ถกเรื่อง “เปี๊ยะ” พิณโบราณ-เครื่องดนตรีหายาก ผู้หญิงเล่นไม่ได้จริงหรือ?

ภาพปูนปั้นนักดนตรีหญิง 5 คน เป็นภาพเล่าเรื่องชาดกประดับรอบฐานเจดีย์ พบที่คูบัว จังหวัดราชบุรี

พิณ เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย ทำให้เกิดเสียงได้โดยการดีดสายให้สั่นสะเทือน ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ คือ กีตาร์ที่วัยรุ่นนิยมเล่นก็จัดอยู่ในเครื่องดนตรีตระกูลเดียวกับพิณ มีรูปร่างและวิธีการเล่นที่คล้ายๆ กัน ซึ่งประเทศไทยเรามีเครื่องดนตรีตระกูลพิณอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น กระจับปี่ ของภาคกลาง ซึง ของภาคเหนือ พิณ ของภาคอีสาน เป็นต้น

ทั้ง ๓ ชนิดที่กล่าวมาล้วนมีขนาด รูปร่าง และวิธีเล่นที่คล้ายคลึงกันมาก ซึ่งพอจะหัดเล่นกันได้ไม่ยากนัก และพอพบเห็นได้ทั่วไปในภาคต่างๆ (ยกเว้นกระจับปี่ ซึ่งหาคนเล่นได้น้อย)

ปัจจุบันมีคนสนใจฝึกหัดเล่นเครื่องดนตรีไทยกันมากทั้งหญิงและชาย แต่มีพิณอยู่ชนิดหนึ่งที่คนเล่นได้น้อยจนเกือบจะสูญหายไปจากประเทศไทยแล้ว และมักคิดว่าเล่นได้เฉพาะผู้ชาย คือพิณเปี๊ยะ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีโบราณที่มีอายุเก่าแก่มาก (เป็นตระกูลเดียวกับพิณน้ำเต้า ซึ่งเป็นพิณสายเดียวที่นิยมใช้เล่นประกอบพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์แต่โบราณ ซึ่งปัจจุบันอาจจะหาดูไม่ได้แล้ว)

ท่าดีดพิณเปี๊ยะ ๔ สายของผู้ชาย โดยพ่อบุญมา ไชยมะโน จังหวัดลำปาง

ชายหนุ่มในล้านนา (ภาคเหนือตอนบน) แต่โบราณนิยมใช้เครื่องดนตรีเป็นเครื่องมือประกอบการแอ่วสาว (จีบสาว) ในตอนกลางคืน โดยเฉพาะ “เปี๊ยะ” หากใครเล่นได้ก็จะเป็นที่ชื่นชอบของสาวน้อยสาวใหญ่กว่าคนที่เล่นเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ เพราะมีเสียงที่ไพเราะมากและมีความใสกังวานคล้ายเสียงเด่งปีนเมา (กระดิ่งที่มีเสียงน่าหลงใหล) ประกอบกับมีคนเล่นได้น้อย เพราะเล่นได้ยากมากและหาเครื่องดนตรีมาหัดเล่นได้ยากเช่นกัน ดังนั้นคนที่เล่นเปี๊ยะได้จึงถือว่าเป็นคนเก่งและมีความเพียรมากคนหนึ่ง

วิธีการเล่นเปี๊ยะนั้นก็แปลกกว่าพิณชนิดอื่นๆ คือต้องแนบกล่องเสียงไว้บนหน้าอกของผู้เล่นพร้อมกับการเปิดปิดกล่องเสียงให้มีเสียงกังวานโดยใช้ผิวหนังที่มีเนื้อบริเวณหน้าอกเป็นส่วนสะท้อนและควบคุมขนาดของช่องเสียง ดังนั้นคนส่วนมากจึงมักเข้าใจว่า “พิณเปี๊ยะผู้หญิงเล่นไม่ได้” ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ

1. ผู้หญิงมีหน้าอกนูนกว่าผู้ชาย

2. ผู้เล่นพิณเปี๊ยะต้องเปลือยอกเวลาเล่น ซึ่งผู้หญิงคงไม่เหมาะสม

3. แต่ก่อนมายังไม่เคยเห็นผู้หญิงเล่นพิณเปี๊ยะ

(ซ้าย) เปี๊ยะ ๔ สาย, (ขวา) เปี๊ยะ ๓ สาย

เหตุผลทั้ง 3 ข้อนี้ ฟังดูก็มีความน่าเชื่อถืออยู่มาก หากไม่พิจารณาหรือมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องดนตรีชนิดนี้ดีพอ ดังที่เคยมีการให้สัมภาษณ์จากผู้รู้บางท่านที่ยังเข้าใจผิดอยู่ ซึ่งความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

