จีนอคติต่อ “พระเจ้าตาก” รุนแรงในระยะแรก ทำไมยอมรับสถานะกษัตริย์ในภายหลัง

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วัดปากพิงตะวันตก อำเภอเมืองฯ จังหวัดพิษณุโลก
พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วัดปากพิงตะวันตก อำเภอเมืองฯ จังหวัดพิษณุโลก

ความสัมพันธ์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับจีนซึ่งถือว่าเป็นดินแดนที่เกี่ยวข้องกับภูมิหลังของพระองค์ถูกบันทึกไว้ในเอกสารของฝั่งจีนมากมาย หากอ้างอิงจากการสืบค้นของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จีนจะพบว่าในช่วงเวลานั้น ราชสำนักชิงมีอคติต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในระยะแรกแต่ภายหลังก็ยอมรับพระองค์ในสถานะกษัตริย์

ไม่ว่าพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน หรือเป็นชาวจีนที่อพยพเข้ามาไทย แต่บันทึกส่วนใหญ่ต่างระบุความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับจีนอันสืบเนื่องจากเอกสารที่แพร่หลายและเป็นที่เชื่อกันว่าพระบิดาของพระองค์มาจากมณฑลกว้างตุ้ง อพยพมาในรัชสมัยยงเจิ้ง ราชวงศ์ชิง โดยเรือสำเภาแต้จิ๋ว

เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นแล้ว ต้วนลีเซิง นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จีน เขียนบทความเล่าว่า พระองค์ทรงมอบหมายให้เฉินเหม่ยเซิง พ่อค้าทางเรือชาวจีนนำสาส์นไปเมืองกวางโจวเสนอขอสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับราชสำนักชิง ซึ่งนักวิชาการสันนิษฐานว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการปกครอง 3 ประการ

ประการแรกคือเพื่อสกัดกั้นการขยายแสนยานุภาพของพม่า จากที่ระยะเวลานั้นพม่าลงใต้ตีอยุธยา และยังขึ้นเหนือก่อกวนจีนสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง ประการต่อมาคือเพื่อให้ราชสำนักชิงรับรองทางการทูต สร้างความชอบธรรมในการเสวยราชสมบัติอันจะส่งผลเชิงอำนาจต่อการปกครองลาวและเขมร และประการสุดท้ายคือเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า ซื้อยุทธปัจจัยจากจีน และได้ขายสินค้าของตัวเองอย่างเช่นข้าวและเครื่องเทศ

ท่าทีของราชสำนักชิงในช่วงนั้นค่อนข้างใส่ใจกับสถานการณ์ในอาณาจักรสยาม เนื่องจากจีนทำสงครามกับพม่าด้วย เมื่อพม่ารุกรานสยามย่อมต้องให้ความสนใจเป็นกังวล อีกทั้งจีนไม่มีสมรรถนะมากพอให้ขยายอำนาจเข้าครอบครองดินแดนย่านนี้จึงหวังให้ดินแดนแถบนี้รักษาสมดุลแง่อำนาจทางการเมืองโดยไม่มีมหาอำนาจอื่นมาครอบงำก็ถือว่าเพียงพอ

ความสัมพันธ์ช่วงแรก

เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ชิงกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ต้วนลีเซิง แบ่งระยะเวลาออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกคือระหว่างพ.ศ. 2310 ถึง พ.ศ. 2313 ช่วงต้นของระยะนี้ราชสำนักชิงไม่พอใจต่อเหตุการณ์ที่หัวหน้าชนต่างๆ ไม่ยกย่องเชิดชูรัชทายาทของกษัตริย์เพื่อฟื้นฟูแผ่นดิน แต่กลับแบ่งแยกยึดครอง ตั้งตนเป็นผู้นำแบบผิดชั้นวรรณะ ผิดทำนองคลองธรรม

สำหรับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ราชสำนักชิงเห็นว่า “ความสัมพันธ์กับกษัตริย์เสียนหลอ (สยาม) เป็นแบบข้าราชบริพารต่อกษัตริย์ เมื่อเขาตัวตายเมืองวอดวายก็บังอาจฉวยโอกาสในห้วงวิกฤตโดยไม่คำนึงถึงพระมหากรุณาธิคุณต่อเจ้านายเก่า ตั้งตนเป็นอิสระไม่หยุดหย่อน เพ้อฝันที่จะได้รับแต่งตั้งรับรอง อ้างเอาความเป็นใหญ่ ถือเป็นเรื่องผิดทำนองคลองธรรมและชาติวรรณะ

