สำรวจ “วัดร้าง” ในบางกอก วัดที่ไม่ได้ใช้ถูกแบ่งพื้นที่ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นอยู่ร่วม

วิหารของวัดภุมรินทร์ราชปักษี เนื่องจากทิ้งร้างไปไม่ได้ถูกซ่อมแซมสมัยหลังจึงยังคงรูปแบบดั้งเดิมไว้ได้

“วัดร้าง” โดยความหมายคือพุทธสถานที่หมดหน้าที่ใช้งานอย่างเป็นทางการไปแล้ว มีตั้งแต่การขาดพระสงฆ์จำพรรษาประจำวัด การถูกยุบรวมกับวัดอื่น ๆ ไปจนถึงถูกทำลายโดยภัยหายนะ สงคราม จนกระทั่งกลายเป็นเศษซากโบราณสถาน บางแห่งเหลือไว้เพียงชื่อและตำแหน่งที่จดจำต่อ ๆ กันมา

เราอาจคุ้นเคยกับ “วัดร้าง” ในรูปแบบของซากอิฐปูน สถูปเจดีย์ ที่กระจัดกระจายตามเมืองโบราณเช่น สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลพบุรี อยุธยา แต่สำหรับในเขตกรุงเทพมหานครทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา คือฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครอันเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยในปัจจุบันนั้นยังมี “วัดร้าง” ตกค้างอยู่ในย่านชุมชนต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันสำหรับคนในท้องถิ่น แต่สำหรับคนทั่วไปแล้วนับเป็นเรื่องค่อนข้างไกลตัวและเข้าถึงยาก

แผนที่กรุงเทพฯ แสดงตำแหน่งวัดร้างในกรุงเทพฯ ที่ค้นพบทั้งหมดจำนวน 22 วัด (1) วัดภุมรินทร์ราชปักษี (2) วัดสวนสวรรค์ (3) วัดน้อยทองอยู่ (4) วัดพิกุลใน (5) วัดอังกุลา (6) วัดใหม่วิเชียร (7) วัดร้างบางบอน (วิหารหลวงพ่อขาว) (8) วัดสี่บาท (9) วัดนาค (10) วัดโคกโพธิ์ราม (11) วัดปู่เถร (วัดตะเข้-โคกพระเถร) (12) วัดหน้าพระธาตุ (13) วัดไก่เตี้ย (14) วัดเงิน (15) วัดทอง (16) วัดรังษีสุทธาวาส (17) วัดวงศมูลวิหาร (18) วัดโชตนาราม (วัดพระยาไกร) (19) วัดบวรสถานสุทธาวาส (20) วัดสุวรรณคีรี (21) วัดกระดังงา และ (22) วัดใหม่เชิงเลน

การสำรวจศึกษาวัดร้างในกรุงเทพฯ (พบทั้งในเอกสารและหลักฐานโบราณคดีจำนวน 22 แห่ง) ที่ยังหลงเหลือร่องรอยให้ดูได้นั้น อาจนับได้ว่าช่วยเติมเต็มข้อมูลของชุมชนตั้งแต่สมัยก่อนการเกิดกรุงรัตนโกสินทร์ลงมาจนกระทั่งถึงสมัยที่บ้านเมืองขยายตัวออกไปจากศูนย์กลาง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อันเป็นหนึ่งในสาเหตุหลายประการที่มีส่วนทำให้ศาสนสถานหลายแห่งต้องทิ้งร้างลง จากวัดร้างต่าง ๆ นับสิบวัดที่กล่าวถึงมานั้นอาจมองถึงประเด็นสำคัญได้ดังนี้

การทิ้งร้าง คือการหยุดอายุการใช้งานของวัด

วัดร้างบางแห่งทำให้สามารถพิสูจน์อายุสมัยด้านรูปแบบศิลปกรรมได้ชัดเจนกว่าวัดที่ยังมีการใช้งานต่อเนื่องที่จะมีการซ่อมปฏิสังขรณ์ลงมาแม้จนปัจจุบัน ขณะที่วัดร้างนั้นจะหยุดกิจกรรมต่าง ๆ เอาไว้อย่างน้อยจนถึงสมัยที่ทิ้งร้างหรือถูกยุบจากความเป็นวัด เพราะจะไม่เกิดกิจกรรมที่ทำให้มีการบำรุงรักษาศาสนสถานอีกต่อไป เว้นเสียแต่เป็นงานของชาวบ้านที่เข้ามาปรับปรุง

