ปีสุดท้ายของพระเจ้าตาก ปีที่เต็มไปด้วยพระคุณ แต่โชคไม่อำนวย

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ศาลสมเด็จพระเจ้าตาก จ.จันทบุรี

ระยะเวลา 14-15 ปีในการสร้างชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชส่งผลใหญ่หลวงต่อประเทศ พระราชประวัติปีสุดท้ายของพระองค์เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่นักวิชาการมองว่าเปี่ยมไปด้วยพระคุณต่อประเทศ

เป็นที่รู้กันว่าปีสุดท้ายของพระองค์ คือ ปีฉลู พ.ศ. 2324 พอรุ่งขึ้นปีขาลเพียง 6 วัน ตรงกับวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 พระองค์ก็เสด็จสวรรคต สำหรับพระราชกรณียกิจในปีสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าตากสิน นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีชื่อดังของไทยอย่างอาจารย์ปรีดา ศรีชลาลัย รวบรวมข้อมูลไว้ในบทความ “ปีสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ตีพิมพ์ในหนังสือ “จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย” เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2484

อาจารย์ปรีดา มองว่า ปี พ.ศ. 2324 เป็นปีที่การสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับจีนเกิดขึ้นเป็นครั้งใหญ่ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ราชทูตไปจีน พร้อมด้วยเรือสำเภาหลวง 11 ลำ บรรทุกสินค้าเต็มทุกลำ มีพระราชสาส์น แสดงพระราชประสงค์ส่งเสริมสัมพันธภาพ พร้อมกับให้ราชทูตจัดซื้อเครื่องทัพพสัมภาระสำหรับใช้ในการสร้างนครหลวงใหม่ด้วย

ผู้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นว่า ที่พระเจ้าตากสินเพิ่งมีพระราชดำริสร้างนครหลวงใหม่นั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ยากนัก เมื่อพิจารณาจากสภาพแวดล้อมช่วงเริ่มสมัยกรุงธนบุรีซึ่งต้องปราบและต้านทานกำลังข้าศึกรอบด้านทั้งกลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่ ถือเป็นภาระอันหนักอึ้งอันจำเป็นต้องทำภารกิจให้ลุล่วงก่อน สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงสร้างชาติ (ในส่วนกำลังสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะทางทหารและเศรษฐกิจ) ครั้นบ้านเมืองแข็งแรงสมบูรณ์ สมควรแก่การสร้างพระนครแล้วจึงจะสามารถทำได้โดยสะดวก

หลังจากโปรดให้ราชทูตไทยไปยังจีนแล้ว เมื่อว่างทัพในฤดูฝน พระองค์ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ ความปรากฏในจดหมายเหตุโหรฉบับรามัญซึ่งบันทึกไว้ว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยทรงทำบุญตั้งแต่เข้าพรรษา (เดือน 8 กลางเดือนเริ่มต้นเข้าพรรษา) เป็นเวลาครึ่งเดือน ช่วงใกล้ออกพรรษาทรงสงเคราะห์คนยากจน อนุเคราะห์ผู้เฒ่าทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นราชการและราษฎร เมื่อถึงช่วงออกพรรษาทรงทำนุบำรุงทุกวัดโดยไม่ได้เว้นวัดแห่งใด

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี

อาจารย์ปรีชา ยังตั้งข้อสังเกตเรื่องการทำนุบำรุงวัดด้วยว่า พระเจ้าตากไม่โปรดให้แยกวัดเป็นชั้นตามวัดหลวงหรือวัดราษฎร์ เพื่อไม่ให้แบ่งชั้นวรรณะ หาไม่แล้ว การสร้างพระพุทธรูปก็จะพลอยถูกจัดแบ่งชั้นไปด้วย ผู้ที่ศรัทธาสามารถทำบุญได้ ทรงพระราชทานเสรีภาพ และสมภาพในด้านศาสนา

ผู้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระประสงค์ให้พระพุทธรูปอยู่ระดับเดียวกัน ไม่ว่าพระพุทธรูปวัดไหน ใครสร้าง ย่อมควรได้รับความนับถือเป็นสิ่งแทนพระพุทธองค์เช่นเดียวกันทั้งหมด เขตทอดพระกฐินอันต้องสิ้นสุดลงกลางเดือน 12 ตามวินัยนิยม

