เฮือนแถว-ร้านค้าถึงตึกดิน งานช่างในวัฒนธรรมการค้า สัญลักษณ์แห่งอาณานิคม

วิถีสังคมชาวบ้านอีสาน แต่เดิมใช้วิธีการแลกเปลี่ยนสินค้าไม่ใช่การซื้อขายด้วยเงินตรา จนเมื่อมีการปฏิรูประบบเงินตราสมัยรัชกาลที่ 5 ในแง่พัฒนาการจะเป็นการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าผ่านพ่อค้าหาบเร่ทั้งคนจีน คนญวน และคนกุลา ด้วยการแลกเปลี่ยนสินค้านำเข้าจากภายนอกกับชาวบ้าน โดยชาวบ้านจะนำของป่าหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมาแลกกับของใช้นำเข้าที่ทันสมัย หรือยารักษาโรคต่าง ๆ

ต่อมาพ่อค้าเหล่านั้นก็จะเก็บรวบรวมสินค้าที่แลกกับของชาวบ้านมาส่งจำหน่ายต่อไปในตลาดเขตเมือง จนมีฐานะมั่นคงจึงมีการสร้างที่เก็บกักตุนสินค้าและอยู่อาศัยเป็นเฮือนแถวร้านค้าถาวร (เป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมเฮือนแถวร้านค้า) ในการกระจายสินค้า

ส่วนในการลงพื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวบ้านแต่เดิม ได้มีการปรับเปลี่ยนบทบาทดังกล่าวให้กับนายฮ้อยที่คุมกองเกวียนขบวนการค้าควายทำหน้าที่แทน ในการเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าแทนไปพร้อม ๆ กับการซื้อขายแลกเปลี่ยนควาย โดยมีศูนย์กลางทางการค้าอยู่ที่โคราช

เฮือนแถว ร้านค้า และกะตืบ (เป็นคำพื้นเดิมที่หมายถึงสิ่งก่อสร้างที่ใช้เทคนิคการก่ออิฐถือปูน ในอดีตนิยมใช้เรียกตึกดินว่ากะตืบที่มีขนาดชั้นเดียว หรือบางครั้งก็ใช้เรียกสิมหรือกุฏิ) คือ ผลิตผลงานช่าง ในวิถีวัฒนธรรมของสังคมการค้าที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับเส้นทางการขนส่งด้วยการสัญจร จากทางน้ำสู่ถนน ก่อเกิดเป็นชุมชนเมืองย่านธุรกิจการค้าขายในที่สุด (ต้นกำเนิดของร้านโชห่วย) เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นอยู่ในทุกท้องถิ่นตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

ในบริบทของภาคอีสาน มีตัวแปรสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมการค้าในอีสานไม่ว่าจะเป็นโครงการตัดถนนมิตรภาพและการขยายเส้นทางของการรถไฟ จากโคราชมาถึงเมืองอุบลที่อำเภอวารินชำราบ ทั้งนี้รวมถึงเหตุปัจจัยภายนอกทางการเมืองในยุคลัทธิแห่งการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกกับกลุ่มประเทศในแถบลุ่มน้ำโขง ทั้งหมดล้วนเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองเรื่องวัฒนธรรมอันเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในยุครุ่งเรืองและมาสู่ยุคเสื่อม ที่เกี่ยวเนื่องในย่านธุรกิจการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าของภาคอีสาน ดังนั้น เฮือนแถวร้านค้าในอดีตสมัยจึงมีนัยยะความหมายแสดงถึง

1. ระบบการจัดสรรที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในพื้นที่ทางการค้าที่จำกัด จึงบีบให้ผังพื้นเฮือนมีลักษณะหน้าแคบแต่ลึกเพื่อให้พื้นที่ด้านหน้าที่ติดเส้นทางการสัญจรเป็นส่วนค้าขาย ส่วนด้านหลังอาจเป็นที่เก็บกักตุนสินค้า หรือเป็นที่พักอาศัย ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้จึงส่งผลต่อรูปร่างหน้าตาอาคาร ซึ่งแตกต่างจากบ้านทั่ว ๆ ไป

