“เวเฟอร์สารหนู” เคล็ดลับความสวยยุควิคตอเรียน ที่ได้รับสมญานามว่า “สัมผัสของพ่อมด”

กล่อง เวเฟอร์สารหนู เวเฟอร์สารหนู (Arsenic complexion wafers) การกินเวเฟอร์สารหนู
“เวเฟอร์สารหนู” (Arsenic complexion wafers) ภาพ : National Museum of American History

การกินเวเฟอร์สารหนู ในยุควิคตอเรียน เคล็ดลับความสวยที่ได้รับสมญานามว่า “สัมผัสของพ่อมด”

ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย “ความงาม” ดูจะเป็นสิ่งที่หลายคนถวิลหาและปรารถนาจะครอบครอง อิสตรีไม่ว่าจะชนชาติใดต่างเสาะแสวงหาเครื่องประทินโฉมเพื่อให้ตนเองดูดีอยู่เสมอ เช่นเดียวกับใน “ยุควิคตอเรียน” (ค.ศ. 1837-1901) ที่เรียกได้ว่าเป็นยุคทองแห่งความงาม

ผู้คนใน ยุควิคตอเรียน ต่างสรรหาวิธีการมากมาย แม้จะอันตรายแค่ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น คอร์เซ็ตที่ทำให้สาว ๆ เอวคอดกิ่ว ที่แลกมาด้วยกระดูกสันหลังผิดรูป, ชุดสุ่ม ที่แม้จะสร้างความสวยงามให้กับผู้ที่สวมใส่ แต่ก็เป็นชนวนชั้นดีของการติดไฟ รวมไปถึง การกิน “เวเฟอร์สารหนู” เพื่อให้ผิวขาวเปล่งประกาย 

เวเฟอร์สารหนู (Arsenic complexion wafers) ภาพ : National Museum of American History

เวเฟอร์สารหนู (Arsenic complexion wafers) เป็นชื่อผลิตภัณฑ์ยาที่ผลิตโดยบริษัท Dr.MacKenzie มีเจ้าของคือ Dr.James P. Campbell (เจมส์ พี. แคมป์เบลล์) จุดเริ่มต้นเกิดจากความต้องการของแคมป์เบลล์เอง เนื่องจากเขาต้องการให้ผิวที่ดูหย่อนคล้อยและหมองหม่นกลับมากระชับสดใสดังเดิม 

แคมป์เบลล์คิดค้นสูตรยามากมายเพื่อให้เป้าประสงค์ของตนเองสำเร็จ เขาได้หยิบยก “สารหนู” สารอันตรายที่มักใช้ในอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมขึ้นมาเป็นตัวชูโรง เนื่องจากสารหนูมีฤทธิ์ทำลายเม็ดเลือดแดงจนทำให้ผิวขาว ท้ายที่สุดผิวหน้าและผิวกายของผู้คิดค้นก็กลับมาดีอย่างเดิม ผู้คนรอบข้างเริ่มทักถามถึงความเปลี่ยนแปลง และต้องการซื้อสิ่งที่เขาใช้อยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ แคมป์เบลล์จึงตัดสินใจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า “เวเฟอร์สารหนู” ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19

เขาเริ่มต้นการขายสินค้าชิ้นนี้ในราคา 50 เซนต์สำหรับ 1 ห่อ และ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 กล่อง ทั้งยังมีราคาสำหรับเหมากล่อง 6 ชิ้น ซึ่งขายอยู่ที่ 5 ดอลลาร์สหรัฐ

แคมป์เบลล์รับประกันว่าผลิตภัณฑ์ที่กำลังวางขายนั้นปลอดภัย ไร้ผลข้างเคียงต่อทุกคนแน่นอน ทั้งยังโปรยคำโฆษณาไว้ว่า ยาชนิดนี้จะสร้างผิวที่สวยงามที่สุดเท่าที่สุภาพสตรีจะจินตนาการได้ ช่วยให้ผิวกระจ่างใส สดชื่น ปราศจากรอยด่างดำ ฝ้า ความหยาบกร้าน รอยแดง กระ และสิว

นอกจากนี้ยังเปรียบเทียบเวเฟอร์สารหนูเหมือนกับ “Wizard’s Touch” หรือสัมผัสของพ่อมดที่มาช่วยเสกคาถาเวทมนตร์ จากผิวเสียเป็นผิวสวยอีกด้วย 

สารหนู (ภาพจาก : pixabay)

เมื่อเหล่าสาว ๆ เจอกับคำเคลมที่ชวนเพ้อฝันว่าผิวพรรณของหล่อนจะสวยผ่องเป็นยองใยขนาดนี้ มีหรือจะทนไหว ในที่สุด “เวเฟอร์สารหนู” ก็เริ่มฮิตติดตลาด ยิ่งผลลัพธ์ที่ออกมานั้นเกิดคาด (เนื่องจากมีสารหนู) จึงทำให้สินค้าชิ้นนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก ถึงขนาดที่ว่าผลิตภัณฑ์ของแคมป์เบลล์ในตอนนั้นมีสินค้าออกมาถึง 3 ชื่อ ได้แก่ Arsenic complexion wafers by Dr.Simms, Dr.Rose และ Dr.Campbell

แต่ยาที่ผลิตออกมามีสารเจือปน ในที่สุดก็ต้องมีวันที่พิษร้ายออกอาละวาด ผู้คนที่ใช้เวเฟอร์สารหนูเริ่มมีอาการแปลก ๆ ออกมาให้เห็น เช่น ประสบกับปัญหาเรื่องรอยด่างดำที่เพิ่มมากขึ้นบริเวณมือและเท้า รวมถึงมีผู้เสียชีวิต อย่างในปี 1911 มีเด็กอายุ 18 ปี อาศัยในย่านเซนต์หลุยส์ เสียชีวิตหลังจากกินผลิตภัณฑ์นี้ไปหลายกล่อง 

ข่าวการเสียชีวิตและผลลัพธ์ที่ออกมาในแง่ลบแพร่สะพัดมากขึ้น จึงทำให้ชื่อเสียงด้านบวกของสินค้าในเครือแคมป์เบลล์ลดลง อย่างไรก็ตาม ยังมีคนใจกล้า ไม่เชื่อสิ่งที่ตาเห็น และเลือกที่จะใช้สินค้าชิ้นนี้ต่อ 

ความนิยมของ “เวเฟอร์สารหนู” ยังคงทรง ๆ อยู่ในกระแสสังคมสักพัก กระทั่งปลายช่วง 1920 ก็ค่อย ๆ เลือนหายไป เนื่องจากผู้คนน่าจะเข็ดขยาดและมีผลิตภัณฑ์เสริมความงามชนิดใหม่มาแทนที่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://curology.com/blog/arsenic-and-dead-face/

www.thequackdoctor.com/index.php/dr-mackenzies-improved-harmless-arsenic-complexion-wafers/

https://www.nationalgeographic.com/science/article/ingredients-lipstick-makeup-cosmetics-science-history

https://ctam.ubru.ac.th/index.php/th/ตารางการจัดการเรียนการสอน/สาระน่ารู้/241-อันตรายของสารหนู

https://www.vogue.co.th/fashion/article/victorianerasecrets


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กันยายน 2566