๑๐๐ ปี ประตูเจ้าพระยายมราชและท่านผู้หญิง ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

๑ เสาประตูโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ติดกับถนนพระรามที่ ๔ เข้าใจว่า คงเป็นดา้ นทางออกมีแผ่นป้ายจารึกนามผู้สร้าง, ๒ แผ่นป้ายจารึกนามท่านผู้หญิงตลับ ภรรยาเจ้าพระยายมราช สร้างประตูนี้ให้แก่โรงพยาบาลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘, ๓ เจ้าพระยายมราช และท่านผู้หญิง พร้อมด้วยบุตรธิดาถ่ายภาพร่วมกัน

ไม่นานมานี้เองที่ผู้เขียนได้มีโอกาสพาคุณแม่ไปตรวจสุขภาพยังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยผู้เขียนก็ได้ถือโอกาสนี้เดินชมสิ่งปลูกสร้างอันถือว่ามีความเก่าแก่ยาวนานมีคุณค่าทั้งทางด้านสถาปัตยกรรมและทางกุศลบุญจากการสร้างตึกอาคารภายในโรงพยาบาลเมื่อครั้งอดีต ที่ร่วมแรงร่วมใจกันทั้งเจ้านายและขุนนางเพื่อจะยังประโยชน์เป็นสาธารณคุณแก่ประชาชน อันเป็นหลักใหญ่ใจความของการจัดตั้งสภากาชาดอย่างแท้จริง

ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ประกอบไปด้วยหมู่อาคารมากมายและแมกไม้อันร่มรื่นบางอาคารก็มีความเก่าแก่ สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญในด้านการรับอิทธิพลตะวันตกมาในทางสถาปัตยกรรมอย่างโดดเด่น เท่าที่แลเห็นในปัจจุบันทางโรงพยาบาลก็ได้พยายามบูรณะซ่อมแซมอยู่ไม่ได้ขาด เพียงแต่บางอาคารก็ออกจะทรุดโทรมไปมากตามกาลเวลาเกือบและกว่าศตวรรษ และหนึ่งในสิ่งปลูกสร้างอันควรชมภายในโรงพยาบาลแห่งนี้ และดูออกจะถูกทอดทิ้งละเลยไปเสียบ้างก็คงไม่พ้นรั้วประตูของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และท่านผู้หญิงตลับภรรยาของท่านเจ้าพระยา ซึ่งเวลานั้นท่านเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ สภากาชาดสยาม และได้ร่วมกันอุทิศสร้างขึ้นเป็นประโยชน์ต่อโรงพยาบาล ดังปรากฏว่าท่านทั้งสองได้ร่วมกันบริจาคเงินเป็นจำนวน ๒,๑๐๐ บาท เพื่อสร้างรั้วและประตูทางเข้าออกบริเวณหน้าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ปัจจุบันติดกับถนนพระรามที่ ๔

ตัวประตูมีลักษณะเสาก่ออิฐสี่เหลี่ยม ตรงกลางมีป้ายจารึกว่า “ประตูนี้ ท่านผู้หญิงตลับ ภรรยาเจ้าพระยายมราช สร้างให้แก่โรงพยาบาล เมื่อพระพุทธศักราช ๒๔๕๘” ส่วนอีกประตูหนึ่งจารึกนามของท่านเจ้าพระยาไว้ ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่า ของท่านเจ้าพระยาเองคงจะเป็นทางเข้าและของท่านผู้หญิงจะเป็นทางออกตัวเสานี้มีการย่อมุมหลั่นกันไปตามการออกแบบของยุคนั้น จรดจนยอดเสามีปูนปั้นประดับพระนามย่อของพระพุทธเจ้าหลวง “จปร” อยู่กลางวงกลม เหนือไปอีกเป็นพวงมาลาคล้องประดับลงมาอย่างงดงาม และมีโคมไฟอยู่เป็นยอดหัวเสา ตัวเสาประตูเชื่อมกันด้วยรั้วเหล็กดัดเนื่องกันไปทั้งสองประตูเข้าออก

ผู้เขียนอนุมานเอาว่ารั้วประตูนี้จะสร้างขึ้นด้วยประโยชน์ ๒ ประการด้วยกัน คือ เพื่อสาธารณประโยชน์แก่ผู้มารับบริการโรงพยาบาลประการหนึ่ง และเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศล อนุสรณ์ถึงพระเดชพระคุณในพระพุทธเจ้าหลวงที่มีต่อตัวท่านเจ้าพระยาและครอบครัว ได้ทรงอุตส่าห์ชุบเลี้ยงให้มีความสุขความเจริญในงานการหน้าที่จนตลอดรัชกาลก็เป็นที่สมควรจะแสดงกตัญญูแก่พระเจ้าแผ่นดินอยู่อีกประการหนึ่ง

มิใช่เรื่องง่ายเลยที่จะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดคงทนข้ามกาลเวลามาเจียนจะครบ ๑ ศตวรรษ อุปมาดังคนเราจะดำรงตนมาจนวาระดังนี้ย่อมผ่านอะไรมาไม่น้อย มีทั้งทุกข์และสุขมาตลอดระยะแห่งช่วงวัย รั้วประตูของท่านเจ้าพระยาและท่านผู้หญิงนี้ก็เช่นกันในโอกาสที่จะครบ ๑๐๐ ปี ในศกนี้คือ พุทธศักราช ๒๕๕๘ ก็สมควรอยู่เองที่จะมีความยินดี และบูรณะให้เป็นสมบัติอันมีค่าและควรค่าต่อการดูแลศึกษาสืบไปข้างหน้า ผู้เขียนเองมีความหวังอยู่ประการหนึ่งที่อยากจะเห็นสิ่งก่อสร้างเหล่านี้เป็นเหมือนห้องเรียนภายนอกของคนรุ่นหลัง ที่จะแลเห็นความเป็นมาและเป็นไปจากอดีตจนปัจจุบัน เพราะส่วนมากสิ่งก่อสร้างเหล่านี้มักจะถูกทดแทนด้วยของใหม่ที่ปราศจากความตระหนักค่า ทั้งจงใจหรือหลงลืมไปก็มี ที่น่าเศร้าก็คือบางแห่งถูกรื้อทิ้งโดยแม้แต่ภาพถ่ายเค้าร่างก็ไม่มีเหลือไว้ให้ศึกษา คงไว้เพียงการจดบันทึกที่บอกอะไรเราไม่ได้มาก

อย่างไรเสีย ผู้เขียนเองมีความรู้สึกอยู่เสมอว่าพูดไปก็ไม่เท่าไปดูให้เห็น และไปดูแล้วไม่ศึกษาเพิ่มพูนความรู้แก่ตัวเองนั้นก็ยิ่งน่าเสียดายพิพิธภัณฑ์ที่ยังมีลมหายใจ มีผู้คน มีสิ่งของ มีการใช้งานนี้เองจึงจะเป็นการยั่งยืน สร้างสำนึกร่วมกันที่จะเข้าใจและรักษาเอาไว้ ไม่ใช่คลั่งอย่างไม่ลืมหูตาดูอะไร

จึงอยากฝากมายังผู้ที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องได้ไปแลเห็นความสำคัญในส่วนนี้ หรือถ้ามีนโยบายอยู่แล้วนั้นย่อมสร้างความปีติยินดีแก่ผู้เขียนได้มากทีเดียว