ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
สังคมไทยเชื่อว่า “การอยู่ไฟ” หลังคลอด จะช่วยฟื้นฟูสุขภาพของสตรีที่เพิ่งให้กำเนิดลูก ความเชื่อนี้สืบต่อกันมานานนับร้อยๆ ปี สตรีใดเมื่อคลอดแล้วจึงมักนิยมอยู่ไฟ ทั้งชาวบ้านธรรมดาไปจนถึงเจ้านายชั้นสูง เช่น “พระชายา” เจ้าฟ้าจุฬามณี ที่เมื่อหมอบรัดเลย์เห็นแล้วถึงกับตกใจ และพยายามโน้มน้าวให้ยกเลิก เพราะเกรงว่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ
หมอบรัดเลย์เมื่อแรกเห็น “การอยู่ไฟ”
ย้อนไปรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้าจุฑามณี ซึ่งต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเร่งเร้าให้ หมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวตะวันตก ที่เข้ามาสยามเพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ขณะเดียวกันก็มีความรู้ด้านการแพทย์ตะวันตก ไปเข้าเฝ้าพระองค์ที่วัง
หมอบรัดเลย์เล่าว่า เหตุที่เจ้าฟ้าจุฑามณีทรงเรียกตัวไปนั้น เพราะต้องการให้ไปดูแลพระชายาในพระองค์ ซึ่งเพิ่งมีประสูติกาลเป็นครั้งแรก
“เจ้าฟ้าชายซึ่งเราเรียกกันตอนนั้นว่า ‘เจ้าฟ้าน้อย’ ทรงชื่นชมวัฒนธรรมตะวันตกเป็นอย่างยิ่ง ทรงรับสั่งภาษาอังกฤษได้ดีเยี่ยม ทั้งทรงตกแต่งวังของพระองค์ด้วยของประดับนานาชนิดจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
เจ้าฟ้าน้อยทรงร้อนพระทัย ใคร่จะให้หมอฝรั่งช่วยทำให้บรรดาสนมนางในเชื่อว่าประเพณีโบราณที่ต้องอยู่ไฟเป็นสิ่งทารุณและไร้ประโยชน์ ด้วยพระองค์มีพระประสงค์ไม่ให้พระชายาต้องทนทรมานเช่นนั้น”
เมื่อหมอบรัดเลย์พร้อมด้วยภรรยาเดินทางไปที่วังของเจ้าฟ้าจุฑามณี ก็พบพระชายาในพระองค์กำลังอยู่ไฟ โดยบรรทมบนตั่งแคบๆ ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง สูงจากพื้นราว 8-9 นิ้ว พระขนอง (หลัง) ของพระชายาเปิดเปลือยรับไฟร้อนจัด ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 18 นิ้ว
“ถ้าย่นระยะลงมาเพียงครึ่งหนึ่ง ไฟนั้นก็คงจะร้อนแรงพอที่จะย่างซี่โครงหมูได้สบาย ส่วนพระบาทและพระอุระของพระองค์มีสิ่งปกคลุมไว้” หมอบรัดเลย์บรรยาย
หลังจากบรรทมท่านั้นได้ครู่เดียว ก็มีผู้พลิกพระวรกายพระชายา เพื่อให้พระนาภี (ท้อง) เผชิญกับไฟบ้าง ช่วงนั้นเองหมอบรัดเลย์เข้าไปจับชีพจรดู พบว่าเต้นเกินร้อยครั้ง ทั้งพระฉวียังแห้งแตกระแหง และทรงกระหายน้ำ ซึ่งสำหรับชาวสยามถือว่าสภาพเช่นนี้เป็นเรื่องปกติ
ความพยายามที่ (ยัง) ไร้ผล
อย่างไรก็ดี เรื่องอยู่ไฟไม่ใช่เรื่องปกติของการแพทย์แบบตะวันตก หมอบรัดเลย์จึงพยายามยกเหตุผลและหว่านล้อมผ่านทางเจ้าฟ้าจุฑามณี และพูดกับสตรีที่มีหน้าที่ช่วยเหลือพระชายา ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถโน้มน้าวให้บรรดาสตรีเหล่านี้เชื่อว่าควรจะหยุดพักการกระทำนี้ได้ แม้แต่ตอนกลางคืน ซึ่งควรให้พระชายาบรรทมพักผ่อนอย่างสบายๆ ก็ตาม
