ข้าวแช่ (เปิงสงกรานต์) ของชาวรามัญ กับวิธีการกว่าจะได้ข้าวแช่

ภาพสำรับข้าวแช่ โดย Williamvonga, via Wikimedia Commons

“…ชาวรามัญเขาเรียกว่าทำบุญเปิงซงกราน คำว่าเปิงแปลว่าข้าว คำซงกรานต์คือสงกรานต์เรานี่เอง รวมความว่าข้าวสงกรานต์

คำว่าข้าวสงกรานต์นี้เป็นคำที่ใช้เรียกข้าวแช่ที่จะนำไปทำบุญที่วัด ข้าวสงกรานต์หรือเปิงซงกรานไม่เหมือนกับข้าวแช่ที่คนทำขายตามตลาด นี่กล่าวเฉพาะข้อแตกต่างในเรื่องพิธีรีตอง

Advertisement

ข้าวแช่ที่ทำขายไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมาก หุงข้าวตามธรรมดานี่เอง แต่ข้าวแช่ที่ทำสำหรับถวายพระในวันสงกรานต์นั้นพิธีมาก เท่าที่สอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่และผู้ที่เคยทำเปิงซงกรานกล่าวว่า

ข้าวที่ทำเปิงซงกรานหรือข้าวแช่นี้จะต้องถึงพร้อมด้วยลักษณะเจ็ด คือ ข้าวที่จะใช้หุงทำข้าวแช่จะต้องใช้ข้าวเปลือก 7 กำ ซ้อมถึง 7 ครั้ง เมื่อจะหุงก็ต้องซาวน้่ำที่สะอาดหมดจดจนครบ 7 ครั้งด้วย และเวลาหุงถ้าจะให้บริสุทธิ์ถูกต้องตามตำรากัน จริงๆ แล้วก็ต้องหุงกันกลางแจ้ง ไม่ใช่หุงกันในครัว ได้ยินมาว่าในสมัยโบราณถึงกับปักราชวัติฉัตรธงกันทีเดียว เพราะเขาถือว่าข้าวนี้เป็นข้าวสิริมงคล…”

(คัดจาก กระยานิยาย โดย ส.พลายน้อย.สนพ.มติชน 2547.)