ก่อนอื่นผมขอแก้ความเข้าใจผิดพื้นฐาน 3 ข้อ ดังที่ยกมาแล้วข้างต้นก่อนดังนี้

1. ผู้หญิงมีหน้าอกนูนกว่าผู้ชาย ทำให้ไม่สามารถแนบกล่องเสียงลงบนหน้าอกได้ หากได้เสียงคงไม่ดังกังวานเช่นผู้ชาย เพราะกล่องเสียงของพิณเปี๊ยะต้องอาศัยผิวหนังที่กว้างและมีความยืดหยุ่นในการสะท้อนและควบคุมขนาดของช่องเสียง แต่ผิวหนังบริเวณหน้าท้องของผู้หญิงก็มีคุณสมบัติใกล้เคียงที่สามารถนำมาใช้แทนได้ และตำแหน่งการวางกล่องเสียงก็ไม่ต่างจากเดิมมากนัก ซึ่งยังคงให้ความคล่องตัวในการเล่นใกล้เคียงแบบเดิม

2. ผู้เล่นพิณเปี๊ยะต้องเปลือยอกเวลาเล่น ซึ่งผู้หญิงคงไม่เหมาะสม แต่คนโบราณโดยส่วนมากไม่นิยมใส่เสื้อจะมีก็เพียงผ้าพาดบ่า โดยเฉพาะผู้หญิงในล้านนาสมัยก่อนการเปลือยอกเดินไปไหนมาไหนเป็นเรื่องปกติ ดังจะหาดูได้จากภาพถ่ายเก่าๆ เช่น ในหนังสือล้านนาในอดีต เล่ม 1 ที่คุณบุญเสริม สาตราภัย เคยรวบรวมไว้

3. แต่ก่อนมายังไม่เคยเห็นผู้หญิงเล่นพิณเปี๊ยะ แต่สิ่งที่ไม่เคยเห็นนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีเสมอไป เพราะอายุของคนเรานั้นมักไม่เกิน 100 ปี แต่เครื่องดนตรีชนิดนี้มีใช้กันในล้านนามากกว่า 500 ปีแล้ว ครั้นจะบอกว่าในช่วงอายุของตนนั้นไม่เคยเห็นจึงคิดว่าไม่มี ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร โดยเฉพาะพิณในตระกูลเดียวกับพิณเปี๊ยะนั้นคนในแหล่งอารยธรรมโบราณเกือบทั่วโลกรู้จักใช้กันมากกว่า 3,000 ปีแล้ว

หัวเปี๊ยะ
วีธีการดีดพิณเปี๊ยะ

หลักฐานที่พอยืนยันให้เห็นว่าผู้หญิงแต่เดิมนั้นสามารถเล่นพิณเปี๊ยะได้เช่นเดียวกับผู้ชายมีดังต่อไปนี้

หลักฐานชิ้นแรก จากบทความที่คุณไมเคิล ไรท์ ได้แปลมาจากหนังสือ Siva Temple and Temple Rituals (Madras, 1988) และลงตีพิมพ์ในหนังสือศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 12 ฉบับที่ 12 โดยกล่าวถึงพระราชพิธีกับเทวพิธีของฮินดูที่รูปเคารพในเทวสถานต้องมีนางเทพทาสีคอยดูแลปรนนิบัติ และทำหน้าที่ประโคมดนตรีให้เทวรูปฟังเยี่ยงพระมหากษัตริย์ โดยแบ่งหน้าที่นักดนตรีหญิงและชายออกจากกัน คือนักดนตรีหญิงจะให้ประโคมดนตรีประเภทสาย พวกพิณต่างๆ ในเขตเทวาลัยในลักษณะขับกล่อม ส่วนนักดนตรีชายจะให้ประโคมดนตรีประเภทเครื่องตีและเป่าที่ต้องการเสียงดังมากๆ ใช้ในการแห่เทวรูปหรืองานเฉลิมฉลองเทวสถาน

หลักฐานนี้อาจยังไม่ชัดเจนพอ แต่ก็บอกได้ว่าศาสนาฮินดูใช้ผู้หญิงดีดพิณขับกล่อมเทวรูปในศาสนพิธี ซึ่งไทยได้รับรูปแบบเหล่านี้มาใช้ในราชสำนักเช่นกัน