จักรพรรดิเฉียนหลงนอกจากจะไม่รับพระราชสาส์น ยังให้สภาองคมนตรีร่างหนังสือตอบในนามหลี่ซื่อเหยา ข้าหลวงประจำมณฑลกวางตุ้งและกว่างซี มีเนื้อหาตำหนิติเตียนอย่างรุนแรงและส่งให้เฉินเหม่ยเซิงนำกลับไป”

ในระยะเวลานี้ ราชสำนักชิงรับทราบเหตุการณ์ต่าง ๆ ของสยาม โดยอาศัยจากม่อซื่อหลิน แห่งเหอเซียน (พุทไธมาศ) ที่มีเรื่องขัดแย้งกับพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นหลัก

สำหรับที่มาที่ไปของความขัดแย้งมาจากพระราชนัดดาแห่งกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีพระนามว่าเจาจุ้ย (หรือเจ้าจุ้ย) เจ้าซื่อชัง (หรือเจ้าศรีสังข์) ทรงหลบไปเหอเซียน (พุทไธมาศ) ม่อซื่อหลิน คิดฉวยโอกาสระหว่างสยามเดือดร้อน หวังเข้ามาชิงความเป็นใหญ่ในสยาม โดยตั้งเจาจุ้ย (เจ้าจุ้ย) เป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมือง

ม่อซื่อหลินเองก็เข้าใจความคิดของราชสำนักชิงที่ยึดมั่นในทำนองคลองธรรมของการสืบทอดราชบัลลังก์ ต้องการให้รัชทายาทของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเป็นกษัตริย์จึงใช้กุศโลบายแสดงตนเป็นผู้สนับสนุนเจาจุ้ย (เจ้าจุ้ย) ในการสืบทอดสันติวงศ์ ทำให้ราชสำนักชิงไว้วางใจตน ขณะเดียวกัน ก็ใส่ความสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นเหตุให้ราชสำนักชิงไม่ยอมรับรองกรุงธนบุรี และเหินห่างกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ด้านจักรพรรดิเฉียนหลง ทรงต้องการรับทราบสถานการณ์ของสยามอย่างมาก เคยมีพระบรมราชโองการให้ หลี่ซื่อเหยา คัดเลือกข้าราชบริพารไปสอบถามความเป็นไปของสยามจากเหอเซียนจิ่ง (พุทไธมาศ) เหตุผลที่ร้อนรนเป็นเพราะ เคยล้มเหลวในการโจมตีพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2310 เมื่อปี พ.ศ. 2312 ก็โจมตีพม่าอีกระลอกหนึ่ง มีความต้องการให้สยามสกัดจับทหารพม่าที่แตกทัพหนี

สภาองคมนตรีแห่งราชวงศ์ชิงได้แต่งหนังสือฉบับหนึ่ง และสั่งให้หลี่ซื่อเหยาประทับตราเพื่อถวายกษัตริย์สยาม หากสืบทราบแน่ชัดว่า ทายาทของตระกูลเจา (หมายถึงรัชทายาทของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา) ได้รับการสถาปนาสืบทอดราชสมบัติขึ้นมาใหม่ ก็ให้นำส่งโดยด่วนโดยทางเรือทะเลในช่วงที่ทางมณฑลยูนานเริ่มเดินทัพเข้าโจมตี (พม่า) แต่ถ้าปรากฏว่ากันเอินซื่อ (พระเจ้ากรุงธนบุรี ) ยังคงแอบอ้างตั้งตนยึดครองซึ่งเป็นความกระหายอันไม่ชอบธรรม แสดงว่าอาณาจักรนั้นยังปราศจากผู้มีอำนาจปกครองโดยชอบธรรม ก็ไม่ต้องส่งมอบให้และให้กราบบังคมทูลคืน

