“วันออกพรรษา” ทำไมเรียก “วันมหาปวารณา” ใครปวารณากับใคร?  

วันมหาปวารณา
ประชาชนตักบาตรเทโวในวันออกพรรษา (ภาพจาก www.matichon.co.th)

หลังจากสงฆ์จำพรรษาตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติไทย พอถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ก็จะเป็น “วันออกพรรษา” ซึ่งปี 2567 ตรงกับวันที่ 17 ตุลาคม วันดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกอีกว่า “วันปวารณา” หรือ “วันมหาปวารณา” ด้วยมีกิจสำคัญของสงฆ์เกิดขึ้นในวันนั้น

ที่มา “ปวารณา”

คำว่า “ปวารณา” มีหลายความหมาย ซึ่งความหมายที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา คือ ยอมให้ว่ากล่าว ยอมให้ตักเตือน

สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล มีสงฆ์หลายรูปจำพรรษาด้วยกันอยู่ในอารามโดยรอบ เพื่อป้องกันการเกิดความขัดแย้ง จึงได้ตั้งกติกากันว่าจะประพฤติ “มูควัตร” คือ การนิ่งไม่พูดจากันตลอด 3 เดือน ใครมีกิจใดก็ทำตามหน้าที่ของตน

จนถึงวันออกพรรษา สงฆ์เหล่านั้นก็มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหาร แล้วกราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ แล้วทรงอนุญาตให้สงฆ์ที่จำพรรษาครบ 3 เดือน “ปวารณา” แก่กันและกัน คือ การว่ากล่าวติโทษข้อผิดพลั้ง ตามที่ได้เห็นหรือได้ยิน หรือรู้สึกรังเกียจ

สงฆ์ “ตักเตือน” สงฆ์

ดังนั้น “วันออกพรรษา” จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันมหาปวารณา” คือ การทำปวารณาครั้งใหญ่ พระภิกษุทุกรูปทั้งพระผู้ใหญ่และผู้น้อยต่างเปิดโอกาสอนุญาตแก่กัน ให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ด้วยจิตที่เมตตา โดยมีคำกล่าวปวารณาว่า

“ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ หากท่านทั้งหลายได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัยว่า…กระผมได้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียใหม่ให้ดี”

(ภาพประกอบจาก www.khaosod.co.th)

การกล่าวปวารณา จึงช่วยระมัดระวังข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีของสงฆ์ ก่อนที่จะลุกลามก่อความเสื่อมเสียไปถึงคณะสงฆ์หมู่มาก หรือพระศาสนา ปกติการปวารณาจะทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 แต่ถ้ามีเหตุขัดข้อง ทรงอนุญาตให้เลื่อนวันปวารณาออกไปได้อีกครึ่งเดือน ซึ่งตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 11

กิจกรรมฆราวาส 

สำหรับฆราวาส ประเพณีออกพรรษาก็คงเป็นการทำบุญ, ตักบาตร, รับศีลฟังเทศน์ ฯลฯ เช่นวันสำคัญอื่นๆ ในพุทธศาสนา แต่มีบางอย่างที่พิเศษเฉพาะออกพรรษา ได้แก่ การตักบาตรเทโว, การทอดกฐิน ฯลฯ 

การตักบาตรเทโว อ้างอิงกับพุทธประวัติ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระองค์ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาอยู่ 1 พรรษา จนออกพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จึงเสด็จลงมาประทับที่เมืองสังกัสสะ มีประชาชนไปเฝ้าเพื่อทำบุญตักบาตรอย่างหนาแน่น ภายหลังเมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ประชาชนจึงนิยมมาทำบุญตักบาตรเทโว จนเป็นประเพณีสืบมา

วันมหาปวารณา
ประชาชนจำนวนมากไปทำบุญงานกฐิน (ภาพประกอบจาก www.khaosod.co.th)

การทอดกฐิน คือ การถวายผ้ากฐินของชาวพุทธแก่สงฆ์ เป็นประเพณีที่เกิดขึ้นเพื่อทำบุญและช่วยเหลือสงฆ์ให้ได้รับความสะดวกเรื่องจีวรนุ่งห่ม โดยต้องทำในช่วงเวลาที่กำหนดไว้คือ  1 เดือนหลังออกพรรษา ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ. “ธรรมานุศาสน์ วันมหาปวารณา (วันออกพรรษา)” ใน, https://cpc.rtaf.mi.th/images/Dhammanusasana/073Dhammanusasana.pdf

กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันออกพรรษา. กรมศาสนา พิมพ์ครั้งแรก 2564.


เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 16 ตุลาคม 2567.