หลักฐานชิ้นที่ 2 จากการสัมภาษณ์ท่านเจ้าคุณพระเจติยารักษ์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2535 ความว่า

ได้ไปสวดอภิธรรมงานศพของเจ้าหลวงจักรคำ ซึ่งตอนนั้นตัวท่านเองยังเป็นเณรอยู่ (ปัจจุบันหลวงพ่อบวชเป็นพระมาได้ 40 พรรษาแล้ว) ได้ยินเสียงเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง เสียงสั้น “เสียงป๊อก” แต่ไม่ใช่เสียงสะล้อ หรือเสียงซึง เสียงแปลกๆ ไม่เห็นตัวผู้เล่น ไม่เห็นเครื่องดนตรี ได้แต่ถามว่าเสียงอะไร เขาบอกว่า “เปี๊ยะ ผู้หญิงเล่น” เข้าใจว่าเป็นนางสนมของพระเจ้าหลวง เพราะเจ้าหลวงมีวงดนตรีเองอยู่ในคุ้ม นักดนตรีเป็นผู้หญิงทั้งหมด

หลักฐานที่กล่าวมาแล้วทั้ง 2 ชิ้นนี้ พอจะสรุปให้เห็นได้แล้วว่าผู้หญิงนั้นเล่นพิณเปี๊ยะได้ แต่จะใช้บรรเลงขับกล่อมเฉพาะเจ้านายในคุ้มในวังแต่เดิมเท่านั้น คนทั่วไปจึงไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นได้ยินกันมากนัก

หลักฐานชิ้นที่ 3 เป็นภาพปูนปั้นรูปนักดนตรีหญิง 5 คน เป็นส่วนหนึ่งของภาพเล่าเรื่องชาดกประดับรอบฐานเจดีย์ พบที่คูบัว จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันถูกเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ

เรียงจากซ้ายไปขวา

คนที่ 1 เคาะไม้ หรือกรับ

คนที่ 2 ขับร้อง

คนที่ 3 ดีดพิณ 5 สาย (เหมือนปี่แป๊ของจีน)

คนที่ 4 ตีฉิ่ง หรือแฉ

คนที่ 5 ดีดพิณน้ำเต้า หรือพิณเปี๊ยะ

ท่าดีดพิณน้ำเต้าของหญิง ภาพปูนปั้น เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี

เนื่องจากปูนปั้นชิ้นนี้สร้างขึ้นในยุคศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12-13 โดยประมาณ ดังนั้นจึงสึกกร่อนไปตามกาลเวลา ทำให้เห็นรายละเอียดต่างๆ ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้นในนักวิชาการบางท่านเกี่ยวกับภาพปูนปั้นนักดนตรีคนที่ 5 นี้ว่า เล่นเครื่องดนตรีอะไรกันแน่ คนที่ศึกษาเครื่องดีดก็ว่าเป็นพิณน้ำเต้า ส่วนคนที่ศึกษาเรื่องเครื่องเป่าก็ว่าเป็นปี่บ้างเป็นขลุ่ยบ้าง ดังนั้นจึงขอชี้แจงแยกแยะให้เห็นแถมท้ายไว้ดังนี้

ประการแรก เมื่อดูจากลักษณะการแต่งตัวของนักดนตรีทั้ง 5 คน จะเห็นได้ว่า 4 คนแรกจะใช้ผ้า (สไบ) พาดบ่าปิดหน้าอกแบบง่ายๆ ห้อยชายผ้าสลับหน้าหลัง แต่คนที่ 5 ซึ่งดีดพิณน้ำเต้านั้น จะใช้ผ้าปิดหน้าอก (รัดอก) ค่อนข้างแน่น แล้วพาดชายผ้าผ่านไหล่มาข้างหน้าทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้หน้าอกกระชับ สามารถครอบกล่องเสียงของพิณไว้ที่หน้าท้องได้อย่างสะดวก หากเป็นเครื่องเป่าดังที่บางท่านเข้าใจ เหตุใดจึงต้องรัดหน้าอกให้กระชับต่างจาก 4 คนแรกด้วย ทั้งที่เครื่องเป่าควรจะปล่อยหน้าอกให้สบายเพื่อปอดจะได้ขยาย เป่าลมได้เต็มที่

