“อวโลกิเตศวร” พระโพธิสัตว์ผู้เปี่ยมการุณย์ ต้นแบบ “เจ้าแม่กวนอิม”

ประติมากรรมบรอนซ์ โพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร สุราษฎร์ธานี บ้านเิดเทนนิส พาณิภัค
ประติมากรรมบรอนซ์ครึ่งบนแสดงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จากวัดพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี รูปปั้นนี้อายุราวคริสต์ศตวรรษที่ 9 อาจจะมาจากอาณาจักรศรีวิชัย ปัจจุบันเป็นของสะสมในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (Chainwit., via Wikimedia Commons สิทธิการใช้งาน CC BY-SA 4.0)

ทำความรู้จัก พระโพธิสัตว์ “อวโลกิเตศวร” ผู้เปี่ยมด้วยพระกรุณาและโปรดสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ ต้นแบบ “เจ้าแม่กวนอิม”

โพธิสัตว์ คืออะไร? หากแปลตามพยัญชนะจะแปลความได้ว่า ผู้ข้องอยู่ในโพธิ คือ “ความรู้” ความหมายก็คือ ผู้จักได้ตรัสรู้เป็นองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าในเบื้องหน้า

ตามคติมหายาน พระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญบุญบารมีโดยลำดับแบ่งเป็นชั้นภูมิเพื่อสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า บ้างแบ่งเป็น 5, 7 และ 10 ภูมิ โดยพระโพธิสัตว์มีจำนวนเป็นโกฏิ (สิบล้าน) แต่ที่โดดเด่นและเป็นที่เลื่อมใสมากที่สุดในนิกายมหายานคือ พระไมเตรย หรือพระศรีอารยเมไตรย กับพระอวโลกิต

ผู้คนในทิเบตและจีนนับถือพระโพธิสัตว์อวโลกิตมาเนิ่นนาน แม้จะมีการบูชารูปกายของพระโพธิสัตว์องค์นี้แตกต่างกันไป แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนถือว่าพระอวโลกิตเป็นองค์แห่งการุณย์ มีพระกรุณาในสรรพสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยาก พระนามเต็มของพระองค์คือ “อวโลกิเตศวร”

พระนาม อวโลกิเตศวร มักถูกแปลว่า พระผู้มองลงมาดู (จากสวรรค์) แต่ เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป อธิบายไว้ในหนังสือ “ลัทธิของเพื่อน” (สนพ. พิราบ : 2550) ว่า หากแปลตามไวยากรณ์ พระนามต้องแปลว่า “พระผู้ที่ผู้อื่นมองดู” นั่นแปลว่า พระองค์คงปรากฏกายให้เห็นโดยทั่วไป แต่จะอยู่ในรูปกายใดไม่ทราบได้

จากตำนานว่าพระอวโลกิเตศวรจะมาช่วยเหลือสัตว์โลกที่เป็นทุกข์ พระองค์จึงเป็นที่รู้จักในแผ่นดินจีนด้วยชื่อ กวนอิม หรือกวนซีอิน แปลว่า พระผู้มองดูซึ่งเสียง (แดนเสียง) หรือพระผู้เงี่ยโสตสดับความทุกข์ของสรรพสัตว์

กวนอิม เจ้าแม่กวนอิม
เจ้าแม่กวนอิม (ภาพโดย Alexey Demidov ใน Pexels)

เสฐียรโกเศศ วิเคราะห์ว่า ตรงนี้น่าจะเกิดจากความเข้าใจผิด หรือการแปลผิดจากการแยกศัพท์ อีศวร ออกจากอวโลกิเตศวร เป็น ศวร (สวร) ซึ่งแปลว่า เสียง เลยใช้คำว่า อิม ที่แปลว่าเสียงเหมือนกัน

พระอวโลกิเตศวรถูกกล่าวถึงในคัมภีร์มหายานชื่อ สัทธรรมปุณฆทริก ระบุว่า พระโพธิสัตว์องค์นี้เป็นพระผู้ทรงมหาการุณภาพ ทรงช่วยมนุษย์ที่ได้ทุกข์ให้พ้นภัย ทั้งจากเรือแตกในทะเล จากโทษประหาร จากโจรภัยหรือภัยทั้งปวง เป็นผู้ทรงช่วยเหลือให้พ้นจากความชั่ว จากกิเลศ ความเศร้าหมองใจ เป็นผู้ประทานบุตรให้แก่สตรีที่บูชาพระองค์

พระอวโลกิเตศวรสามารถนิรมิตพระกายเป็นพระพุทธเจ้า พระพรหม หรือยักษ์ก็ได้ ตามแต่พระประสงค์ เพื่อให้สามารถประกอบพุทธกิจช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ได้สะดวกยิ่งขึ้น การมีพระเนรมิตทำให้พระองค์มีนามต่าง ๆ ที่ขนามตามพระคุณลักษณะ เช่น พระมหาการุณิก พระโลกนาถ หรือพระโลเกศวร และพระปัทมาณี แปลว่า ผู้มีดอกบัวหลวงในหัตถ์

เสฐียรโกเศศ อธิบายว่า “รูปพระอวโลกิเตศวรที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาครั้งโบราณจึ่งเป็นมนุษย์หนุ่มอาภรณ์อย่างนิยมของอินเดีย พระเศียรสวมมงกุฎมณีรัตน์ มีรูปพระพุทธอมิตาภะขนาดเล็กติดอยู่ข้างหน้า พระหัตถ์ขวายื่นออกในท่าทางแสดงความการุณย์ พระหัตถ์ซ้ายทรงดอกบัวแดง มักเสด็จประทับยืนอยู่ในดอกบัว พระฉวีเป็นสีแดง บางทีเป็นสีขาว บางทีมีสี่พระกร รูปที่สร้างในยุคหลังมักเพิ่มจำนวนพระกรมากขึ้นไปกว่าสี่ ถ้ามีพระกรมากนอกจากทรงถือดอกบัวแล้ว ก็มีทรงถือสมุดหนังสือ พวกลูกประคำและหม้อน้ำทิพย์”

นอกจากนี้ “ดาราเทวี” ซึ่งเป็นชายาของพระอวโลกิเตศวร ก็ถูกนับถือบูชาเทียบเท่าพระโพธิสัตว์เช่นกัน ดังปรากฏรูปบูชาในแถบอินเดียเหนือ พระนางมีฤทธิ์เนรมิตกายได้เหมือนพระสวามี นักปราชญ์จีนจึงอธิบายว่า โตโล (ดารา) กับ กวนอิม (อวโลกิเตศวร) เป็นองค์เดียวกัน

คติความเชื่อดังกล่าวทำให้เกิดการ “ควบรวม” ให้พระอวโลกิเตศวรมีรูปกายเป็นผู้หญิง เป็นที่มาของ “เจ้าแม่กวนอิม” หรือพระอวโลกิเตศวรในรูปกายสตรีในเวลาต่อมา

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567