“อำนาจ” และ “เสรีภาพ” ใน “ทรงนักเรียน”

วัยรุ่นในสังคมไทยมักแสดงออกด้วยวิธีรุนแรงทั้งทำร้ายตนเองและคนอื่นถึงชีวิตก็มี วัยรุ่นเหล่านี้อยู่ในวัยเรียน ถึงจะพ้นโรงเรียนไปแล้ว แต่ก็ถือว่าเป็นผลจากระบบโรงเรียนทั้งนั้น

โรงเรียนไม่ใช่แหล่งเดียวที่เป็นต้นเหตุให้วัยรุ่นทำรุนแรง ความจริงแล้วความรุนแรงทั้งหลายมีเหตุและปัจจัยหลายอย่างหลายประการด้วยกันจนเกินกว่าจะระบุได้ทั้งหมด แต่ว่ากันรวมๆ อย่างนามธรรมว่าเป็นปัญหาสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ-การเมือง สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งไม่ได้ทำให้เข้าใจอะไรเลย

แต่มีคำอธิบายทางสังคมและวัฒนธรรมที่เข้าใจชัดเจนอยู่ในบทความเรื่อง ทรงนักเรียน ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ (ใน มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2546) ที่ว่าด้วยทรงผมของนักเรียนทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะโรงเรียนรัฐบาล มีความดังต่อไปนี้

“ทรงนักเรียน” ที่ใช้บังคับมาหลายสิบปีนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับผมบนหัวอย่างเดียว แต่เกี่ยวกับโลกทัศน์ที่ต้องการปลูกฝังลงไปใต้หนังหัวของนักเรียนด้วย

โลกทัศน์ดังกล่าวนั้นมีอยู่สองประการ

หนึ่ง “ทรงนักเรียน” ทำลายลักษณะปัจเจกของนักเรียนแต่ละคนลง เพราะทุกคนแต่งกายและไว้ผมเหมือนกันหมด ความเป็นตัวเขาคือเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เรียกว่า “นักเรียน” อันเป็นกลุ่มทางสังคมที่สถาปนาขึ้นมา โดยสมาชิกไม่ได้มีความสมัครใจ แต่ถ้าเขาไม่สังกัดอยู่ในกลุ่มนี้ เขาก็จะสูญเสียตัวตนของตัวไปอย่างสิ้นเชิงเหมือนกัน

สอง สัมพันธ์กับข้อหนึ่งอย่างแยกกันไม่ออก ความเป็นระเบียบ, ความเหมาะสม, ความสวยงาม และความถูกต้องเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่หรืออำนาจเป็นผู้ตราขึ้น นักเรียนต้องเรียนรู้ที่จะเชื่อฟังความเห็นของอำนาจ เราใช้ “ความเป็นนักเรียน” เป็นกลไกสำคัญของการควบคุมทางสังคม (Social control) และในการควบคุมทางสังคมเราใช้เหตุผลน้อย แต่ใช้อำนาจมาก

การปล่อยเสรีด้านทรงผมเพียงอย่างเดียวจึงไม่พอ ไม่พอแม้แต่จะใช้เป็นสัญลักษณ์ของการปฏิรูปการศึกษา

ความห่วงใยของผู้บริหารโรงเรียนบางแห่งว่า เด็กนักเรียนจะสนใจการแต่งตัวยิ่งกว่าเรียนหนังสือ ถ้าปล่อยให้เด็กแต่งผมได้ตามใจชอบ เป็นเรื่องของความวิตกต่อปัจเจกที่หลุดจากการควบคุมของอำนาจ

แต่เราสามารถสร้างความสามารถที่จะคิดเองด้วยเหตุผลให้แก่นักเรียนขึ้นมาแทนที่อำนาจได้

นักเรียนคงไว้ทรงผมที่แตกต่างกันตามแต่รสนิยมส่วนตัวของนักเรียนแต่ละคนจนไม่มี “ทรงนักเรียน” อีกต่อไป แต่นักเรียนสามารถรู้ความสำคัญของทรงผมในชีวิตของตัวว่ามีแค่ไหน อุทิศเวลาและทรัพย์ให้แก่ทรงผมในระดับที่พอเหมาะสมควร

ระบบการศึกษาได้ทำอะไรเพื่อเพิ่มความสามารถของนักเรียนในแง่นี้บ้างหรือ ไม่เฉพาะแต่การพิจารณาเรื่องการแต่งกาย แต่แทรกเข้าไปในกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดของนักเรียน

