สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ศิลปินชั้นครู ผู้ใช้ “แมว” สะท้อนพลังห้วงลึกของอารมณ์และจิตใจ

ภาพวาด อาจารย์สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
ภาพวาดผลงานอาจารย์สุเชาว์

อาจารย์สุเชาว์ ศิษย์คเณศ (พ.ศ. 2469-2529) เป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งของเมืองไทย แม้ท่านสิ้นไปแล้ว แต่ผลงานยังคงเป็นที่ยกย่องของศิลปินรุ่นหลังอย่างไม่เสื่อมคลาย ผลงานของท่านมีความโดดเด่นด้านการแสดงพลังของอารมณ์ หนึ่งในนั้นคือการถ่ายทอดผ่าน “แมว”

อาจารย์สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
อาจารย์สุเชาว์ ศิษย์คเณศ (ขวา) กับอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี และอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

“นักเอกซเพรสชั่นนิสม์ตัวยง”

ท่านอาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ (น. ณ ปากน้ำ) ศิลปินแห่งชาติ เขียนถึงงานของท่านอาจารย์สุเชาว์ในนิตยสารเฟอร์นิเจอร์ไว้ว่า

“เขาเป็นนักเอกซเพรสชั่นนิสม์ตัวยง ที่เขียนภาพด้วยอุดมคติของตนเอง และยึดมั่นในวิธีการของตนเอง โดยไม่ยอมเปลี่ยนแนวสยบให้แก่กลไกอันโหดร้ายในการค้าขายงานศิลป

เขาเป็นอิสรชน ผู้ยินดีหันหลังให้กับโลก เมื่ออยู่เบื้องหน้าผืนผ้าใบ และมือจับแปรง เขาปล่อยอารมณ์เฟื่องฝันไปยังโลกเร้นลับ ที่เต็มไปด้วยความฝันร้าย และความวิปริตของสังคม

เขาเดินอยู่ในมรรคาสายเปลี่ยว ที่มีบรรยากาศห่อหุ้มไปด้วยความกระเหี้ยนกระหือรือแสนน่าสพึงกลัว
จินตนาการของเขาถูกครอบงำด้วย ความมืด ความอ้างว้างเดียวดาย

สิ่งเหล่านี้ได้ซึมซาบลงไปในผลงานของเขา เขาผู้เป็นนักเอกซเพรสชั่นนิสม์คนสำคัญของเมืองไทย

แม้ว่าเราคาดการว่าคงมีผู้เข้าใจเขายาก

แต่ก็ไม่ยากสำหรับผู้มีน้ำใจ”

ท่านอาจารย์สุเชาว์ เขียนภาพแบบแสดงพลังของอารมณ์ โดยอารมณ์ของผู้ถ่ายทอดมาก่อนเป็นอันดับแรก มาก่อนความเป็นจริงที่เห็นอยู่ตรงหน้า มาก่อนสภาพแวดล้อม มาก่อนเรื่องราวในภาพ โดยสิ่งที่อยู่ในใจมีความเป็นจริงมากกว่าความเป็นจริงที่อยู่ภายนอก

อาจารย์สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
“แมวคราว แมวครวญ”

ท่านใช้สีรุนแรง ถ้าน้ำเงินก็จะน้ำเงินเข้ม ถ้าสีเหลืองก็จะเหลืองจัด เพื่อกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของคนดู องค์ประกอบภาพของท่านจะไม่ยึดติดอยู่กับความเป็นจริง อารมณ์ที่แสดงออกเป็นอารมณ์เศร้าหม่นหมองสิ้นหวังสะท้อนตัวตนของท่านเอง

ผลงานของท่านนั้น คุณนิวัติ กองเพียร ได้เขียนไว้ในบทความ “ชีวิตและงานของสุเชาว์ ศิษย์คเณศ” ตีพิมพ์เพียง 3 เดือนหลังจากท่านอาจารย์สุเชาว์สิ้นชีวิตไปในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2529

คุณนิวัติ เขียนว่า รูปเขียนของสุเชาว์คือตัวเขาเอง นี่คือเครื่องยืนยันว่าเขาเป็นศิลปิน เขาพูดอยู่เสมอว่า

“ผมมีสัจจะในการทำงาน ผมไม่เคยเขียนรูปตามใจคนอื่น”

ท่านอาจารย์สุเชาว์เคยเล่าถึงงานตนเองไว้ว่า

“รูปเขียนของผมนี่ถูกสับโขลกมากนะ ต้องอดทนไม่หวั่นไหว ต้องจริงใจ

ผมว่าเรื่องสีเป็นเรื่องสำคัญ ทีพู่กันนี่ก็ต้องรู้ว่าจะต้องหยุดตรงไหน จะยกขึ้นตรงไหน เมื่อไหร่จะเลิกเหมือนอย่างเราปรุงอาหารเมื่อไรมันจะพอดี…”

