สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าของผลงานที่ถูกเลียนแบบมากสุดคนหนึ่งในไทย

ท่านอาจารย์สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
อาจารย์สุเชาว์ (ขวา) กับอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี และอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เมื่อ พ.ศ. 2524

ในบรรดาศิลปินชั้นครูของไทย ต้องนับรวมท่านอาจารย์สุเชาว์ ศิษย์คเณศ (พ.ศ. 2469-2529) เข้าไปด้วยอย่างไม่มีข้อสงสัย

ผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมที่นักสะสมแสวงหา ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ราว พ.ศ. 2517 พื้นที่ทางศิลปะมีไม่มากนัก ที่มีก็เช่น หอศิลป์วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันเกอเธ่ ถนนพระอาทิตย์ สถาบันบริติช เคานซิล สยามสแควร์ รวมทั้งหอศิลป พีระศรี สาทรซอย 1 ซึ่งวงการศิลปะในช่วงนั้น ศิลปินผู้มุ่งมั่นที่จะเป็นเลิศต้องปากกัดตีนถีบลำบากกันจริงๆ เป็นการพิสูจน์ตัวตนที่อุทิศตนเพื่อศิลปะอย่างแท้จริง

ในด้านหนึ่งก็มีแกลเลอรีขายงานศิลปะ ที่อยู่ตามโรงแรมชั้นนำ และกระจายตามตึกแถวไม่กี่แห่ง เพื่อผู้มีฐานะได้เลือกซื้อไปประดับบ้านตามรสนิยม ภาพในแกลเลอรีที่เป็นที่นิยมและขายได้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นของนักวาดรูปมืออาชีพ ที่วาดเอาใจตลาด ที่ดูสวยงามเข้าใจง่าย

ในขณะที่ศิลปินเขียนภาพจัดแสดง บางคนที่มีชื่อก็ขายได้บ้าง และบางคนที่กำลังสร้างชื่อเสียงก็ขายไม่ได้เลย ศิลปินจำต้องแบกยกผลงานไปเสนอขายตามแกลเลอรีที่อาจได้ราคาไม่มากนัก เพื่อพอเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว

มาถึงตรงนี้แล้วก็อยากบอกว่า ครูบาอาจารย์ศิลปะในยุคนั้นลำบากมาก เช่น อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ อาจารย์ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ อาจารย์สุเชาว์ ศิษย์คเณศ อาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ อาจารย์ประเทือง เอมเจริญ ฯลฯ ที่ว่ามานี้ล้วนผ่านความลำบากยากแค้นมาทั้งนั้น

ท่านอาจารย์สุเชาว์
อาจารย์สุเชาว์ (ซ้าย) กับเพื่อนของท่าน คือ อาจารย์นพรัตน์ ลี้วิสิทธิ์ และอาจารย์สะอาด ถนอมวงศ์

ท่านอาจารย์สุเชาว์ ในความเป็นครูที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ท่านยังต้องดิ้นรนขายสี เพื่อหารายได้เสริม ท่านใช้เกรียงเขียนรูปแบบฉับพลัน ที่อาจใช้เวลาไม่มาก แต่ใช้พลังทางจิตวิญญาณแบบสุดๆ

ท่านนำผลงานไปฝากขายตามแกลเลอรีในราคาไม่แพงนัก ในยุคแรกงานบนบอร์ดไม้ราคาตั้งแต่ห้าร้อยบาท ไปจนถึงงานบนผืนผ้าใบ ที่ราคาเพียงสองถึงสามพันบาท แต่ก็ยังขายยาก ท่านจึงต้องเช่าห้องเล็กๆ ที่อยู่ใต้ถุนไปพอเอนกายหลับนอนและวาดรูป

ช่วงท้ายชีวิตที่ท่านป่วย เพื่อนๆ ศิลปินก็ร่วมแรงร่วมใจกันดูแล และรวบรวมผลงานของท่านมาจัดแสดง ณ หอศิลป พีระศรี สาทร ซอย 1 เพื่อระดมทุนรักษา พร้อมทั้งตั้ง กองทุนสุเชาว์ ศิษย์คเณศ ซึ่งคุณพีระ ดิษฐบรรจง หนึ่งในผู้ก่อตั้งกองทุน และทั้งเป็นผู้สนับสนุนดูแลและช่วยเหลืออาจารย์สุเชาว์ เป็นอีกท่านหนึ่งที่ต้องเอ่ยถึงการสะสมงานศิลปะ ควบคู่กับผลงานและประวัติอาจารย์สุเชาว์

วัดเก่า ท่านอาจารย์สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
ภาพ “วัดเก่า” โดยอาจารย์สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ปี 2528 ขนาด 50×45 ซม. สีน้ำมันบนผ้าใบ (ภาพในคอลเลกชันของ Suchet Suwanmongkol)