มิฉะนั้นการปลดปล่อยนักเรียนจากความเป็นทาสของ “ทรงนักเรียน” จะมีความหมายแต่เพียงการหยิบยื่นนักเรียนไปสู่ความเป็นทาสของแฟชั่นเท่านั้น

อันที่จริงความเป็นปัจเจกอย่างสมบูรณ์นั้นไม่มีจริงในโลก มีอยู่แต่ในแนวคิดเท่านั้น มนุษย์ทุกคนมีความผูกพันทางใจหรือทางกายกับคนอื่นๆ ด้วยกันทั้งนั้น โรงเรียนเคยทำลายความเป็นปัจเจกของนักเรียนลง แล้วเอานักเรียนมาผูกพันอยู่กับกลุ่มแคบๆ คือความเป็นนักเรียนของโรงเรียนเท่านั้น แต่การควบคุมทางสังคมซับซ้อนกว่านั้นมาก เยื่อใยความสัมพันธ์กับกลุ่มต่างๆ ในสังคมควบคุมพฤติกรรมของคนได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าโรงเรียน

ฉะนั้นในกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนต้องเป็นไปโดยความผูกพันอยู่กับกลุ่มทางสังคมอย่างน้อยสามกลุ่มอีกด้วย นั่นก็คือครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม

คำถามก็คือในหลักสูตร, ในวิธีการสอน, ในประสบการณ์ต่างๆ ที่โรงเรียนจัดให้นักเรียน มีส่วนมากน้อยแค่ไหนในการฟื้นฟูและสรัางความสัมพันธ์ของนักเรียนกับกลุ่มทั้งสามนี้ เช่น ครอบครัวมีบทบาทอย่างไรในกระบวนการเรียนรู้ นักเรียนเคยถูกพาไปเรียนรู้ร่วมกับชุมชนบ้างไหม มิติทางสังคมเคยถูกนำมาพิจารณาในการเรียนวิชาต่างๆ บ้างไหม เป็นต้น

หรือเราสอนให้เด็กคิดถึงแต่ตัวเอง คือเน้นปัจเจกภาพ แต่ควบคุมเด็กโดยบังคับให้รวมกลุ่มไว้ภายใต้การบัญชาของโรงเรียน ถ้าอย่างนั้นการปล่อยเสรีในเรื่องทรงผมก็อาจมีอันตรายต่างๆ อย่างที่ครูบางท่านวิตกห่วงใยอยู่จริง

เช่นเดียวกับความเชื่อฟังอำนาจ ตราบเท่าที่นักเรียนไม่ได้รับการส่งเสริมให้ตั้งคำถามกับอำนาจ ความเชื่อฟังนั้นก็เป็นไปด้วยความกลัวเท่านั้น อย่างที่นักเรียนแปลงทรงผมของตัวเมื่อออกจากโรงเรียนในทุกวันนี้ การตั้งคำถามกับอำนาจหมายถึงความเห็นที่หลากหลาย และยากที่จะหาข้อสรุปตรงกันเป็นหนึ่ง ระบบการศึกษาของเราต้องการความเห็นที่หลากหลายหรือต้องการคำตอบสำเร็จรูปที่เป็นหนึ่ง

ถ้ายังป้อนคำตอบสำเร็จรูปที่เป็นหนึ่งอยู่ ก็หลีกเลี่ยงได้ยากที่จะต้องใช้อำนาจบังคับให้รับคำตอบนั้นๆ และด้วยเหตุดังนั้น ก็มีทางเป็นไปได้ที่นักเรียนจะใช้เสรีภาพที่ตัวได้มาไปในทางที่เป็นอริกับการเรียนรู้

เสรีภาพนั้นจะใช้ได้เป็นก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพให้ใช้หนึ่ง และมีการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้เสรีภาพนั้นอีกหนึ่ง

ปฏิรูปการศึกษานั้นเป็นองค์รวม เราไม่อาจแยกมาตรการใดมาตรการหนึ่งขึ้นมาผลักดันโดดๆ โดยไม่มองความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของมาตรการนั้นๆ กับสิ่งอื่นๆ ทั้งหมดในกระบวนการเรียนรู้ได้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ที่มา :

บทบรรณาธิการ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2546 โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กรกฎาคม 2560