อาจารย์สุเชาว์ ศิษย์คเณศ สเก็ตช์ แมวคราว แมวครวญ
สเก็ตซ์ดีไซน์ของภาพ “แมวคราว แมวครวญ”

ท่านอาจารย์สุเชาว์ใช้สัญลักษณ์หลายแบบในผลงานของท่าน ที่สะท้อนถึงชีวิตจริง, ความลำบากยากแค้น, อารมณ์โหยหา, ความเปล่าเปลี่ยว, การต่อสู้ดิ้นรน ไปจนถึงความรักที่ไม่สมหวัง

สัญลักษณ์เหล่านี้มักถูกผู้เลียนแบบผลงานของท่านลอกเอาไปใช้เขียนบนบอร์ดไม้ โดยไม่รู้ความหมายที่แท้จริง ไม่รู้ความคิดที่รวบรวมมาเป็นองค์ประกอบในผลงาน ไม่รู้ช่วงเวลาของผลงาน

งานลอกเลียนแบบเหล่านั้นไม่พ้นสายตาของนักสะสมและผู้นิยมศิลปะที่รู้จริงมานานนับสิบปี จนถึงกับขนานนามงานเหล่านั้นว่าเป็นผลงานของ “อาจารย์สุเฉ่า”

“แมว” สัญลักษณ์ทรงพลังของอาจารย์สุเชาว์ ศิษย์คเณศ

สัญลักษณ์หนึ่งที่อาจารย์สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ใช้ในผลงานคือ “แมว”

ท่านเคยให้สัมภาษณ์กับ “นายเนียน” ตีพิมพ์ในนิตยสารฟ้าเมืองทอง ปีที่ 10 ฉบับที่หนึ่ง วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2528 เป็นการบันทึกการให้สัมภาษณ์ของท่านเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต บันทึกไว้เพียง 9 เดือนก่อนที่ท่านจะสิ้นชีวิตลงไป

อาจารย์สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
ภาพว้าเหว่ เอกา

“นายเนียน” ถามว่า “# ผมถามว่า แล้วแมวละครับ # อาจารย์ขีดเขี่ยปากกาลงบนกระดาษแผ่นเล็ก ดูเหมือนจะเป็นรูปบางอย่าง แว่นตาสีเข้มประดับอยู่บนใบหน้าแต่เมื่อใดผมไม่ทันได้สังเกต”

อาจารย์สุเชาว์ ตอบว่า…

“ ผมเป็นคนรักแมวนะ ชอบมากเลย แต่ผมเคยถูกมันกัดในร้านอาหารแห่งหนึ่ง

กัดผมเจ็บ แต่ช่างมันเถอะ มันอาจรักผม มันอาจแก้แค้นผม แต่รุนแรงไปหน่อย”

ท่านอาจารย์สุเชาว์ วาดภาพสัญลักษณ์แมวไว้สองแบบ คือ ภาพแมวที่เป็นรูปร่างตัวตนของแมว และภาพแมวที่เป็นงานดีไซน์

ภาพแมวที่เป็นรูปร่างตัวตนของแมว มีเพียงไม่กี่ภาพเป็นงานยุคหลัง ที่แสดงอารมณ์ของอาจารย์ ( ที่มีความสุขขึ้นมาบ้างออกมา) เช่นภาพแมวยืนชื่อ แมวคราว แมวครวญ ปี 2527 (รูปที่ 1)

สเก็ตซ์ดีไซน์ของภาพแมวคราว แมวครวญ (รูปที่ 2) จะเห็นได้ว่า ท่านอาจารย์น่าจะมีอารมณ์ดี ถึงได้คัดลอกบทกลอน แมวคราว ของมหากวี ชิต บุรทัต ที่เปรียบตัวเองว่าเป็นแมวแก่ร้องหาคู่ ต้องทนเปล่าเปลี่ยว อันสะท้อนถึงตัวตนที่แท้จริงของท่านอาจารย์สุเชาว์

งานสเก็ตซ์ดีไซน์ชุดนี้ มีทั้งหมด 4 ภาพ คือ ภาพ แมวคราว แมวครวญ, เอกาอาดูร, เด็กกำพร้าว้าเหว่ และ อาดูร ทั้ง 4 ภาพนี้ท่านอาจารย์เขียนไว้โดยลายมือว่า ให้นพรัตน์ ลิวิสิทธิ์ เพื่อนเก่าที่รัก

