ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ในห้องทวารวดี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธรูปทวารวดี” องค์ใหญ่สะดุดตา ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปยืนศิลปะทวารวดีองค์ใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบในปัจจุบัน พระพุทธรูปองค์นี้มีความน่าสนใจ ไม่เพียงการเป็นหลักฐานร่องรอยวัฒนธรรมทวารวดีในสุโขทัย แต่ยังเลื่องลือเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ถึงขั้นมีผู้คนแห่ไปกราบไหว้บูชา ทำเอาแพที่ประดิษฐานล่องลงมากรุงเทพฯ เกือบจมมาแล้ว
“พระพุทธรูปทวารวดี” อายุนับพันปี
พระพุทธรูปศิลาองค์นี้จัดอยู่ในศิลปะทวารวดี ประมาณอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 หรือราว 1,000 ปีก่อน พบที่วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. 2469 และนำมาไว้ที่ “พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” เมื่อ พ.ศ. 2471
พระพุทธรูปสูงรวมฐาน 330 เซนติเมตร แบ่งเป็นฐานสูง 38 เซนติเมตร และองค์พระสูง 292 เซนติเมตร ใช้หิน 4 ชิ้น ประกอบเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่
ชิ้นแรกคือตั้งแต่พระเศียรลงไปถึงพระโสณี (สะโพก) ชิ้นที่ 2 ตั้งแต่พระโสณีลงไปถึงฐานบัว ส่วนชิ้นที่ 3 และ 4 ทำพระกรช่วงล่างทั้ง 2 ข้าง ซึ่งการใช้หินหลายก้อนแบบนี้ เป็นกรรมวิธีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ของทวารวดี
จุดเด่นของพระพุทธรูปคือมีพระพักตร์เหลี่ยม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำแสดงความสงบ พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะ พระกรรณยาว ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะนูนสูงเด่น
องค์พระครองจีวรห่มคลุม ไม่มีริ้ว บางแนบเนื้อราวผ้าเปียกน้ำ ทำให้เห็นพระพุทธสรีระและขอบสบงที่บริเวณบั้นพระองค์ชัดเจน ชายจีวรด้านหน้ายกสูงพาดผ่านพระชงฆ์เป็นรูปวงโค้ง ชายจีวรด้านหลังยาวเป็นกรอบสี่เหลี่ยม มีชายทบไปมาแบบเขี้ยวตะขาบ และเห็นชายสบงอยู่ตรงกลางระหว่างจีวรด้านหน้ากับด้านหลัง
ส่วนพระกรส่วนบนทั้ง 2 ข้าง ตั้งแต่พระพาหา (ต้นแขน) จนถึงพระกะโประ (ศอก) มองเห็นหลุมวงกลมที่ใช้สำหรับรับเดือยของพระกรท่อนล่างที่หลุดหายไปแล้ว
ขณะที่พระบาททั้ง 2 ข้าง มีฐานสลักกลีบบัวคว่ำและกลีบบัวหงายรองรับ ไม่สกัดหินบริเวณข้อพระบาทออก ถือเป็นกรรมวิธีรับน้ำหนักที่พบได้ในประติมากรรมศิลปะทวารวดี ที่มีต้นแบบอยู่ในศิลปะคุปตะของอินเดีย
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เมืองสุโขทัย
หลังจากค้นพบพระพุทธรูปทวารวดีองค์นี้ที่วัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. 2469 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ทรงมีพระประสงค์จะให้อัญเชิญลงมาไว้ยังพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร
เรื่องนี้ พนมกร นวเสลา เล่าไว้ในบทความ “พระพุทธรูปทวารวดีองค์ใหญ่จากเมืองสุโขทัยกับศรัทธาประชาชนในสมัยรัชกาลที่ 7” ในนิตยสารศิลปากร ว่า
กรมดำรงทรงมีลายพระหัตถ์ถึง พระยาสุรินทรภักดี (จิตร ไกรฤกษ์) ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยขณะนั้น เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 ทรงระบุว่า ได้เสด็จยังเมืองสุโขทัย และทรงเห็นพระพุทธรูปศิลาองค์ใหญ่ ควรเชิญลงมารักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร
แต่องค์พระมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก ต้องบรรทุกลงเรือมา หากถึงฤดูน้ำหลากก็ให้จ้างเรือบรรทุกสินค้าบรรทุกพระพุทธรูปล่องลงมาส่งที่กรุงเทพฯ
