วันปากปี๋” ตามความเชื่อของคนเมืองล้านถือว่าเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ แต่ในบางชุมชนอาจแห่ก่อนหรือหลังก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละท้องถิ่น

โดยชาวบ้านจะนำไม้ก้ำศรีไปค้ำยันกิ่งก้านสาขาของต้นศรีมหาโพธิ์ที่ปลูกภายในวัด คนเมืองล้านนาเชื่อว่า เป็นการค้ำจุนพระพุทธศาสนา และยังเชื่อว่าการถวายไม้ก้ำศรีเป็นการทำบุญสืบชะตา เพื่อให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง อายุมั่นขวัญยืน อยู่ดีมีสุข ฯลฯ

การแห่ไม้ก้ำศรีเป็นเสมือนกุศโลบายของคนเก่าคนแก่ ไม้ก้ำศรีที่ค้ำยันต้นศรีมหาโพธิ์ไม่ได้ใช้ในการค้ำต้นไม้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะมีการนำไม้เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ต่อ เช่น ในอดีตพระสงฆ์จะนำไม้ไปใช้ทำเป็นฝืนหรือถ่าน หรือเมื่อมีการก่อสร้างก็นำไม้ไปใช้ประโยชน์ต่อได้เช่นกัน

ปัจจุบัน ไม้ก้ำศรีไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่ต้นไม้อย่างเดียวเท่านั้น ยังมีไม้ก้ำศรีที่ทำมาจากท่อพลาสติก หรือท่อ PVC ทั้งนี้ก็เพื่อบริจาคให้กับวัดนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป คติที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ก็เหมือนกับการถวายเทียนพรรษาในช่วงวัดเข้าพรรษา ที่ปัจจุบันนิยมถวายเป็นหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์แทน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 เมษายน 2568