จอมพล ป. พิบูลสงคราม ‘นโปเลียน’ ลี้ภัยสงคราม ใน “อยากลืมกลับจำ”

“คุณพ่อค่อยรีบเดินทางต่อทันที เป็นการเดินทางที่เสี่ยงมาก เพราะทหารเขาตามจับ มาล้อมบ้านชิดลมเต็มไปหมดเลย แต่คุณพ่อเป็นถึงระดับจอมพล ต้องรู้ทันเหตุการณ์รบอยู่แล้ว ยังมาพูดกับป้าในตอนหลังเลยว่าท่านเป็น ‘นโปเลียน’ ลี้ภัยสงคราม” ส่วนหนึ่งจากความทรงจำของ ‘ป้าจีร์ – จีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม’ บุตรสาวจอมพล ป. พิบูลสงคราม

สิ่งละอันพันละน้อยที่ถูกเก็บคำและนำเรียงร้อยไว้ในหนังสือ “อยากลืมกลับจำ” คืออีกหนึ่งชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์ซึ่งจะประกอบให้เห็นเป็นภาพใหญ่ หากไม่ใช่คนใกล้ชิด ก็น้อยคนนักจะมีโอกาสสัมผัสและร่วมรับรู้

“อยากลืมกลับจำ”

ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และณัฐพล ใจจริง : เขียนอย่างใส่ใจทุกรายละเอียด
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ : บรรณาธิการผู้สอบทานด้วยความพิถีพิถัน
ตะวัน วัตุยา : ออกแบบปก โปสการ์ด ที่คั่นหนังสือ สวยงามจนไม่อาจลืม

ถ้อยคำจากบรรณาธิการ
“นี่คือหนังสือสารคดีชีวประวัติที่ทางสำนักพิมพ์มติชนภาคภูมิใจนำเสนออย่างยิ่งยวด นอกเหนือจากการทีมงานผู้เขียนและบรรณาธิการมากคุณภาพ การออกแบบรูปเล่ม ภาพปก โปสการ์ด และที่คั่นหนังสือภายในเล่ม คงยืนยันถึงความตั้งใจในการทำงานครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ บรรณาธิการหนังสือ กล่าวถึง “อยากลืมกลับจำ” สารคดีชีวประวัติลูกสาวจอมพล ป. : ชีวิต ความผันผวน และความทรงจำ ของ จีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม เล่มนี้ไว้ว่า

ในฐานะบรรณาธิการ ผมอยากให้หนังสือเล่มนี้เป็นตัวอย่างของการเขียนหนังสือชีวประวัติบุคคลที่ไม่ใช่หนังสืองานศพ ซึ่งมักฉายภาพชีวิตการทำงานและเกียรติประวัติของบุคคลแต่เพียงด้านเดียว ทั้งที่ในความเป็นจริง เรื่องราวชีวิตของบุคคลเหล่านั้นยังมีรายละเอียดในอีกหลายด้านและหลายมิติ ทั้งด้านที่สัมพันธ์กับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตประจำวัน

เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้จบลง ผมพบว่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของคุณป้าในหลายตอน ได้เปิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับบุคคลขึ้นในหลายช่วงเวลา หนังสือเล่มนี้ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างตระกูล บุตรหลานต่างๆ ในแวดวงของคณะราษฎรขึ้นด้วย เช่น ครอบครัวสมาชิกคณะราษฎรหลายคนมีเพียงทายาทผู้หญิง เมื่อบุคคลเหล่านี้ได้แต่งงานไปแล้ว เรื่องราวของตระกูลและสมาชิกคณะราษฎรเหล่านั้นเป็นอย่างไร ทายาทของตระกูลเหล่านั้นยังคงมีบทบาทหรือมีความสัมพันธ์กับตระกูลที่มีบทบาทในแวดวงการเมืองและเศรษฐกิจในสมัยปัจจุบันอยู่หรือไม่ เป็นต้น

ดังนั้น ผมจึงหวังว่า หนังสือเล่มนี้จะมีส่วนช่วยทำให้การศึกษาชีวประวัติบุคคลในแง่มุมของประวัติศาสตร์สังคมได้งอกงามขึ้นบ้างในวงวิชาการของไทย”