จะเห็นได้จากวัดร้างบางแห่งที่ยังคงมีงานฝีมือช่างหลวงอยู่ แต่เมื่อทิ้งร้างไปแล้วก็ขาดการซ่อมแซม ทำให้ยังปรากฏหลักฐานศิลปกรรมในช่วงระยะเวลาหนึ่งชัดเจนโดยไม่ถูกรบกวนมาก เช่น วัดภุมรินทร์ราชปักษี ที่ยังคงมีวิหาร 2 หลัง ปรากฏปูนปั้นรุ่นอยุธยาตอนปลาย-ต้นรัตนโกสินทร์เอาไว้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ ในขณะที่วัดใกล้เคียงคือวัดดุสิดารามนั้นถูกบูรณะต่อเนื่องจนไม่สามารถจับรายละเอียดได้ว่าเป็นงานสมัยแรกสร้างจริง

อย่างไรก็ตาม วัดร้างหลายแห่ง โดยเฉพาะที่อยู่ในอาณาเขตศูนย์กลางกรุงเทพฯ ยังคงถูกใช้งานต่อมาในฐานะอื่น ๆ และยังได้รับการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีตลอดมา (จนดูแทบไม่เหมือนวัดร้าง) บางครั้งจึงยากจะชี้ชัดได้ว่าเป็นงานในสมัยแรกสร้างจริง เพราะถูกซ่อมตามแบบเดิมจนมีสภาพดี ดังเช่น วัดบวรสถานสุทธาวาส (อยู่ในพื้นที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์ กรมศิลปากร) วัดรังษีสุทธาวาส (ยังรวมอยู่เป็นคณะหนึ่งภายในวัดบวรนิเวศวิหาร) วัดวงศมูลวิหาร (เป็นศาสนสถานของกองทัพเรือภายในกรมอู่ทหารเรือ)

ซากโบราณสถานที่ชำรุดสามารถสังเกตร่องรอยสร้าง-ซ่อม หรือรูปแบบศิลปกรรมชัดเจนมากขึ้น

สภาพที่ชำรุดของวัดร้าง ทำให้เผยร่องรอยของงานปฏิสังขรณ์ในสมัยโบราณ รวมทั้งเทคนิคการก่อสร้างโบราณออกมาให้เห็น ซึ่งจะไม่มีทางพบเห็นในวัดที่ยังรักษาสภาพเอาไว้ เช่น กรณีของอุโบสถวัดสวนสวรรค์ บางยี่ขัน ที่ปูนฉาบผนังภายนอกหลุดร่วงลงทำให้เห็นเทคนิคการปฏิสังขรณ์ในอดีตสมัยหลังจากการสร้างว่ามีการใช้ก้อนอิฐก่อปิดอัดหน้าต่างบางบานเอาไว้แล้วฉาบปูนปิดทึบ ทำให้ช่องหน้าต่างไม่รับกับช่วงเสาติดผนัง ซึ่งหากวัดนี้ยังไม่ทิ้งร้างก็คงยากจะเห็นร่องรอยดังกล่าว

เช่นเดียวกัน โบราณวัตถุจำพวกพระพุทธรูปปูนปั้นหรือหินทราย หากถูกทิ้งจะทำให้ยางรักทองคำเปลวหรือปูนที่ปั้นฉาบไว้หลุดร่วงออกมา เผยให้เห็นพุทธลักษณะดั้งเดิม มีตัวอย่างชัดเจนสุดคือหลวงพ่อทองคำวัดไตรมิตรฯ ซึ่งแต่เดิมประดิษฐานที่วัดโชตนาราม (วัดพระยาไกร) เมื่อวัดทิ้งร้างก็ถูกอัญเชิญมาจนปูนกะเทาะออก ทำให้พบว่าเป็นพระพุทธรูปทองศิลปะสุโขทัยขนาดใหญ่ และมีความสำคัญมาจนทุกวันนี้

รวมไปถึงพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยาที่ตกค้างตามวัดร้างในกรุงเทพฯ เช่น วัดอังกุลา บางระมาด วัดพิกุลใน บางบำหรุ ก็ยังพอทำให้วิเคราะห์อายุสมัยของวัดและชุมชนได้ว่าเก่าแก่ก่อนการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นไปจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา

ช่องหน้าต่างอุโบสถวัดสวนสวรรค์ที่ถูกก่อปิดในสมัยหลัง เห็นได้เพราะปูนฉาบหลุดร่วงลงตามความชำรุด