เมื่อหลีซื่อเหยาได้รับหนังสือที่สภาองคมนตรียกร่างให้เพื่อส่งสยามแล้ว ได้พิจารณาเห็นว่า ถึงแม้ว่าทายาทตระกูลเจา (รัชทายาทของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา) ยังมิได้รับการสถาปนาขึ้นมาใหม่ แต่ม่อซื่อหลินผู้เป็นหัวหน้าเหอเซียน (พุทไธมาศ) โดยปกติก็มีความนบนอบและเชื่อฟังอยู่ ขณะนี้ได้นัดหมายกับหัวหน้าเผ่าชนเมืองต่าง ๆ แถบชายฝั่งทะเลของเสียนหลอ (สยาม) ใช้กำลังโจมตีกันเอินซื่อ (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) หากจะขอให้ช่วยสกัดจับโจรพม่า ก็คงจะดำเนินการให้อย่างดี

จึงเลียนแบบหนังสือดังกล่าว ทำหนังสือแจ้งเรื่องราวในนามของตนเอง มอบหมายให้ไช่ฮั่น ผู้มีตำแหน่งจั่วอี้เจิ้น โดยสารเรือพาณิชย์นำหนังสือดังกล่าวไป ณ ที่นั่น

ไช่ฮั่นได้รับคำสั่งให้เดินทางตั้งแต่เดือน 7 ของปีที่ 34 (พ.ศ. 2312) แห่งรัชกาลเฉียนหลง แต่ถึงเหอเซียน (พุทไธมาศ) เดือนอ้ายของปีถัดไป ใช้เวลาเดินทางถึงครึ่งปี อันเนื่องจากไช่ฮั่นกลัวการท่องทะเล แวะพักตลอดทาง

การเดินทางครั้งนี้ ไช่ฮั่นที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้ระเบียบของราชสำนักชิงที่ไม่ยอมมีความสัมพันธ์โดยตรงกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเลิกไปโดยปริยาย กล่าวคือ เมื่อไช่ฮั่นส่งมอบสาสน์ของราชสำนักชิงให้แก่ทางฝ่ายเหอเซียน (พุทไธมาศ) ม่อซื่อหลินเห็นว่า ต้องนำเรื่องนี้แจ้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงจะสามารถบรรลุถึงภารกิจในการ “สกัดจับกุมโจรพม่า”

แต่เนื่องจากม่อซื่อหลินกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีเรื่องบาดหมางกันเกรงว่าพระองค์จะไม่เชื่อ จึงขอให้ไช่ฮั่นมีหนังสือประกอบไปด้วย เขารับภาระในการร่างหนังสือให้ เมื่อไช่ฮั่นเห็นชอบแล้วก็จัดส่งไป เอกสารนี้จึงเป็นเอกสารราชการฉบับแรกที่มีถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในนามของสำนักชิง

ช่วงเปลี่ยนแปลงทัศนะต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี

ช่วงเวลาต่อมาในปี พ.ศ. 2313 ถึง พ.ศ. 2314 เป็นช่วงที่ราชสำนักชิงเริ่มเปลี่ยนแปลงทัศนะต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี หลังจากที่ประจักษ์ว่า รัชทายาทของตระกูลเจา (ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี ที่แปลบทความของต้วนลีเซิง คาดว่าหมายถึง “เจ้า” สื่อความถึงกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา) ตกต่ำถดถอยถึงที่สุด สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมของ “กันเอินชื่อ” (ผู้แปลระบุว่าหมายถึง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)

ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ราชสำนักชิงต้องทบทวนท่าทีต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเดือน 8 ของปีที่ 36 (พ.ศ. 2314) แห่งรัชกาลเฉียนหลง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี นำส่งเชลยศึกพม่าซึ่งมีชื่อว่าเซี่ยตูเอี้ยนและบุคคลอื่น ๆ ถึงกรุงปักกิ่งตามคำขอในสาส์นของไช่ฮั่น เรื่องนี้ปรากฎว่าจักรพรรดิเฉียนหลงมีกระแสรับสั่งต่อหลีซื่อเหยาว่า “อย่าได้เฉยเมยเย็นชาเสียทุกกรณี อันจะเป็นการตัดเยื้อใยอย่างสิ้นเชิงกันเลย จึงสมควรใช้ดุลยพินิจในนามของข้าหลวงนั้นเองให้รางวัลเป็นแพรต่วนตามสมควร”

