ประเพณีหุ้มฟันทองของเผ่า “หมาน” ที่มีมานานนับพันปี

รายงานนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2547, การเผยแพร่ครั้งนี้ยังคงรูปแบบการสะกดตามเดิมไว้


พบ “ฟันทอง” ของเผ่าหมาน อายุ 2,000 ปีมาแล้ว เป็นครั้งแรกในโลก

พบ “ฟันทอง” ในพม่า

โรเบิร์ต ฮัดสัน นักศึกษาปริญญาเอกชาวออสเตรเลีย ที่ทำงานวิจัยในพม่า ได้แจ้งข่าวให้ทราบว่าพบฟันกรามฝังทองคำ ฟันที่พบเป็นฟันกรามส่วนบน มีการฝังทองจำนวน 8 ซี่ ตั้งแต่ฟันหน้าจนถึงฟันกรามน้อย ซึ่งปัจจุบันเป็นของสะสมส่วนตัวชิ้นหนึ่งของชาวพม่า ชื่อ Tanpawady Win Maung แห่งเมืองมัณฑะเลย์

เจ้าของบอกว่าชาวนาพบฟันทองในบริเวณ Halin (ในรายงานไม่ได้บอกว่าเป็นชื่อหมู่บ้านหรือเมือง) สันนิษฐานว่าเป็นชิ้นส่วนของโครงกระดูกพบในหลุมฝังศพยุคเหล็ก (ที่ยังกำหนดอายุแน่นอนไม่ได้) เทคนิคการทำคือเจาะรูในฟันแต่ละซี่ แล้วนำแผ่นทองมาฝังตรึงเข้าไปในรู ทองเป็นแผ่นมีลักษณะหล่อทองซึ่งแตกต่างจากที่ทำในปัจจุบัน

กลุ่มคนที่มีประเพณีฝังทองบนฟันซี่ต่างๆ พบที่ใดบ้างนั้น โรเบิร์ต ฮัดสัน ได้อ้างถึงหนังสือพิมพ์เฟิร์ส มิลเลียนเนียม ไชนีส ที่ได้รายงานว่า มีกลุ่มคนที่เรียกว่า “น่านเจ้า” ทางตอนเหนือของพม่า ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในฐานะของ “คนฟันทอง”

อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า “คนน่านเจ้า” เป็นกลุ่มคนเดียวกันกับ “คนฟันทอง” หรือไม่

หมานฟันทอง 2,000 ปี ในเอกสารจีนโบราณ

ความรู้เกี่ยวกับการแต่งฟันของชนเผ่าต่างๆ ในมณฑลยูนนาน ที่อยู่ทางใต้ของจีน ที่ต่อเนื่องกับทางเหนือของพม่า, ลาว และเวียดนาม มีอยู่ในหนังสือหมานซู หรือจดหมายเหตุพวกหมาน ซึ่งเป็นกลุ่มชนเผ่าที่อยู่ทางตอนใต้ของจีน แต่งเมื่อ พ.ศ. 1410 ระบุว่าในขอบเขตอำนาจของน่านเจ้าทางทิศใต้มีพวกหมานตั้งหลักแหล่งอยู่จำนวนมาก จนนับไม่ได้แน่นอน

มีหมานหลายพวกหลายเผ่านิยมแต่งฟัน ด้วยวัสดุหลายอย่างต่างๆ กัน หมานพวกหนึ่งรู้จักกันในชื่อ หมานฟันทอง ตั้งหลักแหล่งอยู่ปะปนกันกับเผ่าอื่นๆ อยู่ตามแถบเมืองหย่งชังและไคหนาน ในเอกสารนี้บันทึกว่า

ประติมากรรมสัมฤทธิ์ลอยตัวแสดงการประกอบพิธีกรรมของชนเผ่า เป็นงานที่ประดับอยู่บนกลองมโหระทึกเก่าแก่ที่พบในมณฑลยูนนาน

พวกหมานฟันทองเอาทองแผ่นหุ้มฟัน เมื่อรับแขกจึงใส่ฟันทองนี้ และเมื่อจะรับประทานอาหารจึงถอดออก ชนเผ่านี้มุ่นผมบนศีรษะ สวมเสื้อผ้าสีเขียวยาวหุ้มส้นเป็นรูปต่างๆ ตามชอบใจ เสื้อผ้านุ่งห่มนิยมพื้นแดงลายเขียว

