“คำทำนายสัตว์ตก” หนึ่งใน “อุบาทว์ 8” ลางบอกเหตุดี-ร้ายจากสมุดไทยโบราณ

สมุดไทย สมุดข่อย คำทำนายสัตว์ตก อุบาทว์ 8

ตำราโบราณของไทยมีสิ่งที่เรียกว่า “คำทำนายสัตว์ตก” จากการร่วงหล่นของสัตว์จากที่สูง อันเป็นลางบอกเหตุดีเหตุร้ายต่าง ๆ และเป็นส่วนหนึ่งของ “อภิไทโพธิบาทว์” หรืออุบาทว์ 8 ดังปรากฏอยู่ในหนังสือสมุดไทย หมวดโหราศาสตร์ เลขที่ 87 พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งระบุว่ามีการคัดลอกและรวบรวมมาจากสมุดไทยหลายเล่มอีกทอดหนึ่ง

อาจารย์ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรโบราณและจารึก อธิบายถึงอุบาทว์ 8 ว่าเป็น “อุบาทว์” อันเกิดจากเทวดา 8 องค์ บันดาลปรากฏการณ์ผิดปกติ ผิดแผกไปจากธรรมชาติ แต่ละอุบาทว์จะมีชื่อตามนามของเทวดา ได้แก่ อุบาทว์พระอินทร์ อุบาทว์พระยม อุบาทว์พระเพลิง อุบาทว์พระนารายณ์ อุบาทว์พระพิรุณ อุบาทว์พระพาย อุบาทว์พระโสมราช และอุบาทว์พระไพรศรพณ์

เหตุต่าง ๆ ที่เกิดจากเทวดาบันดาลอุบาทว์ อาทิ อุบาทว์พระอินทร์ มีพระอินทร์บันดาลให้มีเหตุเป็นไป เช่น ฟ้าผ่าปราสาทราชวัง โรงช้าง โรงม้า หรือบ้านเรือน อุบาทว์พระเพลิง มีพระเพลิงหรือพระอัคนีบันดาลให้เกิดเหตุ เช่น แผ่นดินแยก กล้วยแตกปลีกลางต้น หมาขึ้นหลังคาโรงเรือน เห็นไฟลุกกลางเรือน

หรืออุบาทว์พระยม ก็จะเชื่อว่าพระยมเป็นผู้บันดาลให้เกิดเหตุเป็นไปต่าง ๆ เช่น นกเค้านกแสกบินเข้าเรือน ตามความเชื่อแต่โบราณที่ว่า เมื่อนกแสกบินผ่านบ้านหลังใด บ้านหลังนั้นจะต้องมีคนตาย เป็นต้น

นกแสก อุบาทว์ 8
นกแสก (ภาพจาก มติชนออนไลน์, 10 มกราคม 2566)