หลี่ซื่อเหยา ก็เริ่มรู้สึกแล้วถึงเบื้องหลังของม่อซื่อหลินแห่งพุทไธมาศ ที่ใส่ความสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “พินิจพิจารณาเบื้องหน้าเบื้องหลังของเรื่องนี้ คงจะเป็นว่าเมื่อสยามกรุงแตก เจาจุ้ย (เจ้าจุ้ย) พระราชนัดดาอันเป็นรัชทายาทได้หลบไปถึงเมืองนั้น (หมายถึงพุทไธมาศ – ผู้แปล) มีหรือที่ม่อซื่อหลินจะไม่ฉวยโอกาสเพื่อคิดการใหญ่”

ดังนั้น หลี่ซื่อเหยาจึงเริ่มแคลงใจ ไม่เชื่อถือถ้อยคำของม่อซื่อหลินเหมือนเคย ราชสำนักชิงก็เริ่มเปลี่ยนแปลงท่าทีต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ไม่ได้เย็นชาเมินเฉยเช่นแต่กาลก่อน และมิได้ก้าวก่าย ในกรณีความขัดแย้งกันระหว่างสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับม่อซื่อหลิน ดังที่จักพรรดิเฉียนหลงมีกระแสรับสั่งว่า

“อันสยามตั้งอยู่ ณ ทะเลอันไกลโพ้น มีระยะทางห่างไกลย่อมจะยากลำบากต่อการใช้กำลัง เมื่อผิ่เอียซิน ( พระยาสิน) ใช้พลังอันดุดันเข้าช่วงชิงราชบัลลังก์และเกิดการรบพุ่งแย่งชิงกัน ก็สมควรที่จะถือว่าเป็นเรื่องของนอกแคว้น ถ้าหากว่าม่อซื่อหลินซึ่งเป็นเมืองเหอเซียน ( พุทไธมาศ ) มีความประสงค์จะช่วยฟื้นฟูราชบัลลังก์ ก็ชอบที่จะปล่อยให้กระทำการตามกำลังความสามารถตามลำพัง โดยไม่จำเป็นที่จะไปยุ่งเกี่ยวด้วยเลย”

ช่วงรับรองสถานะสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างเป็นทางการ

จากนั้นมาเป็นช่วงระยะเวลาสุดท้ายที่ราชสำนักชิงให้การรับรองสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างเป็นทางการ คือระหว่าง พ.ศ. 2314 ถึง พ.ศ. 2325 ช่วงเวลานี้มีการสร้างสัมพันธภาพระหว่างอาณาจักรทั้งสองหลังจากที่ท่าทีคลี่คลายขึ้น

ในระยะเวลานี้ ราชสำนักชิงคงจะเห็นว่ากรุงธนบุรีภายใต้การปกครองของพระเจ้ากรุงธนบุรี มีความเป็นปึกแผ่นแล้ว นอกจากนั้น พระราโชบายในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับราชวงศ์ชิงจะก่อให้เกิดบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อกันด้วย ดังนั้น จักพรรดิเฉียนหลง จึงทรงแสดงออกซึ่งท่าทีที่เปลี่ยนไปอย่างชัดแจ้ง มองการแย่งชิงแผ่นดินแล้วเปลี่ยนราชสกุลเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอ เช่น ราชสกุลเฉิน ม่อ หรือหลีแห่งอาณาจักรอันหนัน (อันนัม หรือเวียดนาม) ก็เปลี่ยนแปลงประมุขอยู่หลายครั้ง ไม่ได้เกิดขึ้นแก่สยามแต่เพียงแห่งเดียว

นอกจากนั้น เมื่อครั้งโจรพม่าตีสยามแตก ผี่เอียซิน (พระยาสิน) ทำการโดยมุ่งหมายตอบโต้เป็นสำคัญ แต่โอกาสอำนวยให้บังเกิดประโยชน์ ร่องรอยการทรยศแย่งชิงบัลลังก์ก็ไม่ประจักษ์ชัดเจน