ต่อมา ทางราชการได้จ้างแพจากบริษัท บอมเบย์ เบอร์มา ให้บรรทุกพระพุทธรูปมายังกรุงเทพฯ เริ่มขนย้ายเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม มีนายพลอย มั่งคั่ง และลูกจ้างของบริษัทเป็นผู้คุมแพ และมีนายดาบ ขุนเพียรพิทักษ์ชล ผู้ควบคุมเรือกลไฟหลวง นำเรือกลไฟหลวงวาสุเทพล่องลงมาด้วย
พอวันที่ 11 พฤศจิกายน เมื่อแพล่องถึงหน้าที่ทำการอำเภอบางคลาน ซึ่งเป็นจุดบรรจบระหว่างแม่น้ำยมกับแม่น้ำพิจิตร ปรากฏว่าเกิดคดีความขึ้น เหตุเพราะนายพลอย ผู้คุมแพ และพวกพ้อง หลอกลวงชาวบ้านในพื้นที่ว่าพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ผู้คนต่างหลงเชื่อ พากันไปขอซื้อผ้าที่มีรอยประทับอุณาโลมตรงพระนลาฏ (หน้าผาก) ทั้งยังเก็บเงินชาวบ้านที่อยากชมพระพุทธรูปอีกด้วย
รายละเอียดเหตุการณ์นี้ ปรากฏในลายพระหัตถ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทูลกรมดำรง ลงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2472 ความตอนหนึ่งว่า
“…ตามสำนวนการไต่สวนได้ความว่า เมื่อนายพลอยกับพวกล่องแพพระพุทธรูปมาหยุดที่อำเภอบางคลาน นายพลอยกับพวกได้ใช้อุบายหลอกลวงราษฎรว่าพระพุทธรูปนั้นศักดิ์สิทธิ์อยู่คงกะพันต่างๆ มีราษฎรเชื่อถือและได้พากันไปขอซื้อผ้าที่มีรอยประทับอุณณาโลม นำผ้าไปขอให้ประทับให้บ้างโดยเสียเงินให้ตั้งแต่รายละ ๓๐-๕๐ สตางค์ นอกนั้นยังเก็บเงินแก่ผู้ที่เข้าไปดูพระอีกเป็นอันมาก
นายสอน สนสกุล ปลัดอำเภอ ซึ่งรักษาการแทนนายอำเภออยู่เวลานั้นเห็นว่าเป็นอุบายหลอกลวงหาประโยชน์จากราษฎร โดยไม่ชอบ จึงได้จับตัวมาไต่สวนและขังไว้คืนหนึ่ง วันรุ่งขึ้นก็ปล่อยตัวไป…”
เรื่องหลอกลวงราษฎรยังไม่ทันจบเรื่องดี ก็เกิดเรื่องใหม่ขึ้น
เพราะระหว่างจับกุมตัวนายพลอยและพรรคพวก ปรากฏว่าไม่มีใครอยู่เฝ้าพระพุทธรูปศิลาเลย ชาวบ้านบางส่วนเลยถือโอกาสเข้าไปกะเทาะศิลาไว้เป็นเครื่องราง ทางจังหวัดพิจิตรจึงต้องตามสืบสวน จนอายัดส่วนศิลาได้ 6 ชิ้น และส่งตามมากรุงเทพฯ ภายหลัง
เมื่อพระพุทธรูปเมืองสุโขทัยมาถึงกรุงเทพฯ ชื่อเสียงเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ก็ยิ่งเลื่องลือ ดังที่กรมดำรงทรงมีลายพระหัตถ์ทูลกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ลงวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2472 ว่า
“…ด้วยมีคนตื่นพระพุทธรูปองค์นี้ลงมาตลอดทาง เมื่อถึงห้างบอมเบย์เบอร์มาในกรุงเทพฯ มีคนตื่นกันไปบูชา และพิมพ์อุณาโลมที่องค์พระจนแพจวนจะจม ถึงผู้จัดการบริษัทฯ ต้องร้องขอตำรวจนครบาลไปคอยห้ามปราม แม้เมื่อพระมาถึงพิพิธภัณฑสถานแล้ว ก็ยังมีคนตามมาบูชาเป็นอันมาก จนกระทั่งตั้งพระแล้วจะพิมพ์ที่อุณาโลมไม่ถึงจึงสงบไป…”
หากใครไปชมความงามของพระพุทธรูปศิลาสมัยทวารดีองค์นี้ ลองสังเกตที่ต้นขาของพระพุทธรูป อาจพบร่องรอยการปิดทองคำเปลว ที่แสดงถึงความศรัทธาของผู้คนในอดีตปรากฏให้เห็น
อ่านเพิ่มเติม :
- กําแพงเพชรกับสุโขทัย “นอนไม่เหมือนกัน” ดูได้จาก “พระนอน”
- “ภาพถ่ายเก่า” ขณะทำการขุดค้น วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย
- เมื่อ “สุโขทัย” (ถูกทำให้) เป็น “ราชธานี” แห่งแรกของ “ชาติไทย”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง, ผู้จัดทำข้อมูล. ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
พนมกร นวเสลา. “พระพุทธรูปทวารวดีองค์ใหญ่จากเมืองสุโขทัยกับศรัทธาประชาชนในสมัยรัชกาลที่ 7”, นิตยสารศิลปากร. ปีที่ 66 ฉบับที่ 3 พ.ค. – มิ.ย. 2566.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กันยายน 2567