งานวิจัยชี้ “พันธุกรรม” ส่งอิทธิพลต่อแต่ละคนว่าจะได้ “เสียตัวเมื่อไร”

จากรายงานของเดอะการ์เดียน แม้ปัจจัยส่วนใหญ่ที่ส่งผลต่อการมีประสบการณ์ทางเพศเป็นครั้งแรกของแต่ละคนจะมาจากปัจจัยภายนอก เช่น ความเชื่อทางศาสนา, พื้นฐานครอบครัว และอิทธิพลจากบุคคลรอบข้าง แต่นักวิจัยได้พบว่า ปัจจัยภายในอย่าง “ดีเอ็นเอ” ก็ส่งผลต่อกรณีนี้ไม่น้อยเช่นกัน

“เราสามารถคำนวณได้เป็นครั้งแรกว่า อายุที่ (แต่ละคน) จะได้มีประสบการณ์ทางเพศมาจากองค์ประกอบที่ผ่านการสืบทอด (ทางสายเลือด) และการสืบทอดนี้มีผลราว 25 เปอร์เซนต์ ดังนั้น ราวหนึ่งในสี่จึงมาจากธรรมชาติและอีกสามส่วนมาจากการเลี้ยงดู” จอห์น เพอร์รี (John Perry) ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะการสืบกับการเจริญวัย รวมถึงสุขภาวะที่เกี่ยวข้อง จากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ กล่าว

รายงานระบุว่า ในบรรดาชิ้นส่วนดีเอ็นเอ 38 ส่วนที่พบว่ามีอิทธิพลต่ออายุของบุคคลในการมีสัมพันธ์ทางเพศเป็นครั้งแรก ยีนบางส่วนคือตัวผลักดันระบบชีววิทยาการสืบพันธุ์ เช่นการหลั่งฮอร์โมนเพศ และอายุที่จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และบางส่วนยังมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม บุคคลิก และรูปลักษณ์ภายนอก

นักวิจัยทำการระบุยีนดังกล่าวจากการศึกษาดีเอ็นเอจากประชาชนกว่า 1.25 แสนคน อายุระหว่าง 40-69 ปี ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับโครงการ UK BioBank และทีมวิจัยเตรียมที่จะศึกษาเพื่อยืนยันผลกระทบของกลุ่มยีนดังกล่าวเพิ่มเติมจากกลุ่มตัวอย่างทั้งชายและหญิงจากไอซ์แลนด์และสหรัฐฯจำนวนราว 2.5 แสนคน

นักวิจัยยังกล่าวต่อไปว่า ภาวะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก่อนวัยอันควรซึ่งมักเกิดจากการได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ส่งผลโดยตรงแม้จะไม่มากต่ออายุที่เด็กจะเสียพรหมจรรย์ และอายุที่เด็กจะมีลูกคนแรก ซึ่งดูจะส่งผลต่อการลดความสามารถในการศึกษาเล่าเรียนตามไปด้วย

“มันช่วยให้ข้อมูลกับเราว่าควรจะต้องทำอย่างไรต่อไปเพื่อยืดระยะเวลาการถึงวัยเจริญพันธุ์ของเด็ก” เพอร์รี กล่าว