เอกสารหมานซูบันทึกว่าพวกหมานฟันทอง “ขึ้นอยู่ในปกครองของเมืองซีอาน ในแว่นแคว้นน่านเจ้า เมื่อเกิดศึกสงครามคราวใด มักถูกระดมเข้ารบด้วยทุกครั้ง”

ข้อความในเอกสารหมานซูไม่ได้ระบุว่าพวกหมานฟันทองนี้ แต่งฟันด้วยทองกันทุกคนจนหมดทั้งเผ่า หรือแต่งฟันทองเฉพาะหัวหน้าเผ่ากับรองหัวหน้าเพียงเป็นสัญลักษณ์ของเผ่าพันธุ์ ถึงกระนั้นก็ชวนให้สงสัยว่าประเพณีแต่งฟันอย่างนี้จะใช้เป็นเครื่องรางด้วย เพื่อให้ปกป้องคุ้มครองเผ่าพันธุ์ของตนมากกว่าจะเป็น เครื่องประดับ เพื่อความสวยงามอย่างปัจจุบัน

เอกสารหมานซูระบุเพิ่มเติมว่ายังมีหมานฟันเงิน กับหมานฟันดำ อาศัยปะปนอยู่รวมกันด้วย

หมานฟันดำ “ใช้ยางรักถูฟันจนดำ”

นอกจากนั้นมีหมานร้อยจมูก คือเป็นพวก “เจาะจมูกใส่ห่วงทองคำยาวราว 1 ฟุต ห้อยยานลงมาเลยคอเสื้อ ผู้เป็นหัวหน้าเผ่ามีเส้นไหมพันห่วง เมื่อออกเดินมีผู้ติดตามคอยถือเส้นไหมตามหลัง ผู้เป็นหัวหน้ารองใช้เข็มทองลายกนก 2 เล่ม ใส่เข้าไว้ในรูเจาะจมูก”

“หมาน” คืออันธพาล ป่าเถื่อน ชื่อเก่าแก่ 2,000 ปีมาแล้ว

หมานซู หรือจดหมายเหตุพวกหมาน ของ ฝันฉัว เล่มนี้ กรมศิลปากรพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2512 มีคำนำอธิบายได้ความว่า เรื่องหมานซูเป็นจดหมายเหตุจีนโบราณ ว่าด้วยเรื่องราวของพวกหมานซึ่งเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ทางใต้ของประเทศจีน แถบมณฑลยูนนาน

“หมาน” เป็นชื่อโบราณใช้มากว่า 2,000 ปี มีปรากฏในพระราชพงศาวดารจีน (สื่อจี้) ซึ่งซือหม่าเชียนแต่ง หมายถึงชนชาติต่างๆ ที่ไม่ใช่หั้น (Han หรือจีน) บรรดาที่อยู่ด้านใต้ของประเทศจีนทั้งหมด ในหนังสือโบราณคือโจวลี่ กำหนดไว้ว่า ห่างจากเขตแดนจีน 500 ลี้เป็นถิ่นของพวกหมาน ในหนังสือซูอี่ก้งกำหนดว่า ห่างจากเขตแดน 300 ลี้เป็นถิ่นหมาน

คำว่า “หมาน” นี้ อักษรจีนประกอบด้วยตัวไหม กับตัวหนอน เป็น “หนอนไหม” หมายถึงความป่าเถื่อนอย่างสัตว์ ฉะนั้นในภายหลังจึงมีผู้ใช้คำว่า “หมาน” ในความหมายว่าอันธพาล หรือผู้ใช้อำนาจเป็นธรรม

โดยที่เป็นคำโบราณเก่าแก่เช่นนี้จึงมีความหมายครอบจักรวาล จะเป็นชนเผ่าใดก็ได้ สมัยราชวงศ์หั้นส่งขงเบ้งมาปราบเบ้งเฮกผู้เป็นมันอ๋อง มันคำนี้ก็คือหมานนี่เอง เบ้งเฮกตอนนั้นเป็นเจ้าของพวกหมาน

