ตำนาน “หอยสังข์” และที่มาแห่งความมงคล

พระมหาสังข์พิธีพราหมณ์ (ภาพจากหนังสือ "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก")

เคยสงสัยว่า ทำไมในพิธีอันเป็นมงคลอย่างงานแต่งงานจึงเจาะจงว่าต้องหลั่งน้ำจาก “หอยสังข์” แทนที่จะใช้อุปกรณ์อื่นที่ประดับประดาอย่างสวยหรู ทั้งในสมัยโบราณก็มีใช้สังข์ในการเป่าประโคมเพื่อเตรียมพร้อมขบวนศึก เพื่อประกาศศักดาและความมีชัย ฯลฯ

ถ้ามองกว้างออกไป แม้แต่เรื่องสังข์ทอง ตัวเอกของเรื่องซึ่งมีศักดิ์เป็นถึงลูกกษัตริย์ ยังถูกวางโครงเรื่องให้อาศัยหอยสังข์เป็นที่กำบังกายมาแต่เกิด

ไม่ใช่ความบังเอิญแต่อย่างใด แต่หอยสังข์มีความเกี่ยวพันกับธรรมเนียมโบราณหลายอย่าง…

ส.พลายน้อย ได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับหอยสังข์ไว้ในหนังสือหลายๆ เล่มอย่างน่าสนใจว่า ในพงศาวดารมีการกล่าวถึงการใช้เปลือกหอยสังข์มาทำเป็นแผนผังสร้างเมืองหริภุญไชย หรือแม้แต่ในตำนานสร้างกรุงศรีอยุธยาก็ว่า ได้มีการขุดพบสังข์ทักษิณาวัฏ ซึ่งถือเป็นนิมิตมงคล

เช่นเดียวกับพระสังข์ทักษิณาวัฏที่อยู่ในมังสีมีด้ามเหมือนทวย ปักอยู่ที่บุษบกพระแก้วมรกต ก็เป็นพระสังข์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายบูชาไว้สำหรับรินพระสุคนธ์ลงในพระสังข์ สำหรับสรงพระแก้วมรกตเมื่อถึงคราเปลี่ยนเครื่องทรงตามฤดูกาล

นอกจากในตำนานที่ว่าสังข์เป็นอาวุธของพระนารายณ์ คือใช้เป่าเป็นอาณัติสัญญาณในการสงครามแล้ว  ใน‘อัฏฐพิธมงคล’ หรือมงคล 8 ประการ ซึ่งถือเป็นของสำคัญของบ้านเมืองก็มีสังข์เป็นมงคลที่ 3

การถือเอาสังข์เป็นมงคล มาจากตำนานซึ่งเล่าว่า เมื่อครั้งที่พระอิศวรสร้างเขาพระสุเมรุ ทรงมีประกาศิตให้พระพรหมธาดาเป็นใหญ่กว่าพรหมทั้งหลาย เป็นเหตุให้พระพรหมองค์หนึ่งเกิดจิตริษยา จุติลงมาเป็น ‘สังขอสูร’ อยู่ใต้พระมหาสมุทรเชิงเขาพระสุเมรุ เบียดเบียนเขาพระสุเมรุไม่ให้อยู่เป็นปกติสุขและคอยจ้องทำร้ายพระพรหมธาดา

วันหนึ่งพระพรหมธาดาได้นำเอาคัมภีร์พระเวท พระธรรมศาสตร์ทั้งปวงลงมาเพื่อถวายพระอิศวรไว้สำหรับโลก แต่เกิดร้อนพระวรกายจึงเสด็จลงสรงน้ำที่ฝั่งพระมหาสมุทร โดยเอาคัมภีร์นั้นวางไว้เหนือฝั่งข้างพระองค์

สังขอสูรเห็นเช่นนั้นก็เกิดคิดว่า ถ้าไม่มีคัมภีร์สั่งสอนโลกแล้วเทพยดาและมนุษย์ก็จะไม่นับถือพระพรหมธาดาต่อไป จึงใช้ให้ผีเสื้อน้ำไปขโมยคัมภีร์พระเวทมา แล้วสังอสูรก็กลืนลงท้อง พระพรหมธาดาเมื่อไม่เห็นคัมภีร์ก็เสด็จไปเฝ้าพระอิศวรกราบทูลเรื่องราว หลังจากส่องญาณทราบความจริง พระอิศวรจึงให้พระนารายณ์อวตารลงไปสัประยุทธ์กับสังขอสูร

