ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
พระอุโบสถ วัดภูมินทร์ บ้านภูมินทร์ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน มีความงามที่ขึ้นชื่อแตกต่างจากวัดอื่นๆ ก็คือ “ภาพจิตรกรรม” ที่งดงามและมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ที่นี่ยังมี “พระประธาน 4 องค์” ด้วยกัน ขณะที่วัดทั่วไปมักมีพระประธานเพียงองค์เดียว
เมื่อพระประธานมี 4 องค์ พระอุโบสถจึงแตกต่างจากทั่วไป โดยเป็นวิหารจัตุรมุข 4 ประตู ตัวอาคารใช้เป็นทั้งพระวิหารและพระอุโบสถในอาคารเดียวกัน โดยอาคารแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก เป็นพระวิหาร อาคารแนวทิศเหนือ-ใต้ เป็นพระอุโบสถ มีนาคสะดุ้งขนาดใหญ่เทินพระอุโบสถไว้กลางลำตัว ลักษณะคล้ายนาค 2 ตัว เลื้อยผ่านพระวิหารออกมา
กึ่งกลางของพระอุโบสถ ประดิษฐานพระประธาน 4 องค์ ที่พระปฤษฎางค์ (หลัง) ของพระประธานนั้นพิงพระเจดีย์สี่เหลี่ยม ผินพระพักตร์ออกตรงประตูทั้ง 4 ทิศ ซึ่ง พระประธาน 4 องค์ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาแล้ว คือ พระกกุสันธะ, พระโกนาคมนะ, พระกัสสปะ และพระโคตมะ ที่ได้มาประกาศพระพุทธศาสนา
พระประธานทั้ง 4 องค์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ สร้างจากปูนปั้นลงรักปิดทอง รูปแบบศิลปะสมัยล้านนา สกุลช่างเมืองน่าน แต่ละองค์มีขนาดหน้าตักกว้าง 2 เมตร 70 เซนติเมตร
ส่วนเหตุใดพระอุโบสถวัดภูมินทร์ จึงมี “พระประธานถึง 4 องค์” ยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน
อนึ่ง วัดภูมินทร์ เป็นวัดเก่าที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2139 หลังจากสร้างมา 271 ปี มีการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อปลายรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2410)
อ่านเพิ่มเติม :
- วัดกันมาตุยาราม “อันซีน” เยาวราช สร้างจากพลังศรัทธาแม่เล้า
- วัดราชประดิษฐฯ กับปริศนาสร้อยชื่อ ที่แม้แต่ “กรมดำรง” ยังยอมแพ้
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กองบรรณาธิการข่าวสด. ไหว้พระประธาน 77 จังหวัด, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2557.
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดน่าน. กรมศิลปากร: กรุงเทพฯ, 2544
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤษภาคม 2567