เรื่อง “หมานซู” นี้ เป็นจดหมายเหตุพวกหมาน ฝันฉัว เสวกในข้าหลวงแห่งแคว้นอันหนานเป็นผู้แต่งขึ้นเป็นภาษาจีนเมื่อ พ.ศ. 1410 เป็นเรื่องราวประกอบพระราชพงศาวดารแผ่นดินถังฉบับใหม่ของจีน แต่งสำเร็จประมาณรัชสมัยของพระเจ้าอี้จงตอนต้นศักราชหานทง (ในแผ่นดินถัง) เรียกหนังสือชุดนี้ว่า “บันทึกเรื่องราวของถิ่นหกเจ้า” มีด้วยกัน 10 บท และได้ชำระใหม่ในรัชกาลของพระเจ้าเฉียนหลง เมื่อปี พ.ศ. 2317 (ค.ศ. 1774) ได้พิมพ์เป็นฉบับหอสมุดหลวง พิมพ์ ณ พระตำหนักอู่จิงเตี้ยน นครปักกิ่ง

ตามที่ปรากฏในบานแผนก ฝันฉัวเป็นเสวกในข้าหลวงแห่งแคว้นอันหนาน เรื่องราวในหมานซูที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารแผ่นดินถังฉบับใหม่ ได้ระบุว่าตำแหน่งหน้าที่ของฝันฉัวเป็นเสวกของท่านไฉ้ซีข้าหลวงใหญ่ผู้ปกครองดินแดนหลิ่งหนานด้านตะวันตก แต่ในหนังสือซือหม่ากวังทงเจี้ยน กล่าวว่า ท่านไฉ้ซีมีตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการแคว้นอันหนานตรงกับที่ฝันฉัวเขียนไว้

เรื่องหมานซูนี้ ฝันฉัวได้บรรยายถึงเรื่องราวของชนเผ่าต่างๆ ในหกเจ้าซึ่งอยู่ทางใต้ของจีน บรรยายถึงภูมิศาสตร์ สภาพบ้านเมือง ตลอดจนขนบประเพณี การปกครองทั้งสมัยก่อนสมัยหลังไว้อย่างละเอียด มีกล่าวถึงเหมิงกุยอี้หรือพระเจ้าพีล่อโก๊ะ และเก๋อหลอเฟิ่ง หรือที่เราเรียกกันว่าพระเจ้าโก๊ะล่อฝง

เมื่อเก๋อหลอเฟิ่งสิ้นพระชนม์ อี้โหม่วสิน (อี้เหมาซุน) ผู้เป็นนัดดาได้ครองเมืองต่อมา เรื่องราวของเก๋อหลอเฟิ่งและอี้โหม่วสินได้พัวพันเกี่ยวข้องกับจีนและบรรดาชนเผ่าอื่นๆ เป็นอันมาก

นายขจร สุขพานิช ได้สำเนาหนังสือเรื่องหมานซูภาษาจีนนี้มาจากมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ โดยได้ถ่ายรูปมาด้วยวิธีโฟโต้สตัท เป็นจำนวน 76 ภาพ แล้วได้มอบให้กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2506 กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์พิจารณาเห็นว่า เรื่องหมานซูนี้เป็นหนังสือเกี่ยวกับบรรดาชนชาติที่อยู่ตอนใต้ของจีน ในสมัยก่อนสุโขทัย น่าจะเป็นหลักฐานให้ศึกษาค้นคว้าเรื่องของชนชาติไทยในสมัยนั้นได้ จึงได้มอบให้นายหลินเซียะว์ (ลิ่มฮัก) ผู้ชำนาญภาษาจีนแปล เมื่อ พ.ศ. 2510

นายหลินเซียะว์ได้แปลเรื่องนี้ร่วมกับนายพิสิฐ ศรีเพ็ญ เมื่อแปลแล้ว นายสังข์ พัธโนทัยและนายอารี ภิรมย์ ได้ช่วยเรียบเรียงถ้อยคำสำนวนให้สละสลวย และนางกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ หัวหน้ากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ได้ตรวจและทำเชิงอรรถเพิ่มเติม


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2560