ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
เรามักได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ร้ายได้ “โดยละม่อม” ชวนให้สงสัยว่า ใครกันหนอ… “ละม่อม” ทำไมเก่งนัก? ช่วยตำรวจจับคนผิดได้เรื่อย ๆ คงเป็นชื่อคนหรือบทบาทที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจับกุม
สำหรับท่านที่ทราบอยู่แล้วว่าละม่อมไม่ใช่คนและไม่ใช่บทบาทสมมติใด ๆ ทั้งนั้น โปรดอย่าเพิ่งโวยวาย เพราะมีคนคิดและสงสัยเรื่องนี้จริง ๆ จึงขออธิบายความหมายของคำและสำนวนนี้เสียหน่อย
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2544 ให้ความหมายของคำว่า “ละม่อม” ไว้ 2 ความหมาย คือ ว. สุภาพ, อ่อนโยน, (ใช้แก่กิริยาอาการที่เรียบร้อย งดงาม ไม่ขัดเขิน ไม่กระด้าง), มักใช้เข้าคู่กับคำ ละมุน เป็น ละมุนละม่อม หมายความว่า อ่อนโยน นิ่มนวล
ความหมายที่ 2 คือ โดยไม่มีการขัดขืน (ใช้แก่การจับกุม) เช่น ตำรวจจับผู้ร้ายได้โดยละม่อม
โดยหลักใหญ่ใจความก็มีเท่านี้จริง ๆ นั่นคือการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับผู้ร้ายได้โดยละม่อมนั้น คุณตำรวจไม่ได้รับความช่วยเหลือจาก “คุณละม่อม” แต่อย่างใด แต่หมายถึงการจับกุมที่เกิดขึ้นโดยผู้ร้ายไม่ขัดขืน ไม่เกิดความรุนแรง หรือการขัดขวางการจับกุมนั่นเอง
คำว่า “ละม่อม” นี้ หากเป็น ละม่อมละไม ซึ่งความหมายใกล้เคียงกันจะใช้ต่างกันอยู่บ้าง โดยหมายถึง นุ่มนวล อ่อนโยน และมักใช้กับกิริยาท่าทาง เช่น “ผู้หญิงคนนี้แม้จะไม่สวยสะดุดตา แต่ก็ดูละม่อมละไม”
ส่วน ละมุนละม่อม จากความหมายข้างต้น มักใช้กับการกระทำอื่น ๆ (ที่ไม่ใช่การจับกุม) เช่น “หัวหน้าของเราเป็นคนฉลาด สามารถตัดสินปัญหาได้อย่างละมุนละม่อม ไม่ใช้วิธีการรุนแรง”
แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืมเป็นอันขาดคือ จะละม่อม ละมุนละม่อม หรือละม่อมละไม จะต้องมีรูปสระอะ (ะ) อยู่หลัง ล ลิง เสมอ จึงจะถูกหลักการสะกด
อนึ่ง ความเข้าใจผิดเรื่องข้างต้นจะบอกว่าไร้สาระไปเลยก็ไม่ได้ เพราะมันมี “เหตุ” แห่ง “ผล” อยู่ ที่มาคือการเล่นเป็นเรื่องขบขันของตลกคาเฟ่สมัยก่อนว่า “คุณละม่อมนี่เก่ง ช่วยตำรวจจับผู้ร้ายตลอด” พอหยิบมาเล่นไปนานเข้า ก็มีคนพลอยเข้าใจไปด้วยจริง ๆ ว่า ละม่อมมีตัวตน
พอ ๆ กับอีกสำนวนเกี่ยวกับ “คุณระเบียบ” ที่คงมีความผิดติดตัวอยู่ก่อนแล้ว แถมรู้ทางหนีทีไล่ดีเหลือเกิน เพราะคนร้ายที่หลบหนีการจับกุมได้ ก็มักจะ “หนีไปตามระเบียบ” ไปเสมอ (ฮา)
อ่านเพิ่มเติม :
- ที่มาของคำบางคำ “กินน้ำใต้ศอก”
- “ดวงไม่ถึงฆาต” ที่มาของสำนวนไทย ติดปากจากวัฒนธรรมอินเดีย?
- “อับปาง” เป็นคำจากภาษาจีน? อ่านข้อสันนิษฐานของพระยาอนุมานราชธน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ราชบัณฑิตยสถาน. (2546). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2567