“[หญิงสาวเหล่านั้น] ต่างอ้างว่าวิธีการรักษาพยาบาลอย่างที่ข้าพเจ้าเสนอเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเคยรู้เคยเห็น ข้าพเจ้าเองก็เป็นคนแปลกหน้า ดังนั้นจึงไม่สมควรเลยที่จะยอมให้บุคคลสูงศักดิ์เช่นนั้นต้องเผชิญอันตรายจากการทดลอง
พอข้าพเจ้าพิสูจน์โดยแสดงให้เห็นว่าวิธีของข้าพเจ้าเป็นวิธีที่ดีที่สุด พวกเธอก็ยืนยันความเห็นของตน เจ้าฟ้าน้อยจึงทรงสัญญาว่าจะให้ข้าพเจ้ามีโอกาสใช้การรักษาพยาบาลแบบของตนกับสตรีชั้นต่ำกว่าในเร็วๆ นี้”
เจ้าฟ้าจุฑามณียังทรงอธิบายเรื่องอยู่ไฟกับหมอบรัดเลย์ด้วยว่า จะใช้ไฟขนาดนี้ต่อไปตลอด 3 วัน แล้วจึงจะเพิ่มไฟให้แรงมากขึ้นเป็น 2 เท่า และค่อยๆ เพิ่มขึ้นอีกเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาปกติสำหรับหญิงที่คลอดบุตรคนแรก จากนั้นระยะเวลาจะลดลงเป็น 25, 20, 18, 15 และ 11 วัน ขึ้นอยู่กับว่าหญิงนั้นให้กำเนิดทารกมาแล้วกี่คน
เป็นอันว่าช่วงเวลานั้น หมอบรัดเลย์ไม่สามารถเปลี่ยนวิถีและความเชื่อของชาวสยามเรื่องอยู่ไฟได้ เนื่องจากยังเป็นเรื่องใหม่มาก ผู้คนไม่ใคร่เชื่อว่าการเลิกอยู่ไฟจะดีต่อสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม เมื่อล่วงเข้ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงที่มีบทบาทในการโน้มน้าวให้สตรีชาวสยามเลิกอยู่ไฟก็คือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระองค์ทรงให้กรมพยาบาลอ้างกระแสรับสั่ง ชี้แจงแก่สตรีที่มาคลอดลูกที่โรงพยาบาลว่า พระองค์เคย “ผทมเพลิง” (อยู่ไฟ) มาก่อน แล้วทรงเปลี่ยนมาใช้วิธีพยาบาลอย่างใหม่ ทรงสบายพระวรกายกว่าผทมเพลิงมาก ทรงมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรได้ความสุขด้วย จึงทรงแนะนำให้เลิกอยู่ไฟ
ถ้าใครทำตาม พระองค์ก็จะพระราชทานเงินค่าทำขวัญลูกที่คลอดใหม่คนละ 4 บาท ทำให้มีผู้สนใจรับการพยาบาลอย่างใหม่มากขึ้น จนกรมพยาบาลสามารถตั้งข้อบังคับเลิกประเพณีอยู่ไฟในโรงพยาบาลได้สำเร็จ
อ่านเพิ่มเติม :
- สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงถามหมอบรัดเลย์ หากอเมริกาน่าอยู่ “ถ้างั้นท่านมาที่นี่ทำไมกันล่ะ”
- “หมอบรัดเลย์” เผย ทำไมการสอนภาษาอังกฤษ “เจ้าจอม” ช่วงต้นรัชกาลที่ 4 ถึงล้มเหลว
- พระพันปีหลวง ทรงหนุน “พระบำบัดสรรพโรค” ให้หญิงไทย “เลิกอยู่ไฟ”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
วิลเลียม แอล. บรัดเลย์. ศรีเทพ กุสุมา ณ อยุธยา และศรีลักษณ์ สง่าเมือง, แปล. สยามแต่ปางก่อน 35 ปีในบางกอกของหมอบรัดเลย์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 สิงหาคม 2567