วิวาทะประเด็น “โขน” ระหว่างไทย-กัมพูชา ก่อตัวขึ้นอีกรอบ!!? สุจิตต์ วงษ์เทศ ชี้อีกครั้ง “โขนเป็นวัฒนธรรมร่วม มีรากเหง้าร่วมกัน จะแยกโดดๆ มิได้ ว่าเป็นสมบัติของใครของมัน”

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา เกิดกระแสความไม่พอใจในโลกออนไลน์ของชาวกัมพูชา เกี่ยวกับกรณีที่ทางการไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรม เสนอการแสดง “โขน” ต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เพื่อพิจารณาขึ้นบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ ในปี 2561 นั้น ได้มีสมาชิกเฟซบุ๊กและเพจในโลกออนไลน์ของกัมพูชาจำนวนมากออกมาแสดงความเห็นอ้างว่า การแสดงโขนเป็นการแสดงและวัฒนธรรมของชาวกัมพูชาไม่ใช่ของไทย

ทั้งยังระบุว่า ประเทศไทยได้นำการแสดงโขนมาจากกัมพูชา มีการแชร์โพสต์ดังกล่าวไปมากกว่า 50,000 ครั้ง นอกจากนี้สมาชิกในโลกออนไลน์ของกัมพูชายังมีการเข้าไปแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กเพจขององค์การยูเนสโก เรียกร้องให้องค์การยูเนสโกพิจารณาว่าการแสดงโขน ไม่ใช่ของประเทศไทย และขอให้องค์การยูเนสโกทบทวนการพิจารณาดังกล่าว

สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยมีความเห็นเกี่ยวกับที่มาของ “โขน” ไว้ว่า “โขนเป็นการละเล่นเรื่องรามายณะ ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาพรามหมณ์ แรกมีเก่าสุด (เท่าที่พบหลักฐานขณะนี้) ในราชสำนักขอมกัมพูชา ที่โตนเลสาบ (ทะเลสาบ) เมืองเสียมเรียบ”

“ต่อจากนั้น ราชสำนักขอมกัมพูชาส่งแบบแผนการละเล่นรามายณะ ให้ราชสำนักขอมอโยธยา-ละโว้ (ยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา) ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

ราชสำนักไทยกรุงศรีอยุธยาสืบจากราชสำนักขอมอโยธยา-ละโว้ ก็สืบทอดการละเล่นรามายณะแบบขอมไว้ด้วย แต่ปรับเปลี่ยนเรียกรามยณะด้วยคำใหม่ว่ารามเกียรติ์

แต่กว่าโขนจะมาเป็นโขนในทุกวันนี้ สุจิตต์ อธิบายว่า การละเล่นชนิดนี้ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาจากวัฒนธรรมภายนอกและภายในของบรรดาราชสำนักจารีตโบราณในภูมิภาคอุษาคเนย์ กล่าวคือ ตัวเนื้อเรื่องได้มาจากวัฒนธรรมภายนอกคืออินเดียโดยเฉพาะอินเดียใต้ และเครื่องแต่งกายก็ได้มาจากอินเดียและเปอร์เซีย เช่น มงกุฎ ชฎา และผ้าต่างๆ

ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ ที่มาจากวัฒนธรรมภายในอุษาคเนย์เองประกอบด้วย ชื่อ “โขน” มาจากคำพื้นเมืองตระกูลชวา-มลายูว่า “Lakon” หรือ “Lakun” หรือคำบาหลีว่า “Legong”

สุจิตต์กล่าวว่า ท่าโขน น่าจะมาจากการเต้นฟ้อนของคนพื้นเมืองอุษาคเนย์ตั้งแต่ราว 3 พันปีมาแล้ว เห็นได้จากภาพเขียนสีที่พบตั้งแต่มณฑลกวางสีในจีนตอนใต้ ลงมาถึงภาคอีสานและภาคกลางของไทย

“หัวโขน” ก็พัฒนามาจากหน้ากากเครื่องสวมเพื่อพรางหน้าจริงในพิธีเข้าทรงเพื่อเชื่อมโยงมนุษย์กับอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ซึ่งล้วนมีในกลุ่มชนดั้งเดิมทุกชนเผ่า

ส่วนปี่พาทย์รับโขน สุจิตต์กล่าวว่า เครื่องดนตรีหลักๆ คือ ปี่ ระนาด กลองทัด เป็นของพื้นเมืองดั้งเดิมของชาวสุวรรณภูมิอุษาคเนย์ราว 3 พันปีมาแล้ว การพากษ์โขนซึ่งแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกาพย์ได้รับแบบแผนมาจากกัมพูชา ส่วนการเจรจาโขนแต่งด้วยร่ายยาวนับเป็นร้อยกรองพื้นเมืองดั้งเดิมตระกูล ลาว-ไทย

สุจิตต์ให้ความเห็นลงท้ายว่า “โขนเป็นวัฒนธรรมร่วมของสุวรรณภูมิในภูมิภาคอุษาคเนย์ มีรากเหง้าความเป็นมาร่วมกัน จะแยกโดดๆ มิได้ ว่าเป็นสมบัติของใครของมัน หรือของที่นี่ ที่โน่น ที่นั่น”

ก่อนเสริมเรื่องของ “โขน” ยังมีรายละเอียดที่ต้องศึกษาอีกมากเกินกำลังที่ใคร คนหนึ่งจะศึกษาได้ครบถ้วน ต้องอาศัยผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาร่วมกันศึกษาค้นคว้าต่อไป


อ้างอิง

สุจิตต์ วงษ์เทศ. “โขน มาจากไหน”. เอกสารประกอบการเสวนา เนื่องในงานสัปดาห์อนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช 2556 ณ สังคีตศาลา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2556

“เขมรครึ่งแสนโวยไทยจะขึ้นทะเบียน ‘โขน’ มรดกโลก! ถล่มเพจยูเนสโกลั่นไทยก๊อบปี้” ข่าวสดออนไลน์ 30 สิงหาคม 2561