นอกจากนี้ยังแสดงสถานภาพทางสังคม เฉกเช่นในสังคมชาวนาอีสานที่ต้องการแสดงความพร้อมหรือความมั่นคงในชีวิตผ่านสถานภาพทางสังคม คือ การได้ครอบครองเฮือนใหญ่ (เฮือนเครื่องสับที่สมบูรณ์ของชาวอีสาน) อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต และเช่นกันในสังคมเมืองและสังคมการค้า ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า คหบดี การได้มีได้ครอบครองเฮือนแถวหรืออาคารตึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สร้างเป็นตึกอย่างศิลปะตะวันตกด้วยแล้ว ยิ่งเป็นเครื่องแสดงสถานภาพทางเศรษฐกิจและสถานภาพทางสังคมของผู้อยู่อาศัย

2. สัญลักษณ์แห่งสังคมวัฒนธรรมประเพณีที่หลากหลาย โดยมากจะสร้างใกล้ ๆ หรือติดริมแม่น้ำสายสำคัญของเมืองอันเป็นเส้นทางการคมนาคมหลักในอดีตรวมถึงเขตการค้าขายทางถนนในยุคหลัง ทำให้เกิดชุมชนเมืองที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น วัด ศาลเจ้า โบสถ์คริสต์ หรือ แม้แต่ มัสยิส แต่โดยมากจะเป็นคนจีนเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก

๓. แหล่งรวมงานช่างที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมภายในกับภายนอก ผ่านสังคมการค้าทั้งวัตถุและรสนิยมทางศิลปะ เช่น สกุลช่างจีน สกุลช่างญวน สกุลช่างฝรั่งเศส และช่างท้องถิ่นไทยลาวอีสาน ที่แสดงออกผ่านงานช่างในส่วนประณีตศิลป์และตลอดจนคติสัญลักษณ์ทางความเชื่อ รวมถึงความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีวัสดุการก่อสร้าง

ในบริบทอีสานมิติความหมายในเชิงช่าง น. ณ ปากน้ำ ได้กล่าวถึงตึกดินในอีสานไว้ในบทความ ศิลปะจีนที่เข้ามาสัมพันธ์กับศิลปะไทย ว่า

“ตึกดินในลักษณะเช่นนี้พบว่ามีกระจายอยู่ทั่วไป เช่น ยโสธร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ลักษณะโดยรวมเป็นอาคารอิฐดินดิบ ทำแบบชั้นเดียว บางทีสองข้างทำเป็นที่เก็บสินค้าอย่างแน่นหนา ฝีมือค่อนข้างหยาบ บางแห่งเอาไม้กลมทั้งต้นขนาดเสาเข็มมาเรียงรายทำเป็นจันทัน แล้วเอากิ่งไม้ยาวขนาดเล็กเหลาอย่างหยาบ ๆ มาปูไปตามยาวโดยทำอย่างแข็งแรง แล้วเอาดินโปะข้างบน ต่อจากนั้นจึงมุงด้วยแฝกทับอีกทีหนึ่ง

ชาวจีนที่เข้ามาอยู่อีสานในระยะแรกมักเป็นชาวดอน นิยมไปตั้งภูมิลำเนาค้าขายยังแดนทุรกันดารไกล ๆ ดังนั้นจึงไม่สู้พิถีพิถันในการทำบ้านเรือนให้ประณีต ถึงกระนั้นก็ยังพบอาคารตึกดินบางหลังที่ทำอย่างประณีต แต่ก็เป็นส่วนน้อย อาคารจีนที่อุบล เมื่อเทียบกับอาคารจีนที่สำเพ็งหรือที่สงขลา ปัตตานีแล้ว จะพบว่าเป็นของที่สร้างโดยฝีมือช่างระดับสูงต่างกันมาก”

ทั้งหมดนี้เป็นทัศนะจากชนชั้นนำทางศิลปะที่มีต่องานช่างพื้นบ้านในแถบนี้ หากศึกษาในเชิงลึกจะพบว่า งานช่างแขนงนี้มีรายละเอียดที่น่าสนใจ เช่น รูปแบบเอกลักษณ์และคติความเชื่อ

เอกลักษณ์ในเชิงช่างอีสาน หากจำแนกตามวัสดุการก่อสร้างจะแบ่งได้เป็นเครื่องผูก เครื่องสับ เครื่องก่อ และเครื่องสับผสมเครื่องก่อ และเมื่อพิเคราะห์ตามลักษณะสกุลช่างสามารถจำแนกออกได้ 4 สกุลช่าง คือ 1. สกุลช่างไทยลาวอีสาน 2. สกุลช่างกรุงเทพ 3. สกุลช่างเวียดนาม 4. สกุลช่างจีน