พระนารายณ์เป็นฝ่ายได้ชัย ทรงล้วงพระหัตถ์ขวาเข้าไปตามช่องปากสังขอสูรเอาคัมภีร์พระเวทออกมา แล้วสังหารสังขอสูร ปากสังข์จึงกลายเป็นรอยนิ้วพระนารายณ์ถึงทุกวันนี้

แล้วพระนารายณ์ก็ตรัสว่ารอยนิ้วแห่งเราอันเป็นมงคล ซึ่งยื่นเข้าไปล้วงเอาคัมภีร์พระเวท พระธรรมศาสตร์ตามช่องแห่งปากสังข์นี้ และอุทรสังข์ก็เป็นที่ทรงไว้ซึ่งคัมภีร์พระเวท พระธรรมศาสตร์ อนึ่งพระพรหมจุติลงมาเป็นสังข์ อานุภาพมงคลทั้งสามนี้ภายหน้าต่อไป บุคคลใดจะทำการมงคล ให้เอาสังข์ไปเป่าให้ยินเสียงไปถึงสถานที่ใดก็เป็นอุดมมงคลจนสุดเสียงสังข์นั้นแล

ส่วนความนิยมในการใช้สังข์หลั่งน้ำพระพุทธมนต์ในงานมงคล ส.พลายน้อยว่า น่าจะเป็นการกำหนดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะก่อนหน้านี้สังข์มีใช้แต่ในพิธีหลวง โดยพวกพราหมณ์เป็นผู้กระทำ ดังที่มีการกล่าวไว้ในเรื่องราชาภิเษกถึงสิ่งที่กษัตริย์ควรปฏิบัติว่า เมื่อตื่นจากพระบรรทมแล้ว ให้ชำระสรงพระพักตร์ด้วยน้ำสังข์

นอกจากนี้ ม.ร.ว.เทวาธิราช ป.มาลากุล ยังได้เล่าเรื่อง ‘ราชประเพณีการประสูติ’  ตอนหนึ่งว่า มีการหยอดน้ำพระมหาสังข์ใส่พระโอษฐ์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอที่ประสูตรใหม่ตามบูรพราชประเพณี

ที่น่าสังเกตคือ ไม่เพียงแต่ไทยที่ถือเอาสังข์เป็นมงคลนิมิต แต่ในอังกฤษแต่เดิมก็ถือว่าหอยเป็นสิ่งนำโชค ขณะที่ชาวฮินดูถือหอยสังข์ศักดิ์สิทธิ์เสมอพระลักษมี เช่นเดียวกับที่ทางทมิฬก็มีตำนานว่าพระลักษมีจุติลงมาเกิดเป็นหอยสังข์

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“สยามประเทศ” : ภูมิหลังของประเทศไทยตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาราชอาณาจักรสยาม”. รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม. สำนักพิมพ์มติชน. 2539.

การประชุมทางวิชาการโครงการเมธีวิจัยอาวุโส ส.ก.ว. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร 2540, หัวข้อ ยุคเหล็กในประเทศไทย : พัฒนาการทางเทคโนโลยีและสังคม, เรื่อง “ยุคเหล็กในลุ่มลพบุรี-ป่าสัก”. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ.

การประชุมทางวิชาการโครงการเมธีวิจัยอาวุโส ส.ก.ว. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร 2540, หัวข้อ ยุคเหล็กในประเทศไทย : พัฒนาการทางเทคโนโลยีและสังคม, เรื่อง “ยุคเหล็กในลุ่มแม่น้ำแม่กลองและท่าจีน”. รัศมี ชูทรงเดช. ภาควิชาโบราณคดี, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

“อ่าวไทยสัญจร : คืนหอยใหญ่ให้ทะเลไทยสวย”. โครงการ Think EARTH : SAVE OUR SEAS} กรมประมง ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ๒๕๔๐.

“นิทานโบราณคดี”. ส.พลายน้อย


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 เมษายน 2562