ร่องรอยเหล่านี้เปิดโอกาสให้สามารถตรวจสอบอายุสมัยแรกสร้างและการซ่อมแซมในสมัยหลังได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดอายุศิลปกรรมเป็นอย่างมาก

ในทางกลับกันก็มีวัดร้างที่ไม่พบหลักฐานใด ๆ แล้ว เพียงแต่ยังมีคนจดจำชื่อและตำแหน่งอย่างกว้าง ๆ ได้ เช่น วัดกระดังงา ในคลองบางระมาด ข้างวัดจำปา ซึ่งกลายเป็นสวนและบ้านเรือนคนไปหมดแล้ว

คนสมัยหลังที่เข้ามาใช้พื้นที่ทำพิธีกรรมในวัดร้าง

คติเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่วัดร้างยังคงตกตะกอนอยู่ในผู้คนชุมชนโดยรอบวัดร้างบางแห่งทำให้วัดร้างเหล่านั้นถูก “ปลุก” ขึ้นมาให้กลายเป็นพื้นที่พิธีกรรมอีกครั้ง หลังจากที่ทิ้งร้างทำลายไปจนเกือบหมดสภาพแล้ว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความขลังของสถานที่หรือรูปเคารพที่ยังคงอยู่ภายในวัดร้างนั้น เช่น หลวงพ่อดำ วัดอังกุลา บางระมาด ซึ่งชาวบ้านในย่านดังกล่าวทุกวันนี้ยังนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์และมีบริวารเป็นกุมารทอง “พี่จุก พี่แกละ พี่เปีย” ซึ่งให้คุณด้านการบนบานศาลกล่าว จนเมื่อสำเร็จตามสิ่งที่บนไว้ก็จะแก้บนด้วยวัตถุมงคลต่าง ๆ เช่น ว่าว ตะกร้อ

วัดร้างบางแห่งยิ่งน่าสนใจตรงที่มีการแบ่งพื้นที่ให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นมาอยู่ร่วมกันด้วย ที่พบมากสุดคือ “เจ้าพ่อ-เจ้าแม่” ที่เป็นอารักษ์ในต้นไม้ใหญ่ ซึ่งขึ้นโอบคลุมซากโบราณสถาน จนกระทั่งบริเวณวัดร้างนั้นเปรียบเหมือนที่ชุมนุมกันของเครื่องขมังเวทย์นานาชนิด

ในอีกขั้นหนึ่งซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงราว 20 ปีที่ผ่านมา คือการกลับเข้าไปฟื้นฟูวัดร้างให้กลายเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายอีกครั้ง คือมีพระสงฆ์จำพรรษาและมีกิจกรรมทางศาสนาเป็นกิจวัตร เกิดขึ้นกับวัดร้างตามชานเมืองย่านฝั่งธนบุรีหลายแห่ง โดยกระบวนการเริ่มจากมีพระภิกษุธุดงค์หรือพระเถระจากวัดอื่น ๆ ได้บุกเบิกเข้าไปยังวัดร้าง หรืออ้างว่าฝันเห็นคนโบราณมาชี้นิมิต จากนั้นจึงเริ่มพัฒนาให้เป็นสำนักสงฆ์ก่อน ภายหลังจึงได้ขอวิสุงคามสีมาจากกรมการศาสนาให้รับรองการเป็นวัดในที่สุด กรณีดังกล่าวได้แก่ วัดป่าเชิงเลน วัดโคกโพธิ์ราม และวัดปู่เถร (วัดตะเข้ หรือวัดโคกพระเถร)

ภาวะที่น่าเป็นห่วงของวัดร้างเหล่านี้คือ การก่อสร้างอาคารถาวรวัตถุและปรับปรุงพื้นที่จนหลักฐานโบราณคดีและศิลปกรรมที่อาจเคยมีได้สูญหายไปจนไม่อาจสืบค้นได้

วัดร้าง เติมเต็มประวัติศาสตร์-โบราณคดีของพื้นที่บางกอก-กรุงธนบุรี-กรุงเทพมหานคร

รายงานการสำรวจวัดวาอารามทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาของ น. ณ ปากน้ำ เมื่อราว พ.ศ. 2513 ให้ภาพที่กระจ่างมากขึ้นเกี่ยวกับพัฒนาการของบ้านเมืองบริเวณกรุงเทพฯ ก่อนการเกิดเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ ว่ามีชุมชนกระจายตัวกันมาตั้งแต่ราวต้นหรือก่อนกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานพระพุทธรูปหินทรายขนาดใหญ่และศิลปกรรมเก่าแก่ตามวัดต่างๆ “สมัยนั้นจะเรียกว่าเมืองอะไร ไม่มีใครรู้”

