รัชกาลที่ 4 ทรงลองใจเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ว่าจะมักใหญ่ใฝ่สูงหวังเป็นกษัตริย์หรือไม่

รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

รัชกาลที่ 4 ทรงลองใจเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ว่าจะมักใหญ่ใฝ่สูง หวังเป็นกษัตริย์หรือไม่?

“…ผู้คนเกรงท่าน [กรมขุนราชสีหวิกรม] แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็คงจะมีอะไรที่ทรงเกรงอยู่บ้าง ทั้งที่ท่านเป็นที่ใกล้ชิดกับพระองค์ เพราะปรากฏว่าในปลายรัชสมัยได้ตรัสเรียกให้ท่านเข้าไปปฏิญาณพร้อมกับเจ้านายชั้นผู้ใหญ่หน้าพระแก้วมรกตว่าจะไม่แย่งราชบัลลังก์” เรื่องนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงบันทึกไว้ใน พระราชประวัติรัชกาลที่ 5 ก่อนเสวยราชย์ โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเล่าพระราชทาน ดังนี้

ในปีเถาะ พ.ศ. 2410 เมื่อพระราชทานเพลิงพระศพ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เลื่อนกรมเจ้านายเนื่องในเหตุที่พระมหาอุปราชสวรรคตตามราชประเพณีซึ่งเคยมีมา

เจ้านายซึ่งโปรดให้เลื่อนกรมครั้งนั้นมี 5 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา เป็นกรมขุนบำราบปรปักษ์ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวรจักรธรานุภาพ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นราชสีหวิกรม สองพระองค์หลังนี้เป็นกรมขุนคงพระนามเดิม ส่วนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เดิมทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุระสังกาศ) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเปลี่ยนพระนามกรมเป็นกรมขุนพินิตประชานาถ ด้วยทรงพระราชดำริว่ากรมมเหศวรศิววิลาศ กรมวิษณุนาถนิภาธร พระชันษาไม่ยั่งยืน จะเป็นด้วยพระนามพ้องกับนามของพระเป็นเจ้าในไสยศาสตร์ จึงทรงเปลี่ยนพระนามกรมหมื่นพิฆเนศวรสุระสังกาศ เป็นกรมขุนพินิตประชานาถ

เวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้เลื่อนกรมเจ้านายครั้งนั้น เสด็จประทับที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อทรงสั่งแล้วมีพระราชดำรัสให้หาเจ้านายทั้ง 4 พระองค์นั้นเข้าไปเฝ้า ณ ที่รโหฐานตรงหน้าพระพุทธรูป แล้วมีพระราชดำรัสว่าจะทรงปฏิญาณเฉพาะพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฎิมากรว่า เจ้านายซึ่งจะเป็นกรมขุน 4 พระองค์นี้ ถ้าใครได้ครองราชย์สมบัติต่อไปจะไม่ทรงรังเกียจเลย

เจ้านาย 3 พระองค์ ต่างกราบทูลถวายปฏิญาณว่ามิได้ทรงคิดมักใหญ่ใฝ่สูง ตั้งพระหฤทัยแต่จะสนองพระเดชพระคุณช่วยทำนุบำรุงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอให้ได้รับราชสมบัติสืบไป

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม

ครั้งมีสุริยุปราคาหมดดวง กรมขุนราชสีหวิกรม พร้อมด้วยพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินไปเกาะจาน เมื่อเสด็จกลับมาก็ประชวรไข้และสิ้นพระชนม์ก่อนสวรรคตในรัชกาลที่ 4 เพียง 15 วัน ส่วนโอรสธิดาซึ่งประสูติในวังท่าพระ ก็ประทับในวังนั้นต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 5 จึงย้ายออกไปอยู่ที่บ้านท่าช้าง คือบ้านของคุณตาท่าน (พระยาราชมนตรี) สำหรับหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ โอรสองค์สุดท้อง ซึ่งภายหลังได้เลื่อนขึ้นเป็นพระองค์เจ้า ถูกส่งไปศึกษาต่อที่สิงคโปร์และประเทศอังกฤษ เป็นคนไทยคนแรกที่ได้เข้ามหาวิทยาลัย (King’s College, London) และถูกแต่งตั้งให้เป็นราชทูตสยามคนแรกประจำราชสำนักอังกฤษและอีก 11 ประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

บทบาทสำคัญของเจ้านายพระองค์นี้ได้แก่การแก้สนธิสัญญาเบาริ่ง (Bowring) ที่กลุ่มประเทศตะวันตกได้เปรียบสยาม การนำสยามเข้าเป็นสมาชิกการไปรษณีย์โทรเลขสากล และจัดการวางสายโทรเลขกรุงเทพฯ-ไซ่ง่อน และกรุงเทพฯ สิงคโปร์ อีกทั้งได้ชักชวนข้าราชการสถานทูตกราบบังคมทูลถวายร่างรัฐธรรมนูญสยามฉบับแรก ใน ค.ศ. 1884

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “วังท่าพระและเรื่องพิศดารบางเรื่องเกี่ยวกับเจ้านายในวัง” เขียนโดย สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กันยายน 2559