ผู้เชี่ยวชาญอ้าง “อีฟ” ถูกสร้างจาก “กระดูกองคชาติของอดัม” ไม่ใช่กระดูกซี่โครง (?!!)

อดัมกับอีฟ ขณะอีฟรับผลไม้จากงูที่ถูกวาดในคราบของอมนุษย์ครึ่งคนครึ่งงู (ภาพโดย Peter Paul Rubens ศิลปินมีชื่อในยุคศตวรรษที่ 17)

แต่ไหนแต่ไรมาใครๆ ที่พอจะคุ้นเคยกับตำนานการกำเนิดมนุษย์คู่แรกตามพระคัมภีร์เก่า ก็น่าจะจำได้ว่า พระเจ้าทรงสร้างผู้หญิงขึ้นมาจากกระดูกซี่โครงของอดัม มนุษย์คนแรกที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น ดังความตามหนังสือปฐมกาลบทที่ 2 ตอนหนึ่งที่ระบุว่า

“พระเจ้าตรัสว่า ‘ไม่ควรที่ชายผู้นี้จะอยู่คนเดียว เราจะสร้างคู่อุปถัมภ์ที่สมกับเขาขึ้น’ พระเจ้าจึงทรงปั้นบรรดาสัตว์ในท้องทุ่งและนกในท้องฟ้าให้เกิดขึ้นจากดิน แล้วทรงนำมายังชายนั้น เพื่อดูว่า เขาจะเรียกชื่อมันว่าอะไร ชายนั้นตั้งชื่อสัตว์ทั้งปวงที่มีชีวิตว่าอย่างไร สัตว์นั้นก็มีชื่ออย่างนั้น ชายนั้นจึงตั้งชื่อบรรดาสัตว์ใช้งานและนกในอากาศและบรรดาสัตว์ป่า แต่ชายนั้นยังหามีคู่อุปถัมภ์ที่สมกับตนไม่ แล้วพระเจ้าจึงทรงกระทำให้ชายนั้นหลับสนิท ขณะที่เขาหลับสนิทอยู่ พระองค์ทรงชักกระดูกซี่โครงอันหนึ่งของเขาออกมา แล้วทำให้เนื้อติดกันเข้าแทนกระดูกอย่างเดิม ส่วนกระดูกซี่โครงที่พระเจ้าได้ทรงชักออกจากชายนั้น พระองค์ทรงสร้างให้เป็นหญิง แล้วทรงนำมาให้ชายนั้น

ชายจึงว่า

‘นี่แหละ กระดูกจากกระดูกของเรา

เนื้อจากเนื้อของเรา

จะต้องเรียกว่าหญิง

เพราะหญิงนี้ออกมาจากชาย’” (ปฐมกาล 2:18-23)

แต่นักวิชาการท่านหนึ่งออกมาบอกว่า ผิดแล้วท่านทั้งหลาย “อีฟ” ผู้หญิงคนแรกตามพระคัมภีร์โทราห์นั้น แท้จริงหาได้ทำมาจากกระดูกซี่โครงของอดัมไม่ แต่พระเจ้าทรงสร้างอีฟขึ้นมาจาก “กระดูกองคชาติ” ของอดัมต่างหาก ด้วยเหตุนี้เอง องคชาติของมนุษย์เพศชายทั้งหลายซึ่งสืบสายเลือดมาจาก อดัม จึงเป็นก้อนเนื้อที่ปราศจากกระดูกแกนกลาง (เหมือนจะสมเหตุสมผล?)