นอกเหนือจากด้านการเศรษฐกิจและนโยบายสร้างเมืองแล้ว ในช่วงปีสุดท้ายก็ยังมีเหตุการณ์แง่การศึกเกิดขึ้น อาทิ การปราบนครเวียงจันทน์ อาจารย์ปรีชา ยังอธิบายว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงห้ามมิให้ทหารทำร้ายหรือทำอันตรายพวกเจ้าเมืองให้เป็นอันต้องอัปยศ หากฝ่าฝืนต้องรับโทษหนัก (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 66 เรื่องปราบเมืองพุทไธมาศ พ.ศ. 2314)

ในเดือนยี่ ปีฉลู พ.ศ. 2324 ทรงโปรดให้กองทัพไทยไปจัดการเมืองเขมรและรับมือกับญวน หลังจากปราบกบฏญวนในพระนครเพียงครึ่งเดือน มีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระมหาอุปราช องค์รัชทายาทแห่งพระราชวงศ์กู้ชาติ เป็นแม่ทัพ เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) เจ้าพระยานครสวรรค์ เจ้าพระยาสรศรี (บุญมา น้องชายเจ้าพระยาจักรี ด้วง) และพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนรามภูเบศ เป็นแม่ทัพรองลงมา

แต่การไม่เป็นไปตามพระประสงค์ ฝ่ายแม่ทัพรองฝ่ายไทยกับแม่ทัพญวนลอบทำสัญญาลับทางทหารต่อกัน (พงศาวดารญวน ฉบับนายหยงทหารปืนใหญ่ แปล เล่ม 2 หน้า 378) แม่ทัพรองฝ่ายไทยให้ญวนล้อมกองทัพสมเด็จพระมหาอุปราชเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ และทัพพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนรามภูเบศไว้อย่างแน่นหนา ตรึงทัพทั้งสองมิให้เคลื่อนที่ ส่วนตนเองเดินทัพย้อนกลับมายังกรุงธนบุรี

ฟากกรุงธนบุรี มีผู้ยุยงชาวกรุงเก่าให้เข้าใจผิดในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และชักชวนทำกบฏย่อมๆ ผู้ยุยงคนสำคัญที่แอบขึ้นไปตั้งทำการยุยงที่กรุงเก่า คือ นายบุนนาค, หลวงสุระ และหลวงชะนะ รวบรวมผู้คนเป็นกองรบเข้ารุมทำร้ายผู้รักษากรุงเก่า และเดินทางกลับมายังกรุงธนบุรี เมื่อถึงในช่วงกลางดึกก็ระดมยิงพระนครทันที ผนวกกับพวกกบฏในกรุงธนบุรีที่มีหลวงสรวิชิต (หน) ก่อจราจลรับกบฏที่มาจากกรุงเก่า

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ที่หน้าพระราชวังเดิม กรุงธนบุรี

เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตื่นบรรทมออกบัญชาการศึก รุ่งสว่างทหารหลวงยิงเรือกบฏล่ม และกองเรือเริ่มถอย เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นพวกกบฏล้วนเป็นคนไทย ก็สลดสังเวชพระราชหฤทัย

พวกกบฏขอให้พระสงฆ์เข้าไปถวายพระพร ทูลขอให้พระองค์เสด็จออกทรงผนวชเพื่อสะเดาะเคราะห์เมืองสัก 3 เดือน สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรับคำทูล อันทำให้นึกย้อนถึงพระราชดำรัสต่อหน้าพระสงฆ์และข้าราชการผู้ใหญ่ เมื่อต้นรัชกาล ที่เมืองพุทไธมาศ วันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น 5 ค่ำ ปีเถาะ พ.ศ. 2314 (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 66 หน้า 19)

“เป็นความสัตย์แห่งข้า ข้าทำความเพียรมิได้คิดแค่กายและชีวิต ทั้งนี้จะปรารถนาสมบัติพัสถานอันใดหามิได้ ปรารถนาแต่จะให้สมณะชีพราหมณ์สัตว์โลกเป็นสุข อย่าให้เบียดเบียนกัน ให้ตั้งอยู่ในธรรมปฏิบัติ เพื่อจะเป็นปัจจัยแก่โพธิญาณสิ่งเดียว ถ้าแลผู้ใดอาจสามารถจะอยู่ในราชสมบัติให้สมณพราหมณ์ประชาราษฎร์เป็นสุขได้ จะยกสมบัติทั้งนี้ให้แก่บุคคลนั้น แล้วข้าจะไปสร้างสมณธรรมแต่ผู้เดียว มิฉะนั้นจะปรารถนาศีร์ษะและหทัยวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะให้แก่ผู้นั้น”