ส่วนความเป็นมาแห่งการผลัดแผ่นดินแล้วสถาปนาตั้งตนเป็นกษัตริย์นั้นก็ไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดในฐานุศักดิ์ไม่ จึงไม่สมควรที่จะก้าวก่าย ผี่เอียซิน (พระยาสิน) เพิ่งแรกตั้งมีฐานโดดเดี่ยวบอบบาง จึงมุ่งหมายขอพึ่งพิงอาศัย หากอาณาจักรจีนเมินเฉยและปฏิเสธการยอมรับ ฝ่ายนั้น (พระยาตาก) อาจประหวั่นพรั่นพรึงแล้วหันกลับไปพักพิงอ่อนน้อมต่อโจรพม่า ดังนี้จะไม่ใช่วิเทโศบายอันพึงปราถนา

ฉะนั้นจึงมีกระแสรับสั่งแก่หลี่ซื่อเหยาว่า

“ภายหน้าหากทางผี่เอแยซิน (พระยาสิน) ไม่มีผู้ใดมาอีกก็แล้วไป แต่ถ้าส่งทูตมาอีกเพื่อขอพระราชทานแต่งตั้ง และประสงค์จะมีสัมพันธภาพทางราชบรรณาการ ก็อย่าได้ยืนกรานปฏิเสธเช่นกาลก่อน ให้พิจารณาถึงว่าหากเป็นความจริงที่มาอย่างจริงใจ ก็ให้กราบบังคมทูล เพื่อจะได้พระราชทานแต่งตั้ง”

หลังจาก พ.ศ. 2315 เป็นต้นไป เอกสารราชการของราชสำนักชิงเปลี่ยนการกล่าวอ้างพระนามของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ไม่ได้เรียกขานว่า “หัวหน้าเผ่าชนอาณาจักรสยาม” หรือ “พระยาสิน” หรือ “กันเอินซื่อ” แต่เรียกขานว่า “เจิ้งเจา” ซึ่งหมายถึง “กษัตริย์เจิ้ง” หรือ “แต้อ๋อง”

และยังขายยุทธปัจจัยแก่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทั้งที่เป็นสิ่งของต้องห้ามนำออก ถึง 2 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2319 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงส่งขุนนางมาซื้อกำมะถัน 50 หาบและกะทะเหล็ก 500 ใบ และปี พ.ศ. 2320 ซื้อกำมะถัน 100 หาบ

ปี พ.ศ. 2320 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงจัดส่งคณะทูตไปถึงกวางตุ้งโดยแต่งพระราชสาสน์ถึงราชสำนักชิง และแจ้งเป็นทางการว่า มีพระประสงค์สถาปนาความสัมพันธ์กับราชวงศ์ชิงอย่างเป็นทางการ ปรากฎว่า ราชสำนักชิงได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนและเปิดเผยว่า “อนุญาตให้ดำเนินการได้” อันเป็นเหตุให้ต่อมา เมื่อพ.ศ. 2324 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงจัดส่งคณะทูตคณะใหญ่ โดยมีพระยาสุนทรอภัยเป็นราชทูตไปเมืองจีน คณะทูตนี้โดยสารเรือถึง 11 ลำ บรรทุกงาช้าง นอแรด ฝาง และเริ่มเดินทางเดือน 5 ถึงกวางตุ้งเดือน 7

นอกจากนั้น ในสำนวนเอกสารราชการของราชสำนักชิงปรากฎว่า ก่อนที่คณะทูตจากกรุงธนบุรีจะเดินทางไปถึง ได้มีเรือบรรทุกเครื่องราชบรรณาการจำนวน 2 ลำ ไปถึงอำเภอหนานไฮ่ (ปัจจุบันคือเมืองกวางเจา – ผู้แปล) มณฑลกวางตุ้งเมื่อเดือน 2 โดยนำพระราชสาสน์มา 2 ฉบับ

พระราชสาสน์ฉบับหนึ่งกราบทูลว่า ได้จัดส่งทูตมาถวายเครื่องราชบรรณาการ ซึ่งมีช้างพลายและช้างพังอย่างละหนึ่งเชือกและสินค้าพื้นเมือง จึงขอให้ช่วยกราบบังคมทูลแทนเพื่อทรงทราบ ถ้อยคำสำนวนในพระราชสาสน์มีความอ่อนน้อมดูจะจริงใจอยู่ไม่น้อย แต่ท้ายพระราชสาสน์กราบทูลว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“แผ่นดินสยามเพิ่งจะสงบราบคาบ ท้องพระคลังร่อยหรอ การจะสร้างพระนครขึ้นใหม่จึงขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่มีสินค้าพื้นเมือง ประสงค์จะปล่อยเรือบรรทุกไปขาย ณ เมืองเซี่ยเหมิน (เอ้มุย หรือ..ผู้แปล) หนิงปอ (เลียงโผ หรือ เล่งปอ – ผู้แปล) จึงขอได้โปรดออกใบอนุญาตด้วย

