ความสัมพันธ์ระหว่าง “จีนจน-จีนรวย” เป็นอย่างไร เมื่อหมดยุคกงสี 

เยาวราช ถนนเยาวราช
ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพถ่ายย่าน เยาวราช แหล่งรวมสินค้าต่างๆ จากเมืองจีนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

เมื่อพูดถึง “คนจีน” ที่มาทำมาหากินในเมืองไทย มักจะมีคำขวัญว่า “ขยัน ประหยัด อดทน” ตามความสำเร็จในทางธุรกิจร่ำรวย และเป็น “เจ้าสัว” แต่ความจริงในหมู่คนจีนต่างแดน ก็มีคนจีนจนๆปะปนอยู่ด้วย และมีเป็นจำนวนไม่น้อย

ในเมืองไทย ความสัมพันธ์ระหว่าง จีนจน-จีนรวย ก็เหมือนเรื่องอื่น คือเป็นไป และเปลี่ยนแปลงตามกระแสสังคม

Advertisement

ทศวรรษ 2500-2510 สังคมจีนในไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นโอกาสที่ทำให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ คนจีนจำนวนหนึ่งสามารถเลื่อนฐานะเศรษฐกิจสูงขึ้น แต่คนจีนทั่วไปที่ยังยากจน กลับไม่สามารถมองเห็นอนาคต การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างคนจีนด้วยกัน

ไม่มีอีกแล้ว “กงสี” หรือรูปแบบการบริหารงานที่เจ้าของกิจการ ไม่ว่าจะเจ้าสัว, เถ้าแก่ ที่ปฏิบัติกับคนงานจีน เสมือนบุคคลในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นมื้ออาหารที่นั่งร่วมโต๊ะกินข้าวด้วยกัน, สร้างที่พักอาศัยให้คนงานในบริเวณบ้านหรือที่ใกล้เคียง, ช่วยเหลือจุนเจือยามเจ็บป่วย ฯลฯ เปลี่ยนไปเป็นรูป “บริษัท” ที่เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างเงินค่าจ้าง-แรงงาน

หากในกลุ่มแรงงานจีน ก็มีบางส่วนสามารถขยับเลื่อนฐานะขึ้นมาเป็น “ชนชั้นกลางจีน” ได้ โดยมีกิจการขนาดเล็กของตนเองที่ค่อนข้างมั่นคง และพยายามลอกเลียนแบบค่านิยมของนายทุนจีน หรือจีนรวย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการศึกษา ขณะที่นายทุนจีนมักส่งลูกไปโรงเรียนฝรั่ง เช่น อัสสัมชัญ หรือกรุงเทพคริสเตียน ก่อนจะต่อไปที่ต่างประเทศตั้งแต่ สิงคโปร์, ฮ่องกง, อเมริกา ฯลฯ ชนชั้นกลางจีนก็ทำเช่นนั้น เพียงแต่ในระดับอุดมศึกษาเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในประเทศแทน

การเก็งกำไร-ไล่ที่ ทศวรรษ 2510 ที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโตอย่างรวดเร็ว นายทุนจีนซึ่งเจ้าของที่ดินเดิม หรือผู้ซื้อที่ดินแปลงนั้นๆ เพื่อการพัฒนาเชิงธุรกิจ จนนำไปสู่ “การไล่ที่” ซึ่งเริ่มจากเจ้าของที่ดินประกาศให้ผู้อาศัยทราบว่าจะมีการใช้ที่ดิน จากนั้นก็เริ่มงดเว้นการเก็บค่าเช่าที่เป็นระยะเวลาหนึ่ง ผู้อาศัยหรือผู้เช่าก็จะลดสถานะเป็นผู้บุกรุก จนถึงการกำหนดระยะเวลาให้ออกจากที่ดิน ฯลฯ ซึ่งบ้างครั้งก็จบลงด้วยการกระทำที่รุนแรงขึ้นด้วย “เผาไล่ที่”

นอกจากนี้ คนจีน ที่เป็นนายทุนจีน และชนชั้นกลางจีน ยังเริ่มถอยห่างจากวัฒนธรรมจีน ตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้คือ สมาคมตระกูลแซ่ในยุคนั้นเริ่มถูกลดทอนบทบาท เป็นเพียงองค์กรที่คอยจัดงานสังสรรค์ประจำปี, งานศพ, งานแต่งงาน โดยถูกแทนที่ด้วยสมาคมศิษย์เก่า, สมาคมการค้า ที่จัดตั้งแบบตะวันตก มีฐานสมาชิกกว้างขวาง และสามารถเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจมากกว่าสมาคมตระกูลแซ่

ซึ่งทั้งหมดนี้ นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ยังเนื่องด้วยบริบททางการเมืองที่ “ความเป็นไทย” ถูกขับเน้นโดยรัฐ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์. กบฏจีนจน, สำนักพิมพ์มติชน สิงหาคม 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มีนาคม 2566