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงผนวชวันอาทิตย์ เดือน 4 แรม 12 ค่ำ ที่วัดแจ้ง ในพระบรามหาราชวัง ผู้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นว่า พวกกบฏมีกำลังไม่พอจะบุกบั่นเข้าถึงพระองค์แล้วจับสำเร็จโทษ หรือไม่ก็เพราะราษฎรไม่ต้องการเช่นนั้น ถึงแม้จะถูกหลอกให้เข้ากองทัพมาทำกบฏ แต่ก็คงไม่ลืมพระคุณจนถึงกับคิดสังหารพระองค์ หากพวกกบฏคิดจะประหารความลับอาจแดงถึงขั้นปะทะกับราษฎรก็เป็นได้จึงจำต้องขอเพียงให้ผนวช 3 เดือน เมื่อนั้นแล้วค่อยคิดอ่านภายหลัง เพราะผนวชแล้วจะเชือดเนื้อหนังอย่างไรก็ย่อมทำได้ง่ายเมื่อไม่เกรงกลัวบาป

หลังทรงผนวชแล้ว 12 วัน พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) หลานเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) เจ้าเมืองนครราชสีมา ยกทัพมาจากนครราชสีมา เข้ามาตั้งมั่นอยู่ที่ตำบลบ้านปูน ตอนเหนือพระราชวังหลวง

อาจารย์ปรีชา มองว่า การมาของพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) อาจทำให้ข้าหลวงในพระนครคิดในแง่ร้าย พวกกบฏที่มีนายบุนนาค หลวงสุระ เป็นต้น เข้ากับพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) การบริหารราชการจะยากเป็นปกติ ความไม่สงบจะเกิดทั่้ว ข้าหลวงพระนครปรึกษาและตกลงกันขอให้พระเจ้าหลานเธอกรมขุนอนุรักษ์สงครามดำเนินงานตามที่เห็นสมควร

กรมขุนอนุรักษ์สงครามระดมกำลังไปตีทัพเจ้าพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2425 แต่กำลังของกรมขุนอนุรักษ์สงครามมีจำนวนน้อย ตีกองทัพอีกฝ่ายไม่สำเร็จ ล่าถอยกลับทางวัดยาง และถูกพวกพระยาสุริยอภัยจับได้

เมื่อกรมขุนอนุรักษ์สงครามถูกจับได้ 3 วัน เช้าวันที่ 6 เมษายน เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) รีบเดินกองทัพใหญ่มาถึงพระนคร แต่ก่อนมาให้กองทัพญวนและเขมรช่วยล้อมกองทัพสมเด็จพระมหาอุปราชเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ไว้ (พงศาวดารญวน ฉบับนายหยงแปล เล่ม 2 หน้า 382 และประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 หน้า 95)

วันที่กองทัพเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) มาถึง ได้สอบถามความเห็นข้าราชการผู้ใหญ่จำนวนมากว่าควรทำอย่างไรต่อไป

ข้าราชการที่ยังจงรักภักดีในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเชื่อในพระปรีชาสามารถของพระองค์ ยืนคำเดิมว่าควรกราบทูลเชิญเสด็จขอให้ทรงลาผนวชมาครองราชสมบัติบริหารราชการแผ่นดิน

อาจารย์ปรีชา อ้างอิงคำบอกเล่าของเจ้านายบางองค์ในราชวงศ์จักรีว่า ข้าราชการที่กล้าพูดเช่นนั้นเป็นคนรักความจริงอย่างเด็ดเดี่ยว พวกเหล่านี้ย่อมทราบดีว่าถ้าพูดก็ต้องตาย แต่ไม่กลัวตายจึงกล้าพูด เมื่อนั้นก็ถูกคุมตัวไปประหารชีวิตทั้งหมด

ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ถูกปลงพระชนม์ในวันนั้นเอง ต่อจากนี้เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขไทย เริ่มสร้างพระราชวังใหม่ที่ฟากตะวันออก



อ้างอิง:

ปรีดา ศรีชลาลัย. “ปีสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าตากสิมหาราช”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (ธันวาคม, 2524)


ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 5 เมษายน พ.ศ. 2562