งานเลียนแบบภาพท่านอาจารย์สุเชาว์ 

งานเลียนแบบภาพของท่านอาจารย์มีมานานแล้ว และในช่วงหลังมานี้กลับมาอื้ออึงอีกครั้ง ผลจากคุณค่าของงานและราคาที่สูง และหางานของแท้ที่มีประวัติยืนยันชัดเจนได้ยากเย็น

เมื่อนักสะสมรุ่นหลังอยากได้มาครอบครองแต่หาไม่ได้ จึงสบโอกาสที่ผู้มีฝีมือด้านจิตรกรรมสมคบกับอาร์ทดีลเลอร์บางราย แสวงประโยชน์โดยทำงานเลียนแบบภาพของท่านอาจารย์ขึ้นมา ซึ่งงานพวกนี้จำนวนหลายสิบชิ้นได้ถูกบันทึกเป็นหลักฐานไว้ตั้งแต่หลายสิบปีที่ผ่านมาว่าเป็นงานที่น่าสงสัยไปจนถึงน่าขบขัน

งานเลียนแบบเหล่านี้ สมัยเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ งานพวกนี้จะวางขายกันที่แกลเลอรีในเมืองพัทยา ไม่สามารถวางขายตามแกลเลอรีในกรุงเทพฯ ได้ เพราะท่านจะแวะเวียนไปตามแกลเลอรีหลายแห่งเพื่อนำผลงานไปฝากขาย

จนเมื่อท่านสิ้นชีวิตไปแล้ว งานเลียนแบบเหล่านี้จึงเริ่มปรากฏขึ้นในกรุงเทพมหานคร

ครั้งหนึ่งราว พ.ศ. 2524 ผมเคยรับท่านจากบ้านคลินิกของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ สุนทร ตัณฑนันทน์ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ที่เชิงสะพานคลองมอญ บิดาของเพื่อนสนิทที่เป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์ ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ไปส่งที่บ้านของแม่ยายพี่หลิว ชีวา โกมลมาลัย ที่ท่านอาจารย์แบ่งเช่าห้องอยู่ ที่ซอยสว่าง ถนนจรัญสนิทวงศ์

เมื่อผ่านแกลเลอรีแห่งหนึ่งแถวสามแยกไฟฉาย ท่านอาจารย์ชี้และยิ้ม แล้วบอกว่า ร้านนี้วาดรูปของครูได้ดียิ่งกว่าตัวครูอีก

ยุคนั้นมีผู้ทำงานเลียนแบบผลงานของท่านอาจารย์บนบอร์ดไม้ พวกเรานักสะสมและอาร์ทดีลเลอร์ที่เชื่อถือได้ รู้กันดีว่าใครป็นคนทำ ใครเป็นคนขาย

งานเหล่านั้นลอกแบบจากผลงานบนผ้าใบที่สร้างชื่อเสียงให้ท่านอาจารย์ โดยพยายามใช้สัญลักษณ์ชามเปล่า, แมว, ตุ๊กตาล้มลุก, ปลา, น้ำเต้า, ดอกดาหลา, และชาวนา มาสร้างภาพเลียนแบบโดยใช้จินตนาการผสมผสานเอาเอง แล้วผูกเป็นเรื่องราวขึ้นใหม่ ใช้สีสันที่แตกต่างไปจากงานจริง มีทีเกรียงที่พยายามลอกเลียนแบบจากงานบนบอร์ดไม้ยุคแรกๆ ของท่านอาจารย์ ที่ส่วนใหญ่จะมีเนื้อเรื่องเป็นเด็กพี่น้อง

แต่ที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงคือ ผู้ลอกเลียนแบบได้ใช้สัญลักษณ์จากผลงานบนผ้าใบของท่านอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในยุคหลังปี 2522 โดยที่ผู้ลอกเลียนแบบเหล่านั้นนำสัญลักษณ์ต่างๆ ไปผสมผสานวาดเลียนแบบลงบนบอร์ดไม้ ทั้งที่ท่านอาจารย์สุเชาว์เลิกทำผลงานบนบอร์ดไม้ไปตั้งแต่ราว พ.ศ. 2518

งานเลียนแบบพวกนี้หลายสิบชิ้นยังตกค้างอยู่ในท้องตลาด และมีจำนวนมากหลงเหลืออยู่ในกรุของอาร์ทดีลเลอร์ผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยไม่มีผู้สนใจจะซื้อหามาครอบครอง จนกระทั่งงานลอกเลียนแบบเหล่านี้ได้ถูกกว้านซื้อหายไปเกือบหมดจากท้องตลาด เมื่อประมาณหนึ่งปีที่ผ่านมา

เรื่อง : Khunchild

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 สิงหาคม 2567