นอกจากนั้น ขอพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าให้นายห้างพาณิชย์ ช่วยจ้างต้นหนแล่นเรือไปค้าขายที่ญี่ปุ่น ฯลฯ และพระราชสาสน์อีกฉบับหนึ่งกราบทูลว่าเรือที่บรรทุกสิ่งของเครื่องบรรณาการ มี 4 ลำ เรือสินค้า 7 ลำ นอกจากนั้น ได้นำฝางและงาช้าง เป็นสิ่งของนอกบรรณาการ ขอได้โปรดกราบทูลถวายให้ด้วย

อนึ่ง ยังมีฝางและไม้แดง ซึ่งขอมอบให้กระทรวงพิธีการและสำนักข้าหลวงรวมทั้งของขวัญที่มอบให้นายห้างพาณิชย์ด้วย ขอได้มีพระบรมราชานุญาตให้นำสินค้านอกจากนั้นขายไปเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคณะทูต นอกจากนั้น ยังได้กล่าวถึงว่าขอซื้อถาดทองแดง เตาทองแดง และขอปล่อยเรือเปล่ากลับไปก่อนด้วย”

หลังจากนั้น ราชทูตของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้นำพระราชสาสน์ไปถวายจักรพรรดิเฉียนหลง เมื่อราชสำนักชิงได้รับพระราชสาสน์แล้ว จักรพรรดิเฉียนหลงมีกระแสรับสั่งแก่ปาเอี๋ยนซัน ข้าหลวงมณฑลกวางตุ้งกว่างซีว่า

“สิ่งของนอกบรรณาการให้รับไว้เฉพาะงาช้างกับนอแรดรวมสองชนิด และให้นำส่งกระทรวงพิธีการพร้อมสิ่งของบรรณาการ นอกจากพระราชทานสิ่งของตามธรรมเนียมแล้วให้เพิ่มสิ่งของรางวัลเป็นพิเศษ เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ที่ประสงค์ให้การรับให้มีจำนวนน้อยกว่าการให้บรรณาการนอกจากนั้นอนุญาตให้ขายที่กวางตุ้งตามอำเภอใจ สิ่งของเหล่านั้นรวมทั้งอับเฉาเรือให้ยกเว้นการเรียกเก็บภาษีทั้งหมด”

ผู้เขียนบทความระบุว่า คณะทูตจากสยามเดินทางถึงปักกิ่ง เมื่อเดือนอ้ายของปีรุ่งขึ้นภายใต้การดูแลคุ้มครองของขุนนางกวางตุ้ง จักรพรรดิเฉียนหลงได้จัดงานเลี้ยงรับรองคณะทูตที่ห้องซันเกาสุ่ยฉาง ครั้นถึงเดือนสาม พระยาสุนทรอภัยราชทูตได้ถึงแก่กรรมอย่างปัจจุบันทันด่วนที่กรุงปักกิ่ง ราชสำนักชิงได้เป็นเจ้าภาพงานศพ ต่อมาหลวงพิชัยเสน่หาอุปทูตได้นำคณะทูตกลับเมืองไทย เมื่อเดือน 7 หลังจากที่ได้กระทำหน้าที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว

เมื่อคณะทูตกลับถึงเมืองไทย ปรากฎว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ถูกสำเร็จโทษแล้ว แผ่นดินได้เปลี่ยนจากกรุงธนบุรี เป็นกรุงรัตนโกสินทร์ วัสดุและอุปกรณ์การก่อสร้างที่ซื้อกลับมา จึงได้ใช้ในการสร้างพระราชวังแห่งใหม่

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “พระเจ้าตาก” ทรงแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยการค้าสำเภาจีน กำไรมากถึงร้อยละร้อย!


อ้างอิง:

ต้วนลีเซิง. “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับจักรพรรดิจีน”. แปลโดย ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 พฤศจิกายน 2528.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