สำหรับคำทำนายสัตว์ตกจากสมุดไทยข้างต้น ตัวอย่างเช่น

“ ◉ สัตว์ตกแสดงเหตุชี้   บันดาล

บัณฑิตปรีชาญาณ   ย่อมแจ้ง

ตามตำรับโบราณ   บัญญัติ

สมถูกเหมือนดังแกล้ง   บอกให้ทราบความ

◉ เป็นนิมิตบอกชี้   เหตุผล

แต่หมู่สัตว์ฝูงชน   ทั่วหน้า

เพื่อระมัดระวังตน   จงหนัก

อุบาทว์ทุกข์แรงกล้า   อย่าได้หละหลวม ฯ

ตามในโบราณตำรา   แมงสาบแมงดา   จิ้งจกตุ๊กแกค้างคาว

วิหกงูหนูท้องขาว   แมงป่องสามหาว   หนึ่งด้วงมะพร้าวภุมรา

จรเข็บจรขาบแมลงล่า   หิ่งห้อยบินถลา   ผีเสื้อแลแมงผึ้งแมงมุม

แม้ตกลงกลางชุมนุม   อันตรายจักกุม   แก่คนอันนั่ง บ มิคลาย

แม้สัตว์ทั้งหลายตกตาย   กลางคนทั้งหลาย   พวกนั้นจักสิ้นสูญวงศ์

แม้ว่าสัตว์นั้นตัวยง   บ มิสูญดับปลง   ชีวิตรในที่กลางแปลง

พวกนั่งทั้งนั้นอย่างแหนง   จักพลัดพรายแพลง   กันไปประเทศนานา

ถ้านั่งคนเดียวเอกา   สัตว์ตกลงมา   แน่ชัดประจักษ์แจ้งการ

เทวาจักช่วยอภิบาล   จักให้ศฤงคาร   แลลาภ บ แคล้วทำนาย

ถ้าตกเบื้องซ้ายโดยหมาย   จักทุกข์ระทมกาย   อุบัติให้อัปรา

ถ้าสัตว์ตกลงเบื้องขวา   พี่น้องจักมา   ประสมประสบเปรมปรีดิ์

ถ้าตกเบื้องหลังจักมี   ผู้ก่อกลี   มาสวดมาส่อใส่ความ

ถ้าถูกศีรษะอย่าขาม   ไทท้าวจักปาม   จักปูนบำเหน็จยศตน

แม้ตกใส่หน้าพึงยล   เป็นชายเร่งขวน   ขวายสืบจะได้ภรรยา

ถ้าหญิงจักได้ภัสดา   ตามในตำรา   สำหรับท่านกล่าวบรรยาย…”

นอกจากนี้ ยังมีตอนหนึ่งกล่าวถึงคำทำนายสัตว์ต่าง ๆ ที่มาจับหรือมาทำรังภายในบ้านเรือนว่าสามารถเกิดเหตุดีร้ายประการใดได้บ้าง พร้อมบอกวิธีแก้ไข ดังนี้

“◉ สิทธิการิยะ ผึ้งก็ดี แร้งก็ดี ปลวกก็ดี ถ้าจับหนบูรพ จะเสียของ ถ้าจับข้างอาคเณย์ ให้เร่งไฟจะไหม้เรือนชาน ถ้าจับข้างทิศทักษิณ ให้เกรงตัวจะตาย ถ้ามิตาย ลูกเมียจะตาย ถ้าจับข้างหรดีให้เกรงเขาจะลักของแล ถ้าจับข้างประจิมจะได้ลาภเพราะผู้หญิงแล ถ้าจับข้างพายัพจะเจ็บปวดแล ถ้าจับข้างอุดร ผู้ใหญ่จะให้ลาภอันดี ถ้าจับข้างทิศอิสาณ จะได้ลาภแห่งพระมหากษัตริย์

ตัวปลวกเป็นข้างทิศบูรพ ให้บูชาด้วยข้าวสารแลมะพร้าวให้เตยขึ้นจะดี ถ้าเป็นข้างอาคเณย์ไฟจะไหม้ ให้บูชาด้วยข้าวเปลือก ถ้าเป็นข้างทักษิณให้บูชาด้วยธูปเทียน ถ้าเป็นข้างประจิมทิศ ให้บูชาด้วยข้าวธูปเทียนมะพร้าว จะได้เงินทองลูกเมียผู้คน ถ้าเป็นข้างพายัพ ให้บูชา (ต้นฉบับไม่ชัดเจน) เสียเถิด ถ้าเป็นข้างอุดรแลอีสาณจะดีนัก จะมีลาภนักหนา”

จอมปลวก คำทำนายสัตว์ตก
จอมปลวก (ภาพจาก Wikimedia Commons)

คำทำนายบอกเหตุเป็นความเชื่อแต่โบราณ แม้โลกสมัยใหม่จะพัฒนาไปไกล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้ยังมีอิทธิพลต่อความเชื่อของคนจำนวนไม่น้อย การศึกษาเพื่อประดับความรู้ไว้ย่อมไม่เสียหาย แต่ขอให้พิจารณาด้วยเหตุผลและวิจารณญาณเป็นปฐม

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดาวรัตน์ ชูทรัพย์. ตำราคำทำนายสัตว์ตก พระนิพนธ์ พระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์. นิตยสาร ศิลปากร ปีที่ 67 ฉบันที่ 3 พ.ค. – มิ.ย. 2567.

ปวเรศวริยาลงกรณ์, สมเด็จกรมพระยา. “ตำราทายสัตว์ตก สัตว์ร้อง.” สมุดไทยดำ. หมวดตำรา หมู่โหราศาสตร์. อักษรไทย. เส้นดินสอ. เลขที่ 431. สำนักหอสมุดแห่งชาติ.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ตุลาคม 2567