มันยากที่จะเป็นมลายู คว้ารางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) “ประกาศผลการตัดสินหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 14” เมื่อพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม 2560 ช่วงบ่ายวันนี้ ณ ห้อง Library 1918 โรงแรมดุสิตธานีทั้งนี้หนังสือในเครือ สำนักพิมพ์มติชนคว้ามา 2 รางวัล 2 ประเภทดังนี้

Advertisement

มันยากที่จะเป็นมลายู ของ ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทสารคดี (ทั่วไป)

คำนิยมจาก คณะกรรมการตัดสินต่อหนังสือเล่มนี้มีดังนี้

“มันยากที่จะเป็นมลายู เป็นหนังสือที่ปรับมาจากงานวิจัยปัญหาในภาคใต้ที่เปี่ยมล้นด้วยข้อมูลเชิงลึก เป็นข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตของผู้คนในพื้นที่ ที่สะท้อนถึงความเจ็บปวด ปัญหาและอารมณ์ความรู้สึกของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู แม้ปรับจากงานวิจัย แต่ผู้เขียนมีวิธีนำเสนอให้ชวนอ่าน ชวนติดตาม”

ส่วนรางวัลชนะเลิศประเภทสารคดี (ทั่วไป) ไม่มีผลงานใดได้รับรางวัล และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1  มี 2 รางวัลคือ วิถีในนา ปรัชญาในสวน เขียนโดย สายลมลอย และ I CANCEL MY CANCER เขียนโดย เบลล์ ศิรินทิพย์

และอีกเล่มที่สำนักพิมพ์มติชนคว้ารางวัลมาได้คือ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำแมวกุหลาบดำ ของ วีรพร นิติประภา คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทนวนิยาย

คำนิยมจาก คณะกรรมการตัดสินต่อหนังสือเล่มนี้มีดังนี้

“ประวัติศาสตร์คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเรืองเล่าร่วมกันถึงความเป็นมาของพลเมืองในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำแมวกุหลาบดำ นวนิยายของ วีรพร นิติประภา เป็นภาพจำลองกระบวนการสร้างความทรงจำร่วมกันหรือประดิษฐกรรมที่รับรู้ในนาม “ประวัติศาสตร์” ในบริบทของรัฐไทย

ผู้เขียนสร้างครอบครัวคนจีนอพยพครอบครัวหนึ่ง ตั้งต้นที่ตาทวดตง ให้มีชีวิตขนานไปกับเหตุการณ์สำคัญทาปงระวัติศาสตร์ไทยท่ามกลางความผันผวนของการเปลี่ยนขั้วอำนาจและอุดมการณ์ทางการเมืองทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่อวลอยู่ในบรรยากาศก่อนและหลังการสิ้นสุดสงครามโกลครั้งที่สอง ชะตากรรมของสมาชิกในครอบครัวเล็กๆ ซึ่งที่สุดแล้วได้รับการจดจำและกลายเป็นเรื่องเล่าผ่านตัวละครหลักคือยายศรี หนูดาว และแมวตัวหนึ่ง มีความคล้ายคลึงกันอย่างยิ่งยวดกับเรื่องเล่าระดับมหภาค ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างความทรงจำ ในลักษณะกระท่อนกระแท่น เว้าแหว่าง คลุมเครือ ไม่ปะติดปะต่อ สลับไปสลับมา และพร่าเลือน จนราวกับพรมแดนระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ความจริงกับสิ่งสมมติ การหลับฝันและการตื่น การจำได้และการลบลืม ไม่อาจแยกออกจากกันได้ตลอดกาล และในพื้นที่เช่นนี้เอง บางตัวละครไร้ที่ยืน ถูกกีดกันออกไปจากเรื่องเล่าให้กลายเป็นเพียงเงาสะท้อนของภูตพราย เป็นบุคคลสูญหายตกหล่น พลัดหลง และถูกขังลืมในซอกหลืบของเวลา

 ในขณะนำพาผู้อ่านเดินทางไปพร้อมกับตัวละครและเหตุการณ์ ด้วยกลวิธีการประพันธ์แนวสัจนิยมมหัศจรรย์ ผ่านภาษาที่มีลักษณะเฉพาะตัว สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนซ่อนไว้อย่างแยบยล คือความปรารถนาให้ผู้อ่านหยุดคิดและตั้งคำถามกับ “เรื่องเล่า” ที่อยู่รอบตัวเพราะที่สุดแล้ว ความทรงจำของอดีตที่รับรู้ในนามประวัติศาสตร์/เรื่องเล่า/หรือตำนาน แท้จริงคืออำนาจของผู้เล่าว่าเลือกจะเล่า เลือกจะลบ หรือเลือกจะลืม”

ส่วนรางวัลชนะเลิศประเภทนวนิยาย ได้แก่ กระจกขอบทอง ของกฤษณา อโศกสิน และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ เพลงรักนิวตริโน ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์