ประการที่ 2 เทคนิคการปั้นและฝีมือช่าง หากเทียบฝีมือของช่างที่ปั้นภาพนี้กับภาพปูนปั้นอื่นๆ ในสมัยเดียวกัน จะเห็นได้ชัดว่าฝีมือของช่างที่ปั้นนี้ยังไม่ดีนัก ความละเอียดสัดส่วนต่างๆ ยังไม่ค่อยถูกต้องจึงแลดูด้ามพิณมีขนาดใหญ่ ประกอบกับเทคนิคการปั้นปูน หากต้องปั้นชิ้นงานที่เป็นท่อนยาวอย่างด้ามพิณน้ำเต้าให้ลอยอยู่ที่หน้าอกของนักดนตรีดังในรูปจะต้องมีไส้ หรือแกนเพื่อรักษารูปทรงของปูนปั้นนั้นไว้ ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่าช่างที่ปั้นคงจะเอาไม้มาทำแกนข้างใน ครั้นกาลเวลาล่วงไปไม้ก็ผุ ปูนบางส่วนกะเทาะออกเป็นช่องดังในภาพ ทำให้บางท่านคิดว่าเป็นช่องสำหรับเป่าของเครื่องเป่าหรือรูสำหรับปิดนิ้วของปี่หรือขลุ่ยไป ประกอบกับด้ามพิณส่วนปลายหักหายไปจึงแลดูสั้นคล้ายเครื่องเป่า

ประการที่ 3 ท่าทางและวิธีการใช้เครื่องดนตรีที่ปรากฏในภาพปูนปั้น เป็นลักษณะของการเล่นพิณน้ำเต้าหรือพิณเปี๊ยะอย่างชัดเจน เพราะผู้เล่นครอบกล่องเสียงที่มีลักษณะครึ่งวงกลมไว้ที่หน้าท้อง มือขวาถือด้ามพิณไว้บริเวณรัดอกของพิณ (เชือกที่รัดสายให้ติดกับคันทวนและกล่องเสียง) มือซ้ายใช้นิ้วโป้งประคองคันพิณไว้ ใช้นิ้วชี้แตะสายที่จุด harmonic และใช้นิ้วกลางดีดให้เกิดเสียง “ป๊อก” แบบพิณเปี๊ยะ ซึ่งท่าทางและวิธีการดีดยืนยันได้อย่างแน่นอน และสามารถนำท่านี้มาใช้บรรเลงพิณน้ำเต้าหรือพิณเปี๊ยะได้จริง โดยเฉพาะพิณเปี๊ยะที่มีสายมากๆ เช่น 3-7 สายนั้นจะใช้ดีดได้ง่ายมาก เพราะสายหนึ่งมี 2 เสียง จึงเล่นได้ง่ายขึ้น แม้ท่าดีดเปี๊ยะลักษณะนี้จะต่างจากท่าดีดเปี๊ยะในปัจจุบันก็ตาม แต่ก็เคยพบในรูปภาพเก่าๆ และคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในจังหวัดเชียงราย และชาวเขาบางเผ่าว่าเล่นเปี๊ยะในลักษณะท่าทางเช่นนี้ด้วย

ด้วยเหตุผลและหลักฐานดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ทำให้เราทราบว่าในอดีตไม่ใช่แต่ผู้ชายเท่านั้นที่สามารถเล่นพิณเปี๊ยะได้ ผู้หญิงก็สามารถเล่นพิณเปี๊ยะได้เช่นกัน แต่อาจจะมีความคล่องตัวน้อยกว่าผู้ชายเล็กน้อย เพราะการดีดสายพิณของผู้หญิงนั้นจะต้องดีดในลักษณะเลื่อนมือเข้าออกขนานกับพื้น เพราะครอบกล่องเสียงไว้ที่หน้าท้อง แต่การดีดพิณของผู้ชายจะดีดในลักษณะไหล (เลื่อน) มือขึ้นลงตามแนวทแยง เพราะครอบกล่องเสียงไว้บนหน้าอก

สำหรับท่านสุภาพสตรีที่จะหัดดีดพิณเปี๊ยะนั้น อาจต้องพิถีพิถันกับชุดหรือเสื้อที่ใช้ใส่เวลาดีดพิณเปี๊ยะซักหน่อย เพราะต้องโชว์ผิวหนังส่วนหน้าท้องพอสมควร หากมีความมั่นใจในตัวเองก็คงไม่มีปัญหา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน 2560