“เมรุ” วัดไตรมิตรฯ เมรุถาวรสำหรับเผาศพสามัญชนแห่งแรกของไทย

ผู้ชย ช่างออกแบบ เมรุ
พระหมพิจิตร นายช่างผู้ออกแบบ "เมรู" แบบถาวรสำหรับสามัญชน ที่วัดไตรมิตรฯ

เมรุวัดไตรมิตรฯ เมรุถาวรสำหรับเผาศพสามัญชนแห่งแรกของไทย

เมรุวัดไตรมิตรฯ เป็นมรดกสถาปัตยกรรมที่สำคัญมากที่สุดของการปฏิวัติ 2475 เพราะเมรุ หรือ ที่เผาศพ แห่งนี้ เป็น “เมรุถาวรสำหรับเผาศพสามัญชน” แห่งแรก โดยเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2483

วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร Wat Traimit-Golden Buddha (ภาพจาก : fb วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร Wat Traimit-Golden Buddha)

แนวคิดในการสร้างเมรุถาวรฯ เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติ 2475 ไม่นานนัก โดยในปี 2478 มีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการวางโครงการตั้งที่เผาศพ” ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 มีพระยาบริรักษ์เวชชการ อธิบดีกรมสาธารณสุขเป็นประธาน เนื่องจากคำสั่งดังกล่าว หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ลงนาม จึงสันนิษฐานว่า นายปรีดีอาจเป็นคนต้นคิด หรือมีส่วนสนับสนุนเรื่องดังกล่าว

Advertisement

คณะกรรมการฯ ชุดนี้ ได้จัดประชุมกันหลายครั้ง มีการศึกษารวบรวมข้อมูลการทำศพของคนไทย โดยเฉพาะในพื้นที่พระนคร ตลอดจนปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน เพื่อเตรียมการในเรื่องการสร้างฌาปนสถานอย่างจริงจัง

ทำไม “เมรุ” จึงเรื่องสำคัญจนคณะราษฎร (โดยนายปรีดี พนมยงค์) ต้องเร่งรีบผลักดัน

เมรุวัดไตรมิตรฯ
วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร Wat Traimit-Golden Buddha (ภาพจาก : fb วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร Wat Traimit-Golden Buddha)

เหตุผลแรกคือ ความเดือดร้อนของประชาชนในวงกว้าง ซึ่งเกิดจากการเผาศพตามธรรมเนียมปฏิบัติเดิมของสังคมไทย นิยมเก็บศพ และฝังแบบชั่วคราวในเบื้องต้นก่อน จากนั้นจึงค่อยนำศพขึ้นมาในเวลาต่อมาเป็นขั้นตอนสุดท้าย

คณะกรรมการฯ ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า การฝังศพเป็นการชั่วคราวนี้มักฝังลงดินระดับที่ตื้นเกินไป เพื่อสะดวกในการขุดมาเผาในภายหลัง ทำให้ความใส่ใจในการฝังมีน้อย ไม่ได้มีรั้วรอบขอบชิด บางแห่งน้ำท่วมถึง หลายกรณีเกิดการคุ้ยเขี่ยจากสัตว์ต่างๆ จนส่งกลิ่นเหม็นหรือภาพที่น่ารังเกียจ

ส่วนการเก็บศพในอาคารก็ไม่ต่างกันนัก เพราะอาคารมิได้สุขลักษณะที่ดี ไม่สามารถกันสัตว์เข้าออกอย่างจริงจัง, ขาดระบบระบายอากาศ  ที่สำคัญไม่มีการออกแบบเพื่อรองรับของเสียต่างๆ จากศพ ทำให้โรงเก็บศพทุกแห่งมีกลิ่นเหม็นรุนแรง

ข้อมูลปี 2478 พื้นที่สุขาภิบาล จังหวัดพระนคร มีศพจำนวน 2,400 ศพจากโรงเก็บ และศพมากกว่า 2,700 ศพ ที่ฝังไว้เพื่อรอการเผา