โดย กลุ่มสกุลช่างไทยลาวอีสานนิยมทำเป็นกะตืบชั้นเดียวไม่มีการตกแต่ง ในองค์ประกอบส่วนใหญ่มุ่งเน้นในเรื่องประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก ใช้เทคนิคการก่อสร้างแบบเดียวกันกับการสร้างสิม งานช่างกลุ่มนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มช่างพื้นเมืองอีสานจริง ๆ

สกุลช่างกรุงเทพ ที่โดดเด่นคือการทำลวดลายฉลุอย่างเรือนขนมปังขิง ซึ่งก็เป็นวัฒนธรรมนำเข้าจากอังกฤษ ที่เน้นการตกแต่งซุ้มคูหาหน้าบันที่มีประโยชน์ใช้สอยในการช่วยป้องกันแดดฝนสาด บริเวณระเบียงด้านหน้าทั้งด้านบนและด้านล่างกลุ่มนี้นิยมสร้างเฮือนแถวด้วยไม้เป็นวัสดุหลัก

สกุลช่างเวียดนามเป็นส่วนผสมสกุลช่างฝรั่งเศสและสกุลช่างจีนในเวียดนาม นิยมทำเฮือนร้านค้าด้วยการก่ออิฐถือปูนโดยเฉพาะการนำองค์ประกอบศิลปวิทยาการงานช่างมาเป็นส่วนผสมกับความเป็นเวียดนามโดยเฉพาะการทำช่องโค้งครึ่งวงกลมและช่องหน้าต่างประดับที่เปิดไม่ได้

สกุลช่างจีน นิยมทำเฮือนแถวด้วยการก่ออิฐถือปูนมีทั้งแบบชั้นเดียวและ 2 ชั้น บางแห่งทำแบบผสมเป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ มีการนำอักษรมงคลเข้าไปอยู่ในองค์ประกอบอาคาร เช่น พนักระเบียงลูกกรง หรือเขียนไว้ที่ผนังด้านหน้าอาคารตามหลักฮวงจุ๊ยที่เชื่อถือ ดังนั้นแม้จะจำแนกรูปแบบตามสกุลช่าง หากในภาพรวมแล้วทุกสกุลช่างล้วนนำรูปแบบอื่น ๆ มาปรับประยุกต์ใช้อย่างน่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีพื้นบ้านและเทคโนโลยีภายนอกทำให้เห็นสายสัมพันธ์ในเชิงช่างที่เชื่อมโยงกับบริบทเวลาความเป็นปัจจุบันขณะแห่งยุคสมัย ภายใต้แรงกดดันจากภายนอกแต่กลับมีพลังการต่อรองของท้องถิ่นก่อเกิดเป็นงานช่างที่ทรงคุณค่า

จริงอยู่ที่อาคารสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ล้วนเป็นผลิตผลด้านรูปแบบที่ถูกตราหน้าว่าเป็นศิลปะอาณานิคม หรือศิลปะเมืองขึ้นของชาติตะวันตก แต่เราก็เห็นพลังท้องถิ่นที่ปรากฏอยู่ในองค์ประกอบส่วนประดับตกแต่งที่มีนัยยะแห่งคติสัญลักษณ์ความเชื่อที่สอดแทรกเข้าไปอย่างแยบคาย

ผิดกับตึกแถวในยุคนี้ที่มีทั้งรูปแบบอนุรักษ์สุดลิ่มและนำสมัยสุดโต่ง ไร้ซึ่งรสนิยมจนกลายเป็นขยะคอนกรีตเต็มบ้านเต็มเมืองอันเป็นผลิตผลจากนายทุนที่สร้างขายเก็งกำไรอย่างขาดคุณภาพและจิตสำนึกต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ปัจจุบันระบบโครงสร้างธุรกิจแบบทุนนิยมแบบปลาใหญ่กินปลาน้อย ทำให้เฮือนแถวร้านค้า (โชห่วย) ไม่สามารถแข่งขันได้ ย่านธุรกิจเหล่านั้นจึงล่มสลายไปในที่สุด ทิ้งไว้เพียงความทรงจำกับอดีตที่เคยรุ่งเรือง


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กันยายน 2559