นักวิชาการท่านนี้มีชื่อว่า ไซออนี เซวิต (Ziony Zevit) ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพระคัมภีร์ไบเบิลและภาษาฮิบรูโบราณแห่งมหาวิทยาลัยยิวแห่งอเมริกา (American Jewish University) ซึ่งได้เขียนข้อโต้แย้งไว้ในหนังสือที่ชื่อ เกิดอะไรขึ้นกันแน่ในสวนแห่งอีเดน?” (What Really Happened in the Garden of Eden?) โดย เซวิต อ้างว่า ความเชื่อเดิมที่ว่า อีฟเกิดจากกระดูกซี่โครงของอดัม แท้จริงป็นผลมาจากการ “แปล” ความที่ผิดพลาด จากการแปลคัมภีร์โทราห์เป็นภาษากรีกในช่วงกลางศตวรรษที่ 3

เซวิตกล่าวว่า “tsela” ซึ่งปรากฏในโทราห์ 40 ครั้งส่วนใหญ่มีความหมายว่าสิ่งที่อยู่ด้านข้างของโครงสร้างหลัก แต่กลับมีเพียงครั้งเดียวที่คำนี้ถูกแปลว่ากระดูกซี่โครง

เซวิตเชื่อว่า คำๆ นี้เป็นคำเรียกอวัยวะที่มิได้มีความจำเพาะเจาะจง มันถูกใช้เพื่ออ้างถึงอวัยวะที่ยื่นออกจากร่างกายและวางตัวในแนวดิ่งเช่น มือ หรือเท้า รวมไปถึงองคชาติในเพศชาย

และด้วยเหตุที่องคชาติของมนุษย์ไม่มีกระดูกทั้งๆ ที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ มี! (ใช่แล้ว หลายคนอาจจะไม่รู้ แต่กระดูกองคชาติหรือ “baculum” เป็นกระดูกที่ปรากฏอยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดรวมถึงสัตว์ตระกูลลิง มีไว้เพื่อช่วยรักษาการแข็งตัวในช่วงที่มีการสอดใส่อวัยวเพศเพื่อการผสมพันธุ์) จึงนำไปสู่ข้อสรุปของเซวิตว่า อีฟถูกสร้างขึ้นจากกระดูกองคชาติของอดัม ไม่ใช่กระดูกซี่โครง และการตีความเช่นนี้ยังช่วยขจัดปัญหาที่ว่า หากอีฟถูกสร้างขึ้นจากซี่โครงของอดัมจริง เหตุใดจำนวนซี่โครงของเพศชายจึงไม่ต่างจากเพศหญิงอีกด้วย

อย่างไรดี เอลอน กิลาด (Elon Gilad) บก.และนักเขียนของ Haaretz สื่อดังจากอิสราเอล ระบุว่าความเห็นของเซวิตมีความเป็นไปได้ต่ำเสียยิ่งกว่าการตีความแบบเดิม

กิลาดชี้ว่า ทฤษฎีของเซวิตมีความน่าสนใจ แต่มีความบกพร่องเนื่องจาก พระคัมภีร์ระบุว่า พระเจ้าได้หยิบเอาหนึ่งในอวัยวะของอดัมที่เขามีอยู่หลายอันมาสร้างเป็นอีฟ และการตีความของเซวิตที่อ้างว่า “tsela” มีความหมายรวมถึงอวัยวะที่ยื่นของมาจากร่างกายทั้งมือ เท้าและอวัยวะเพศเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะไม่มีคำลักษณะนี้ปรากฏอยู่ในภาษาใดเลย

อีกข้อโต้แย้งของเซวิตที่ระบุว่า กระดูกซี่โครงมิได้เกี่ยวข้องกับการสร้างชีวิตใหม่ต่างจากอวัยวะเพศก็เป็นการสันนิษฐานที่ไม่เข้าใจบริบทในอารยธรรมโบราณ โดยกิลาดอ้างว่า ในยุคก่อนกำเนิดพระคัมภีร์ ตำนานของชาวสุเมเรียนก็ได้กล่าวถึงเรื่องราวการกำเนิดของชีวิตจากกระดูกซี่โครงเช่นกัน

อีกประเด็นสำคัญที่กิลาดโต้แย้งก็คือ คำว่า “tsela” ยังคงถูกใช้สื่อความหมายถึงกระดูกซี่โครงต่อมาอีกหลายพันปีหลังยุคพระคัมภีร์ และยังเป็นรากศัพท์ของคำว่ากระดูกซี่โครงในกลุ่มภาษาซีมิติก (Semitic Language) อื่นๆ อีกด้วย

