
ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
แม้ “จีน” จะเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยคนหลายชาติพันธุ์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าชาติพันธุ์ที่ได้รับความสำคัญและเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมจีนมากที่สุดก็คือ “ฮั่น” อย่างใน “มังกรหยก 2025” ตัวละครในเรื่องก็บอกว่าตนเป็น “ชาวฮั่น” แม้จะอยู่ไกลบ้าน ก็ยังมีจิตสำนึกรักบ้านเกิด ต้องกอบกู้บ้านเมืองให้คงอยู่ ไม่ให้ถูกรุกรานจากคนต่างเผ่า
คนจีนเริ่มมองว่าตนเองเป็น “ชาวฮั่น” ตั้งแต่เมื่อไหร่?

การเกิดขึ้นมาของ “ฮั่น” ต้องย้อนไปในสมัยราชวงศ์ฉิน (221-206 ปีก่อนคริสต์ศักราช) หลังจากที่จิ๋นซีฮ่องเต้สามารถรวบรวมอำนาจไว้ที่ตนเองและสร้างรัฐขึ้นมา ก็มีนโยบายให้เผ่าต่าง ๆ มากมายขึ้นตรงกับรัฐฉิน
ในตอนแรกคนก็อ่อนข้อทำเป็นยอมรับว่าตนเองเป็นคนฉิน แต่เมื่อสิ้นจิ๋นซีฮ่องเต้ เผ่าเล็กเผ่าน้อยก็ประกาศตัวเป็นอิสระ เกิดจลาจล เนื่องจากมองว่าพวกฉินเป็นทรราช
ขณะนั้นเองก็มีบุคคลสำคัญอย่าง “เล่าปัง” ขึ้นมาเป็นหัวหน้าต่อต้านการปกครองปกครองรัฐฉินและกระทำได้สำเร็จ เกิดการตั้งราชวงศ์ฮั่นขึ้นมา
แม้ราชวงศ์ฮั่นจะอยู่ถึง ค.ศ. 220 และเสื่อมลงกลายเป็นยุคสามก๊ก แต่คนจีนก็นับถือและยอมรับราชวงศ์ฮั่นมากกว่าฉิน จากนั้นมาคนจีนจึงเรียกตนเองว่าเป็น “คนฮั่น”
การนิยามและตีความคำว่า “ฮั่น”

ในตอนแรกใช้ “ฮั่น” เพื่อแบ่งแยกกลุ่มคนดั้งเดิมที่อยู่บริเวณจงหยวน (ที่ราบทางเหนือของจีน) กับชนเผ่าเร่ร่อนที่อพยพลงมา ซึ่งมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
ความเป็นฮั่นจึงไม่ได้เกิดจากการรวมกลุ่มตามธรรมชาติ หรือเป็นคนที่มีวัฒนธรรมเดียวกัน แต่สร้างจากการการค่อย ๆ มีปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มอื่น ๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐ และมีนัยทางการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากราชวงศ์ฮั่นล่มสลายไปแล้ว
จนเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 10 เกิดการแบ่งแยกรัฐทางเหนือและทางใต้ที่ชัดเจน คนจึงเริ่มนำความเป็นฮั่นมาเชื่อมโยงกับกลุ่มที่ภักดีต่อรัฐทางใต้ สร้างความหมายทางการเมืองและเด่นชัดมากขึ้น
ทว่าในทางปฏิบัติ ความเป็นฮั่นที่นิยามกันมาก็ไม่ได้คงที่และต่อเนื่องเท่าที่ควร แต่ก็กระจายไปสู่คนหมู่มาก อย่างในสมัยหมิงและชิง คนที่อพยพมาจากทางเหนือ เมื่อมาตั้งถิ่นฐานและปรับตัวให้เข้ากับชาวฮั่นเดิมก็สามารถนิยามตนเองว่าเป็นฮั่นได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ด้วยฮั่นเป็นกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะตัวและแบ่งแยกจากชนกลุ่มอื่น ฮั่นจึงได้รับการให้ความหมายใหม่มากมายในราชสำนักชิง ทั้งยังถูกหยิบยกคำนี้มาใช้ในทางการเมือง และอธิบายถึงลักษณะความเป็นฮั่น เพื่อกดทับชาติพันธุ์อื่น ๆ จะเห็นว่าตอนนั้นเกิดการปราบปรามชนเผ่าอื่นนอกจากฮั่น และกล่าวหาว่ากลุ่มคนพวกไหนที่ไม่ใช่ฮั่นคือพวกป่าเถื่อนและดุร้าย
“ความเป็นฮั่น” ในทางการเมืองลากยาวไปถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 เกิดการใช้แนวคิดชาติพันธุ์ฮั่นเพื่อต่อต้านราชสำนักแมนจู ใช้เพื่อสร้างนิยามความเป็นชาติจีนหลังการปฏิวัติ และอีกมากมาย
จวบจนปัจจุบัน “ฮั่น” ก็ยังเป็นชาติพันธุ์สำคัญของจีนไม่เคยเปลี่ยน
อ่านเพิ่มเติม :
- “ฮั่นอู่ตี้” กษัตริย์ออกราชโองการตำหนิตัวเอง-ยอมรับผิดฉบับสมบูรณ์ครั้งแรกในจีน
- ไฉน “หลิวปัง” ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น เป็นผู้นำแบบ “ร่วมทุกข์ได้ ร่วมสุขไม่ได้”
- “จักรพรรดินีหลี่ว์” สตรีผู้ทรงอำนาจและเหี้ยมโหดแห่งราชวงศ์ฮั่น ปลิดชีพสนมด้วยการตัดแขนขา!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
อิสรีย์ พฤฒิจิระวงศ์. ประวัติศาสตร์ในมังกรหยก: ชาตินิยม ชาติพันธุ์ และสังคมการเมืองในทศวรรษ 1950. ภาคนิพนธ์ สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2561.
https://libdoc.dpu.ac.th/article/V731.pdf
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2568