จากนั้นเมื่อเข้าสู่สมัยอยุธยาตอนปลาย ย่านแถบนี้ได้เจริญมากขึ้นโดยเฉพาะหลังจากขุดคลองลัดบางกอกในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ราว พ.ศ. 2087-88) และในที่สุดเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 แล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินจึงเลือกบางกอกเป็นที่มั่น ตั้ง “กรุงธนบุรี” ขึ้นก่อนแล้วพัฒนามาเป็น “กรุงรัตนโกสินทร์” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกในที่สุด ศิลปะรัตนโกสินทร์จึงเฟื่องฟูขึ้นสืบต่อมาในพื้นที่นี้

ข้อมูลของวัดร้างหลายแห่งที่ น. ณ ปากน้ำ ไม่ได้กล่าวถึงในรายงานนั้น กลับช่วยขับให้แนวคิดนี้เด่นมากยิ่งขึ้น ตรงที่ว่าวัดร้างหลายแห่งที่ยังคงมีงานศิลปกรรมและกำหนดอายุได้นั้นก็ตกอยู่ในราวสมัยอยุธยาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะวัดบางแห่งที่พบพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยาที่อาจทำให้ยืนยันอายุของชุมชนที่เกิดขึ้นได้ เช่น วัดอังกุลาในคลองบางระมาด พบพระพุทธรูปหินทราย (หลวงพ่อดำ) สมัยต้นอยุธยา และชิ้นส่วนกระเบื้องเชิงชายดินเผาสมัยอยุธยาตอนปลาย อันเป็นหลักฐานสำคัญที่สอดคล้องกับวรรณคดีโบราณคือ “โคลงกำสรวลสมุทร” ที่ระบุย่าน “บางระมาด” เอาไว้ในเส้นทางเดินเรือของแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 และบางระมาดนี้ยังคงเป็นชุมชนลงมาจนกระทั่งปลายกรุงศรีอยุธยาถึงปัจจุบันด้วย

ส่วนวัดร้างที่ตกค้างอยู่ตามชุมชนสองฝั่งลำน้ำเก่าในกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก ก็ทำให้เห็นได้ว่าชุมชนแต่เดิมมีความหนาแน่นมากเพียงใด เช่น วัดสุวรรณคีรี คลองชักพระ (แม่น้ำเจ้าพระยาเดิม) ใต้วัดคูหาสวรรค์ลงมา แม้จะเป็นวัดขนาดเล็กแต่อายุสมัยอาจเก่าถึงสมัยอยุธยา ก็เป็นหนึ่งในวัดที่กระจุกตัวอยู่ในจุดสำคัญของบางกอกเก่า อันมีวัดคูหาสวรรค์ วัดทองศาลางาม วัดกำแพง วัดโบสถ์อินทรสารเพชร ตั้งอยู่เรียงชิดติดกัน และลึกเข้าไปในพื้นที่สวนที่โอบล้อมด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาเก่านี้ ก็ได้พบวัดใหม่วิเชียร (หลังวัดราชสิทธาราม) ที่เป็นวัดรุ่นรัตนโกสินทร์ที่เกิดจากการขยายตัวชุมชนเข้าไปในพื้นที่ลึกจากเส้นทางน้ำ

เส้นทางคมนาคมสำคัญอีกทาง คือลำคลองที่เชื่อมโยงแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีนและหัวเมืองทางใต้ลงไป คือคลองด่านหรือคลองสนามชัย จากบันทึกและคำบอกเล่าทำให้ทราบว่าวัดวาอารามสองฟากฝั่งคลองเส้นนี้ล้วนเคยเป็นวัดร้างมาเกือบทั้งสิ้นจากสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งหลัง และถูกฟื้นฟูบูรณะโดยพระมหากษัตริย์และเจ้านายสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น วัดจอมทอง (วัดราชโอรสาราม) วัดนางนอง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังได้พบวัดร้างอีกอย่างน้อย 2 แห่งที่มีหลักฐานบ่งบอกความสำคัญและความเก่าแก่ของคลองด่าน คือ วัดสี่บาทและวัดนาค ฝั่งตรงข้ามวัดกก บางขุนเทียน โดยเฉพาะวัดนาคนั้นมีพระพุทธรูปประธานขนาดมหึมามีพุทธลักษณะแบบอยุธยาตอนต้นถึงตอนกลาง และใบเสมาหินทรายแดงขนาดย่อมแกะสลักลวดลายซึ่งมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ยืนยันว่าคลองด่านนั้นเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลทางใต้ของกรุงศรีอยุธยามาช้านาน และชุมชนบริเวณนั้นก็เคยเป็นชุมชนใหญ่ด้วยมีวัดเรียงรายติดกันสองฝั่งคลองรวมแล้วถึง 3 วัดด้วยกัน แต่เหลือเพียงวัดเดียวในปัจจุบันคือวัดกก