เรื่องนี้ใครจะถูกจะผิด (ในการตีความพระคัมภีร์ให้ตรงกับความหมายเดิม) ก็ยากจะรู้ได้แน่แท้เมื่อคนที่รู้ภาษาฮิบรูยังเห็นไม่ตรงกัน ผู้เขียนที่ไม่มีความรู้เรื่องนี้แม้แต่น้อยย่อมไม่อาจเสนอหน้าไปตัดสิน

ส่วนประเด็นที่เหตุใดมนุษย์จึงไม่มีกระดูกองคชาตินั้น หากไม่เอาพื้นฐานความเชื่อทางศาสนามาอธิบาย นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาการวิวัฒนาการของสัตว์เขาบอกว่า กระดูกองคชาติถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสัตว์ที่ต้องประกอบกามกิจเป็นระยะเวลานาน โดยตัวกระดูกจะช่วยทำหน้าที่เป็นเครื่องซับพอร์ตให้สัตว์เพศผู้ร่วมเพศได้เป็นระยะเวลานานๆ ซึ่งถือเป็นแทกติกหนึ่งในการป้องกันไม่ให้ คู่แข่งเพศผู้ตัวอื่นๆ มาแย่งคู่ผสมพันธุ์ของตัวเองได้ (นึกถึงสภาพหมาติดเป้งเป็นตัวอย่าง)

ส่วนสัตว์ที่มีกระดูกองคชาติขนาดเล็กๆ อย่างเช่นลิงชิมแปนซีที่มีขนาดกระดูกราวๆ เล็บมือคน ก็เพราะว่ามันใช้เวลาในการผสมพันธุ์ระยะสั้นๆ ราว “7 วินาที” ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุที่ ตามธรรมชาติลิงชิมแปนซีตัวเมียมักจะผสมพันธุ์กับตัวผู้เกือบทั้งฝูง เพื่อทำให้ตัวผู้ทั้งหลายเข้าใจว่า ลูกที่เกิดมาอาจเป็นลูกของมันเองก็ได้ ลูกอ่อนของตัวเมียจึงเสี่ยงที่จะถูกฆ่าจากตัวผู้ที่แก่กว่าน้อยลง ขณะเดียวกัน การที่ตัวผู้ใช้เวลาในการร่วมเพศน้อยก็เป็นประโยชน์กับตัวเมียเองที่จะต้องปฏิบัติกามกิจกับตัวผู้หลายๆ ตัวได้ โดยใช้เวลาไม่มากนัก

อย่างไรก็ดี การที่มนุษย์ไม่มีกระดูกองคชาติไม่ใช่เพราะเรามีธรรมชาติเหมือนลิงชิมแปนซี (ตัวเมียต้องผสมพันธุ์กับตัวผู้ทั้งฝูง!) ตรงกันข้าม คิต โอปี (Kit Opie) จาก University College London ระบุว่า น่าจะเป็นเพราะพฤติกรรมการจับคู่ของบรรพบุรุษมนุษย์ที่หันมานิยมร่วมเพศกับคู่เดิมเสมอ ซึ่งมีมาตั้งแต่ยุคโฮโมอิเร็กตัส (Homo erectus)

ทำให้เพศชายไม่ต้องกลัวว่าคู่ของตัวเองจะหันไปหาคู่แข่งรายอื่น (มากนักในทางทฤษฎี) กระดูกองคชาติจึงค่อยๆ หมดความสำคัญไปนั่นเอง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“The Adam and Eve Story: Eve Came From Where?”. Bible History Daily. <http://www.biblicalarchaeology.org/daily/biblical-topics/bible-interpretation/the-adam-and-eve-story-eve-came-from-where/>

“Why God Didn’t Use Adam’s Penis Bone to Make Eve”. Haaretz. <http://www.haaretz.com/jewish/features/1.694338>

“Why Don’t Humans Have a Penis Bone? Scientists May Now Know”. The Guardian. <https://www.theguardian.com/science/2016/dec/14/why-dont-humans-have-a-penis-bone-scientists-may-now-know-baculum>


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561