ภาพ ว้าเหว่ เอกา ปี 2527 (รูปที่ 3) เป็นภาพแมวที่เป็นรูปร่างตัวตนนอนขดอยู่

อาจารย์สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
อาจารย์สุเชาว์กับผลงานของท่าน

โปรดสังเกต ภาพแมวยืน แมวคราว แมวครวญ และ ภาพแมวนั่ง แมวคราว ปี 2527 ถ่ายภาพกับท่านอาจารย์สุเชาว์ยามป่วยหนัก (รูปที่ 4) เป็นการจัดแสดงผลงานเดี่ยว ที่หอศิลป์ พีระศรี เดือนตุลาคม ปี 2528 เป็นงานแสดงผลงานเดี่ยวครั้งสุดท้ายของท่านอาจารย์สุเชาว์เพียง 5 เดือนก่อนสิ้นชีวิต

ส่วนแมวที่เป็นงานดีไซน์ เป็นรูปแมวนอนขดตัว ที่ถูกลอกเลียนแบบไปใช้แบบน่าตลกขบขัน พบเห็นได้มากมายหลายสิบภาพในท้องตลาด ล้วนอ้างว่าเป็นงานของท่านอาจารย์สุเชาว์

อาจารย์สุเชาว์ ศิษย์คเณศ

ตัวอย่างภาพแมวดีไซน์นอนขดตัว คืองานบนผืนผ้าใบปี 2523 ไม่มีชื่อภาพ (รูปที่ 5) สัญลักษณ์แมวยุคนี้สำคัญมาก เป็นแมวที่ออกลูกออกหลานแบบน่าขบขันมามากมาย

ลวงนักสะสมที่ต้องการงานของท่านอาจารย์สุเชาว์ และมาลวงผู้รู้ไม่จริงให้แสดงความรู้โดยไร้หลักฐานยืนยัน

ภาพจากส่วนลึกของจิตใจ

อาจารย์ดำรง วงศ์อุปราช ศิลปินแห่งชาติ เขียนไว้ในนิทรรศการศิลปะ “ระลึกถึง สุเชาว์ ศิษย์คเณศ” จัดโดยกองทุนสุเชาว์ ศิษย์คเณศ ที่ อาร์ติสท์ แกลลอรี่ 23 มีนาคม- 23 เมษายน ปี 2530

“ที่น่าสนใจก็คือ มันเป็นภาพสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับตัวของเขาและสิ่งที่เขาปรารถนา เขาไม่เคยมีบ้านของตนเองและไม่มีจนวาระสุดท้าย

ภาพชามเปล่าแสดงให้เห็นถึงความอดอยาก ภาพเด็กกำพร้าหมายถึงตัวเขาเอง บางภาพมีพี่สาวร่วมอยู่ด้วย เขาไม่เคยลืมความหลังที่ลำบากยากแค้นแสนสาหัสเหล่านั้นเลย ความอดทนปรากฏออกมาในรูปของหัวเสือที่กัดฟัน ในภาพดาหลา ดาจ๋า ฉันรักเธอ ภาพแมวคราว แมวแก่แทนตัวเขาเอง

ท่านจะเห็นว่าสัญลักษณ์เหล่านี้อยู่โดดเดี่ยวอ้างว้างในสิ่งแวดล้อมที่เป็นเนื้อที่ว่างเปล่า และบางทีมีสิ่งก่อสร้าง และบางทีในกลางคืน ภาพเหล่านี้มีสีมืดและหนักเป็นส่วนใหญ่

ผู้ที่สัมผัสอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ได้อาจจะขนลุกเมื่อมองดูภาพเหล่านี้ ภาพเหล่านี้ออกจากส่วนลึกของอารมณ์และจิตใจของศิลปิน ซึ่งตรงกันข้ามกับภาพภายนอกของเขาซึ่งร่าเริง สนุกสนาน มันเป็นภาพลวง เป็นการกลบเกลื่อนความเป็นจริงแห่งชีวิตของศิลปินผู้นี้

ผมลืมภาพเหล่านี้ไม่ได้เลย เพราะศิลปินผู้นี้ได้แสดงออกด้วยความจริงใจและจริงจัง มันมีความลึกลับซับซ้อนอยู่ในภาพเหล่านี้ ดูแล้วก็ยังอยากดูอีก เป็นภาพที่แสดงความเป็นจริงแห่งชีวิต ไม่ใช่เหนือความเป็นความจริงและความลวง”

เรื่อง : Khunchild

ภาพ : ภาพวาดทั้งหมดในคอลเลกชันของ Suchet Suwanmongkol

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


 อ้างอิง :

จุมพล อภิสุข, บรรณาธิการ. สุเชาว์ ศิษย์คเณศ-ชีวิตและงาน. กรุงเทพฯ : พิฆเณศ, 2528.