ชิ้นส่วนใบเสมาหินทรายแดงขนาดใหญ่พบปะปนอยู่กับชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยาตอนต้น-ตอนกลางที่วัดนาค ริมคลองด่าน บางขุนเทียน

นอกจากนี้ แม้จะไม่เหลือหลักฐานอะไรไว้มาก แต่วัดร้างหลายแห่งช่วยทำให้กำหนดขอบเขตชุมชนย่านบางกอกในอดีตได้ เช่น วัดโคกโพธิ์รามและวัดปู่เถรที่อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางพรมและคลองบางระมาด ซึ่งเคยพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าถึงสมัยอยุธยาจำพวกเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาบ้านบางปูน-แม่น้ำน้อยสมัยอยุธยา และเป็นตำแหน่งสุดท้ายทางตะวันตกของบางกอกที่มีร่องรอยของวัด แสดงว่าเป็นจุดสิ้นสุดของชุมชนก่อนที่จะออกไปสู่พื้นที่รกร้างกว้างใหญ่จรดแม่น้ำนครชัยศรี-ท่าจีนอีกไกลออกไป ซึ่งกว่าพื้นที่ดังกล่าวจะถูกบุกเบิกเป็นเรือกสวนไร่นาก็ตกเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 4-5 ที่มีการขุดคลองภาษีเจริญและคลองทวีวัฒนาแล้ว

ขณะเดียวกัน เราไม่พบร่องรอยของวัดร้าง (หรือวัดที่ยังไม่ร้าง) ซึ่งมีอายุถึงสมัยอยุธยาที่อยู่ลึกเข้าไปทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกรุงเทพฯ (หรือฝั่งพระนคร) อันเป็นที่ลุ่มต่ำกว้างใหญ่ไม่มีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของผู้คนเลยจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่กลับมีวัดร้างที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชั้นในของพระนคร และตามริมฝั่งแม่น้ำไม่ไกลซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดชุมชนกรุงเทพฯ ยุคแรก เช่น วัดบวรสถานสุทธาวาส วัดรังษีสุทธาวาส วัดพระยาไกร เป็นต้น

ที่สำคัญ ได้พบวัดร้างปรากฏอยู่บนแผนที่กรุงเทพฯ ที่ตีพิมพ์ในราว 100 ปีมาแล้ว บริเวณคุ้งแม่น้ำฝั่งตะวันออกทางใต้ของกรุงเทพฯ ซึ่งบันทึกของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเคยกล่าวถึงว่าเป็นเมือง “พระประแดงเก่า” และมีในพระราชพงศาวดารว่าเคยเป็นเมืองที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ทำให้ทราบได้ว่าแต่ก่อนนอกจากพื้นที่ตรง “บางกอก” หรือโค้งแม่น้ำที่ถูกขุดลัดในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชอันจะกลายมาเป็นศูนย์กลางของกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว

ยังมีชุมชนโบราณอีกแห่งในเขตกรุงเทพมหานครที่เคยมีความสำคัญด้วยคือเมืองพระประแดงเก่า ที่มี “วัดหน้าพระธาตุ” ตั้งอยู่เป็นหลักและมีวัดเล็กวัดน้อยเป็นบริวาร ซึ่งเมืองนี้คงหมดความสำคัญลงเมื่อปากอ่าวทะเลถอยร่นลงไปอยู่ตรงจังหวัดสมุทรปราการหรือปากน้ำ ปัจจุบันวัดเหล่านั้นสิ้นสภาพไปหมดแล้ว เพราะกลายเป็น “ท่าเรือคลองเตย” และชุมชนโดยรอบทั้งหมด

ส่งท้าย…มองวัดร้าง ไม่ได้เห็นแค่ “บางกอก”