ขณะที่การเผาศพเวลานั้น เป็นการเผาด้วยฟืน ซึ่งนำมาวางขัดกันเป็นชิงตะกอน จากนั้นนำศพขึ้นตั้งและทำการเผา ซึ่งกลิ่นที่เกิดขึ้นในการนี้ สร้างความรำคาญต่อผู้คนเป็นอย่างมาก

เมื่อมีการปฏิวัติ 2475 ประชาชนจึงเรียกร้องให้มีการเผาศพที่ไม่มีภาพ หรือกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งคำตอบก็คือ “เมรุ”

เหตุผลที่ 2 คือ เหตุผลเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง ธรรมเนียมการเผาศพของไทย ยังเป็นการแสดงออกทางสถานะของผู้ตายอีกด้วย ญาติของผู้ตายที่มีสถานะทางสังคมสูง ต่างรังเกียจที่จะเผาศพญาติตนเองที่มีสถานะสูง โดยใช้เมรุเดียวกันกับผู้ตายอื่นๆ ที่มีสถานะทางสังคมต่ำกว่า หลายครั้งญาติจึงมีการสร้าง “เมรุชั่วคราว” ขึ้นเป็นการเฉพาะแทน

ทัศนะเช่นที่กล่าวไปนั้นทำให้สามัญชนทั่วไปก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง จำต้องจัดพิธีเผาศพบนเชิงตะกอน

การที่ไม่มี เมรุถาวรฯ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น จึงไม่ใช่ปัญหาเรื่องเทคโนโลยีการเผาศพที่ทันสมัยเกินไป แต่เป็นเพราะการแบ่งชนชั้นของญาติผู้ตาย ที่ต้องการแสดงสถานะทางสังคมเป็นครั้งสุดท้ายให้แก่ผู้ตาย

โครงการตั้งที่เผาศพ จึงดำเนินการไปอย่างรวดเร็ว ที่ประชุมคณะกรรมการวางโครงการตั้งที่เผาศพ สรุปความเห็นว่า ฌาปนสถานแห่งแรก เป็นการทดลองสร้างที่ฝั่งธนบุรี บริเวณป้อมเสาธง ปากคลองสาน ภายในที่ดินประมาณ 7 ไร่ มีการออกแบบอาคารหลายรูปแบบ ให้มีพื้นที่ใช้สอยหลักๆ คือ ที่พักแขก, เมรุ, เตาเผาสมัยใหม่ และที่เก็บศพ ซึ่งถูกสุขอนามัย

หากโครงการก็ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะติดขัดเรื่อง “งบประมาณ” สุดท้ายจึงมีมติให้จัดตั้งองค์การสาธารณะเพื่อเข้ามาดูแลโครงการแทน และมีการร่างเป็น พระราชบัญญัติจัดตั้งกรุงเทพฌาปนการจำกัด พ.ศ. 2479 ทว่าโครงการดังกล่าวก็ล้มเลิกไปในที่สุด ฌาปนสถานที่ล้ำสมัยก็พลอยถูกพับไปด้วย

ในที่สุด เมรุถาวรสำหรับสามัญชน ที่ไม่ใช่เตาเผาศพอย่างสมัยใหม่ก็ได้รับการก่อสร้างขึ้น ที่วัดไตรมิตรฯ ในปี 2483 โดยฝีมือการออกแบบของพระพรหมวิจิตร นายช่างสถาปัตยกรรมไทย กรมศิลปากร 

ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลาย จนเมรุวัดไตรมิตรฯ แบบดังกล่าวกลายเป็นของธรรมดาสามัญทั่วไปของวัดในเมืองไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ชาตรี ประกิตนนทการ. สถาปัตย์-สถาปนา การ(เมือง)ดีไซน์พื้นที่และความนัยสถาปัตยกรรม, สำนักพิมพ์มติชน. พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2566.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ตุลาคม 2566