ภาพรวมจากประเด็นต่างๆ ดังกล่าวมา อาจสรุปได้ว่าวัดร้างในกรุงเทพฯ ช่วยเสริมทำให้เห็นได้ว่าพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานับตั้งแต่ใต้นนทบุรีลงมามีชุมชนอยู่แล้ว อย่างน้อยอาจถึงช่วงต้นถึงกลางสมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 โดยขอบเขตของพื้นที่ที่มีผู้คนตั้งถิ่นฐานกันนั้นออกไปทางทิศตะวันตกมากกว่าทางตะวันออกที่ยังลุ่มต่ำเจิ่งนอง ส่วนทางใต้ลงมานั้นเคยมีเมืองเก่าที่เรียกกันว่า “เมืองพระประแดงเก่า” ตั้งอยู่ที่ท่าเรือคลองเตยในปัจจุบันตรงคุ้งแม่น้ำใหญ่ แต่รกร้างไปแต่ครั้งใดไม่มีหลักฐาน และทางฝั่งตะวันออกนั้นก็มีวัดร้างที่พบในใจกลางพระนครที่มีประวัติชัดเจนว่าสร้างขึ้นเมื่อสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว

ทั้งหมดนี้แสดงความต่อเนื่องการใช้พื้นที่แถบ “บางกอก” และใกล้เคียงที่ต่อมาจะกลายเป็น “กรุงเทพมหานคร” ในที่สุด

อย่างไรก็ดี การกำหนดชื่อเรียกเขตการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นบางกอก หรือกรุงเทพมหานคร ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทางราชการ ทว่าพื้นที่แถบนี้ยังต่อเนื่องกับบริเวณอื่นๆ ซึ่งผู้คนย่อมติดต่อไปมาหาสู่กันด้วยเส้นทางคมนาคมอันมีแม่น้ำลำคลองเป็นหลัก พื้นที่ที่ไม่อาจละเลยได้คือบริเวณทางเหนือ ได้แก่ นนทบุรี ทางใต้และตะวันตก คือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ตามลำดับ หรืออาจเรียกตามปัจจุบันว่า “ปริมณฑล” ของกรุงเทพฯ นั่นเอง

อาณาบริเวณดังกล่าวยังหลงเหลือหลักฐานทางโบราณคดีกับศิลปกรรมสำคัญอยู่ในรูปของ “วัดร้าง” หลายแห่ง ซึ่งมีความสำคัญในฐานะข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่อาจเชื่อมโยงให้ประวัติศาสตร์กระแสหลักชัดเจนมากขึ้นได้ด้วยเช่นกัน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารอ้างอิง :

กรมแผนที่ทหาร. แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2431-2474. กรุงเทพฯ : กรมแผนที่ทหาร, 2530.

กรมศิลปากร. ประวัติและโคลงกำศรวลศรีปราชญ์ พร้อมด้วยบันทึกสอบทานและหมายเหตุ. พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร, 2513.

กองพุทธศาสนสถาน กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 1. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา, 2525.

______. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา, 2526.

กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ศิลปวัฒนธรรมไทย เล่มที่ 4 วัดสำคัญ กรุงรัตนโกสินทร์.
กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.

น. ณ ปากน้ำ. ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร : เกษมบรรณกิจ, 2514.

ประทีป เพ็งตะโก. “แบบพระพักตร์พระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยา,” ใน รวมบทความทางวิชาการ 72 พรรษาท่านอาจารย์ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2538, น. 73-91.

ประภัสสร์ ชูวิเชียร. “วัดโบราณในคลองบางระมาด,” ใน วารสารเมืองโบราณ. ปีที่ 32 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2549), น. 73-88.

______.“วัดร้างฝั่งธนบุรี,” ใน วารสารเมืองโบราณ. ปีที่ 35 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2552), น. 52-62.

พรรณี บัวเล็ก และ อภิญญา นนท์นาท. “เหลือเพียงนาม วัดพระยาไกร,” ใน วารสารเมืองโบราณ. ปีที่ 39 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2556), น. 52-57.

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล. “เมืองพระประแดง : จากคลองเตย มานครเขื่อนขันธ์จบที่อำเภอพระประแดง,” ใน ดำรงวิชาการ. ปีที่ 12 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2556).

วิชญดา ทองแดง และ ศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. งานช่างสมัยพระนั่งเกล้าฯ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551.

สันติ เล็กสุขุม. ข้อมูลกับมุมมอง : ศิลปะรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2548.

______. ศิลปะอยุธยา งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2550.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. แม่น้ำลำคลองสายประวัติศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2551.

______, บรรณาธิการ. เวียงวังฝั่งธนฯ ชุมชนชาวสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ความรู้จากวัดร้างในบางกอก” เขียนโดย รศ.ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2561